เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2562
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.6
ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2562 ขยายตัวจากไตรมาสที่สี่ของปี 2561 ร้อยละ 1.0 (QoQ_SA)
ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวดีต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการขยายตัวเร่งขึ้นของการใช้จ่ายของรัฐบาล ในขณะที่การส่งออกสินค้าปรับตัวลดลงตาม
การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้า การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว
ในเกณฑ์สูงร้อยละ 4.6 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 5.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากฐานรายได้และการจ้างงานที่ขยายตัวต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ การดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยในไตรมาสนี้การใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทนขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ขยายตัวร้อยละ 12.3 ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าอื่น ๆ ขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยดัชนีปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือน ดัชนีปริมาณการนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ดัชนีปริมาณการค้าปลีกสินค้ากึ่งคงทน และดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 11.9 ร้อยละ 7.6 ร้อยละ 1.8 และร้อยละ 3.2 ตามลำดับ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 68.1 การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 3.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายรวมในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 22.3 (สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 22.0 และสูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 18.8 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน)
การลงทุนรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 4.4 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 5.5 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลงทุน
ในเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัวร้อยละ 5.1 และการลงทุนในสิ่งก่อสร้างที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 ส่วนการลงทุนภาครัฐลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.1 เท่ากับการลดลงร้อยละ 0.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนของรัฐวิสาหกิจลดลงร้อยละ 1.4 ในขณะที่การลงทุนของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 0.6 อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 15.5 เทียบกับอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 17.4 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
ในด้านภาคต่างประเทศ การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 60,221 ล้านดอลลาร์ สรอ. ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และการปรับตัวของผู้ประกอบการในต่างประเทศต่อมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 3.9 ในขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าลดลง เช่น ข้าว (ร้อยละ -10.1) มันสำปะหลัง (ร้อยละ -14.2) ยางพารา (ร้อยละ -8.9) น้ำตาล (ร้อยละ -16.5) รถยนต์นั่ง (ร้อยละ -8.4) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ร้อยละ -0.8) เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ -7.1) ปิโตรเคมี (ร้อยละ -6.2) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ -9.2) เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ -2.9) และกุ้ง ปู กั้งและล็อบสเตอร์
(ร้อยละ -14.2) เป็นต้น กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น รถกระบะและรถบรรทุก (ร้อยละ 6.8) คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 42.6) และผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 4.8) เป็นต้น การส่งออกไปยังจีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (15) อาเซียน (5) ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง (15) ปรับตัวลดลง ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศ CLMV ขยายตัว เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกลดลง
