แม้เราจะอยู่ในไลฟ์สไตล์ของการ “เวิร์คฟอร์มโฮม” กันมาร่วม 2 ปี หลายบริษัทปรับนโยบายให้เป็นรูปแบบการทำงานอย่างถาวร บางบริษัทปรับเป็นแบบไฮบริด คือเข้าออฟฟิศบ้าง เวิร์คฟอร์มโฮมบ้าง หลายคนคุ้นชินและปรับตัว ชื่นชอบกับการทำงานวิถีนี้ ขณะที่หลายคนชื่นชอบที่จะเข้าออฟฟิศมากกว่า แต่ก็เชื่อว่ามีคนจำนวนมากกำลังเผชิญกับวิถีการทำงานออนไลน์ที่ยังคงต้องหาจุดกึ่งกลางให้ลงตัวมากขึ้นกว่าเดิมเพราะพื้นที่งานกับพื้นที่ชีวิตส่วนตัวที่ทับซ้อนกัน
–เอ็มจี เผยยอดขายไตรมาสแรก โตเพิ่ม 11% ยอดจอง 4,500 คัน ใน 1 เดือนหลังร่วมมาตรการรัฐ
–AIS เผยหลังเปิดสายด่วน 1185 ตรวจสอบพบมิจฉาชีพแล้วกว่า 1,000 ราย
ลองมาดู 5 เคล็ดลับช่วยจัดระเบียบไลฟ์สไตล์ให้การทำงานออนไลน์ลงตัวและ…ไม่เจ็บปวด
1.ประชุมนั้นจำเป็นหรือไม่
ตั้งแต่เวิร์คฟอร์มโฮมถูก(บังคับ)ใช้ ในช่วงสองปีก่อน สิ่งหนึ่งที่เพิ่มแบบพุ่งพรวดไม่แพ้จำนวนงานก็คือ “ประชุม” จนกลายเป็นว่าเวลางานมีไว้ประชุม แล้วเอาเวลาหลังเลิกงานมานั่งเคลียร์งานอีกที ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายๆ ประชุมที่เรายิงหากันนั้นเราทำเพื่อ “ยิงเผื่อ” ไว้ก่อน จะได้รู้เท่าๆ กัน ซึ่งจริงๆ แล้วเราในฐานะผู้ถูกเชิญให้ร่วมประชุม สามารถถามถึงวาระ รายละเอียด รวมถึงผลลัพธ์ที่ต้องการ เพื่อพิจารณาว่าเรา “จำเป็น” ต้องเข้าประชุมนั้นจริงๆ ไหม แล้วจะพบว่าไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของประชุมที่นัดหมาย เราไม่จำเป็นต้องเข้าก็ได้…เอาเวลาไปเคลียร์งานจริงๆ ดีกว่า
2.ติดต่องานเป็นช่วงเวลา
ในประเทศฝรั่งเศสและไอร์แลนด์มีกฎหมาย “สิทธิในการหยุดเชื่อมต่อ” เพื่อคุ้มครองมนุษย์งานจากการที่ต้องถูกเชื่อมต่อถึงตัวในเรื่องงานตลอดเวลา และกำลังถูกพิจารณาในอีกหลายประเทศ ดูเหมือนกฎหมายนี้จะมีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงการแพร่โรคระบาด จึงทำให้กลับมาตั้งคำถามกับตัวเอง ไม่ว่าจะในฐานะหัวหน้า หรือ ลูกน้อง การติดต่อเรื่องงานที่ควรพิจารณาเรื่องความเหมาะสมทางเวลากลายเป็นอีกหัวข้อสำคัญที่มนุษย์งานยุคนี้ต้องหันมาใส่ใจจริงจังสักที เปลี่ยนจากการส่งอีเมล์ดึกดื่นเพราะเป็นช่วงเวลาที่สมองพรั่งพรู เป็นการพิมพ์ draft ไว้แล้วกดส่งในเวลาเช้า หรือ ลิสต์เรื่องที่จะถามลูกน้องทิ้งไว้แล้วค่อยส่งข้อความถามพรุ่งนี้ก็ไม่เสียหาย
3.จัดเวลาการตามงานลูกน้อง…และอัปเดตงานหัวหน้า
สืบเนื่องจากข้อก่อนหน้า วิถีการทำงานออนไลน์ที่ลงตัวสามารถสร้างได้ จากความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งหัวหน้าและลูกน้อง การส่งข้อความตามงาน เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พาลเอาชีวิตออนไลน์ในยุคนี้เต็มไปด้วยความเครียดวิตก โดยเฉพาะที่เกิดจากการส่งข้อความตามงานตลอดทั้งวัน ซึ่งสามารถปรับจูนได้ด้วยการจัดเวลาอัปเดตงาน ตามงานระหว่างหัวหน้าและลูกน้อง เป็นช่วงเวลาประจำของทุกวัน เช่น 9.00 – 11.00 น. ไม่ว่าจะเป็นการประชุมหรือจะส่งข้อความ เพื่อจะได้ให้ช่วงเวลาที่เหลือของวันสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องมารู้สึกวิตกโดยไม่จำเป็น
4.จัดระเบียบแชทโฟลเดอร์บนแอป LINE
หลายคนใช้ LINE ในการสนทนาเรื่องงานระหว่างวันในหลายต่อหลายกรุ๊ปที่สร้างขึ้นมาคุยแยกโปรเจกต์ไหนจะกรุ๊ปเรื่องส่วนตัว ไหนจะบัญชีทางการที่เมื่อรวมๆ กันแล้วในแต่ละวันก็ชวนเอาตาลาย เผลอๆ ทำให้พลาดเรื่องสำคัญไป หรือคิดว่าตอบไปแล้วก็มี การจัดแชทโฟลเดอร์ จะช่วยจำแนกและจัดการกรุ๊ปแชทต่างๆ ไม่ให้ตกหล่น โดยสำหรับ LINE บน Desktop สามารถตั้งโฟลเดอร์ใหม่เพื่อจัดระเบียบกรุ๊ป LINE ตามหมวดหมู่เฉพาะตามต้องการได้ที่มุมขวาบนของหน้าแชทหลัก ขณะที่เวอร์ชั่นมือถือก็ปรับการตั้งค่า “เปิดแชทโฟลเดอร์” ได้ที่แท็บ LINE Labs บนหน้าการตั้งค่า เพื่อเปิดใช้งานแท็บจำแนกหมวดหมู่แชทอีกที
5.กำหนดเวลาออฟไลน์อย่างน้อย 1 ชั่วโมง
เชื่อว่าชีวิตออนไลน์จะดีแบบยั่งยืนได้ (และไม่เจ็บปวดจนเกินไป) จากการที่เราๆ มีชีวิตออฟไลน์ที่ดีเช่นกัน นานแค่ไหนแล้วที่เราต้องหยิบมือถือขึ้นมาเช็คอีเมลหรือข้อความระหว่างพักร้อน หรือช่วงทำกิจกรรมส่วนตัวหลังเลิกงาน การวางมือถือแล้วหันไปโฟกัสกับกิจกรรมที่กำลังทำอยู่เบื้องหน้า ไม่ว่าจะดูหนัง เล่นกีฬา อ่านหนังสือ เล่นกับสัตว์เลี้ยง หรือแม้แต่ช่วงเวลากินข้าวสั้นๆ เป็นช่วงเวลาที่เราสามารถทำ Social Detoxification ได้ไม่ยากเพื่อฟื้นฟูร่างกายและจิตใจในยุคที่ต้องเชื่อมต่อตลอดเวลา ขณะที่เราเองก็สามารถปิดการแจ้งเตือนชั่วคราวในหน้าการตั้งค่าบนแอป LINE ในช่วงเวลาที่เราต้องการพักจากการเชื่อมต่อจริงๆ ก็เป็นอีกช่องทางที่ช่วยได้
เหนือสิ่งอื่นใดความเห็นอกเห็นใจและเคารพผู้อื่นแม้จะเป็นชีวิตออนไลน์ก็ตามเป็นข้อพื้นฐานที่เราๆ เหล่าชาวพลเมืองดิจิทัลควรคำนึงถึงและหันมาให้ความสำคัญในยุคนี้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในฐานะใดๆ ไม่ว่าจะเป็น “หัวหน้า” หรือ “ลูกน้อง” ก็ต่างเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อน Digital Well-being วิถีชีวิตออนไลน์ที่ลงตัวได้เช่นกัน