ร้อยละ 3.8 เมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าลดลงร้อยละ 3.3 ส่วนการนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 53,393 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 2.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.5 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของการส่งออก โดยปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 3.0 ในขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2
การขยายตัวของมูลค่าการส่งออกและเศรษฐกิจของประเทศสำคัญ
ประเทศ | การส่งออก (%YoY) | GDP (%YoY) | ||||||||||||
2560 | 2561 | 2561 | 2562 | 2560 | 2561 | 2561 | 2562 | |||||||
ทั้งปี | ทั้งปี | Q1 | Q2 | Q3 | Q4 | Q1 | ทั้งปี | ทั้งปี | Q1 | Q2 | Q3 | Q4 | Q1 | |
สหรัฐฯ | 6.6 | 7.7 | 8.0 | 11.3 | 8.2 | 3.4 | 1.4 | 2.2 | 2.9 | 2.6 | 2.9 | 3.0 | 3.0 | 3.2 |
ยูโรโซน | 9.4 | 8.4 | 17.8 | 13.0 | 3.7 | 0.7 | -4.1 | 2.4 | 1.9 | 2.4 | 2.2 | 1.6 | 1.2 | 1.2 |
ญี่ปุ่น | 8.3 | 5.7 | 10.1 | 9.4 | 2.4 | 1.4 | -5.7 | 1.9 | 0.8 | 1.3 | 1.5 | 0.1 | 0.2 | 0.8 |
จีน | 7.9 | 9.9 | 13.7 | 11.5 | 11.7 | 3.9 | 1.3 | 6.8 | 6.6 | 6.8 | 6.7 | 6.5 | 6.4 | 6.4 |
ฮ่องกง | 7.6 | 6.8 | 8.8 | 8.1 | 8.7 | 2.1 | -2.6 | 3.8 | 3.0 | 4.6 | 3.5 | 2.8 | 1.2 | 0.6 |
อินเดีย | 13.1 | 8.6 | 5.7 | 14.5 | 9.7 | 4.8 | 6.0 | 6.9 | 7.4 | 8.1 | 8.0 | 7.0 | 6.6 | – |
อินโดนีเซีย | 16.3 | 6.7 | 8.7 | 11.3 | 8.5 | -0.7 | -8.3 | 5.1 | 5.2 | 5.1 | 5.3 | 5.2 | 5.2 | 5.1 |
เกาหลีใต้ | 15.8 | 5.4 | 9.8 | 3.1 | 1.7 | 7.7 | -8.5 | 3.1 | 2.7 | 2.8 | 2.8 | 2.0 | 3.1 | 1.8 |
มาเลเซีย | 14.7 | 13.6 | 19.6 | 18.8 | 9.5 | 7.9 | -4.8 | 5.7 | 4.7 | 5.4 | 4.5 | 4.4 | 4.7 | 4.5 |
ฟิลิปปินส์ | 19.7 | 0.9 | 0.9 | 1.2 | 2.5 | -1.2 | -3.1 | 6.7 | 6.2 | 6.5 | 6.2 | 6.0 | 6.3 | 5.6 |
สิงคโปร์ | 10.4 | 10.3 | 9.7 | 14.1 | 12.1 | 5.5 | -2.7 | 3.9 | 3.2 | 4.7 | 4.2 | 2.4 | 1.9 | 1.3 |
ไต้หวัน | 13.2 | 5.9 | 10.6 | 11.2 | 3.0 | 0.1 | -4.2 | 3.1 | 2.6 | 3.2 | 3.3 | 2.4 | 1.8 | 1.7 |
ไทย | 9.8 | 7.2 | 11.1 | 13.4 | 2.8 | 2.3 | -3.6 | 4.0 | 4.1 | 5.0 | 4.7 | 3.2 | 3.6 | 2.8 |
เวียดนาม | 21.8 | 13.3 | 24.5 | 9.5 | 14.8 | 6.7 | 5.1 | 6.8 | 7.1 | 7.5 | 6.7 | 6.8 | 7.3 | 6.8 |
ที่มา: CEIC รวบรวมโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ด้านการผลิต การผลิตภาคเกษตร และสาขาไฟฟ้า ก๊าซฯ ขยายตัวเร่งขึ้น ส่วนการผลิตสาขาอุตสาหกรรม สาขาการขายส่ง การขายปลีกฯ สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการขนส่งฯ และสาขาการก่อสร้างชะลอตัว โดยภาคเกษตร ขยายตัวร้อยละ 0.9 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสินค้าสำคัญ เนื่องจากสภาพอากาศที่เหมาะสมส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และไม้ผลขยายพื้นที่เพาะปลูก ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงเล็กน้อย ผลผลิต
สินค้าเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก (ร้อยละ 6.6) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ร้อยละ 21.5) กลุ่มไม้ผล (ร้อยละ 3.5) ยางพารา (ร้อยละ 2.1) ปาล์มน้ำมัน (ร้อยละ 18.7) และมันสำปะหลัง (ร้อยละ 5.6) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไม และอ้อยลดลง ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 0.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของราคาอ้อย ราคาปาล์มน้ำมัน ราคายางพารา และราคากุ้งขาวแวนนาไม อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรหลายรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ราคาสุกร (ร้อยละ 38.7) ราคาข้าวเปลือก (ร้อยละ 4.1) ราคาไข่ไก่ (ร้อยละ 4.7) ราคาไก่เนื้อ (ร้อยละ 1.4) และราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ร้อยละ 2.5) เป็นต้น การลดลงของราคาสินค้าเกษตรสำคัญบางรายการ ส่งผลให้รายได้เกษตรกรโดยรวมลดลงร้อยละ 0.3 สาขา
การผลิตอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 0.6 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 3.5 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของมูลค่าการส่งออก โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ลดลงร้อยละ 4.4 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ลดลงร้อยละ 1.0 ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงร้อยละ 30 – 60 ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 1.3 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 71.3 เทียบกับร้อยละ 72.9
ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น ยานยนต์ (ร้อยละ 4.6) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 2.2) เครื่องจักรอื่น ๆ (ร้อยละ 5.4) การต้ม การกลั่น และการผสมสุรา (ร้อยละ 17.9) น้ำตาล (ร้อยละ 3.2) เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์และทันตกรรม (ร้อยละ 10.7) ผลิตภัณฑ์นม (ร้อยละ 5.1) สัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง (ร้อยละ 6.0) กระเป๋าเดินทาง และกระเป๋าถือ (ร้อยละ 18.5) และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (ร้อยละ 2.1) เป็นต้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่ลดลง เช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ร้อยละ
-15.2) เหล็กและเหล็กกล้า (ร้อยละ -11.3) ผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ -6.5) การแปรรูปและการถนอมผลไม้และผัก (ร้อยละ -10.6) และมอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้า (ร้อยละ -21.1) เป็นต้น สาขาที่พักแรมและบริการ
ด้านอาหาร ขยายตัวร้อยละ 4.9 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 5.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 10.80 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.3 ในไตรมาสก่อนหน้า เมื่อรวมกับการขยายตัวต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวชาวไทย ส่งผลให้ในไตรมาสนี้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 850.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ประกอบด้วย (1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 573.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 โดยรายรับจากนักท่องเที่ยวจากประเทศสำคัญที่ยังขยายตัวสูง ประกอบด้วย อินเดีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และเกาหลีใต้
เป็นสำคัญ ในขณะที่รายรับจากนักท่องเที่ยวจีนและยุโรปลดลง (2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 276.5 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.3 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 77.16 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 71.12 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 76.79 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า ขยายตัวร้อยละ 3.4 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 5.4 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการชะลอตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว และการลดลงของการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการชะลอตัวของการผลิตสาขาการผลิตอุตสาหกรรม
โดยบริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียง และบริการขนส่งทางอากาศขยายตัวร้อยละ 3.7 และร้อยละ 1.8 ตามลำดับ ในขณะที่บริการขนส่งทางน้ำลดลงร้อยละ 2.2 นอกจากนี้ บริการสถานที่เก็บสินค้าและบริการไปรษณีย์และ
การรับส่งเอกสารขยายตัวร้อยละ 9.0 และร้อยละ 7.5 ตามลำดับ สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของรายรับ
ของผู้ประกอบการ
เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.9
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.7 บัญชีเดินสะพัดเกินดุล 14.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (460.5 พันล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 10.9 ของ GDP เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ 212.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 มีมูลค่าทั้งสิ้น 6,908.7 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40.3 ของ GDP
แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2562
เศรษฐกิจไทยปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.3 – 3.8 (ค่ากลางการประมาณการร้อยละ 3.6) โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญ ประกอบด้วย (1) แนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งในด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่มีปัจจัยสนับสนุนจากฐานรายได้ที่ขยายตัวต่อเนื่อง อัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ราคาสินค้าเกษตรหลายรายการที่อยู่ในเกณฑ์ดี รวมทั้งการดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ด้านการลงทุนภาคเอกชนที่มีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่อยู่ในเกณฑ์ที่เอื้ออำนวยต่อการขยายการลงทุน การเพิ่มขึ้นของมูลค่าการอนุมัติโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
การย้ายฐานการผลิตภายใต้การเพิ่มขึ้นของแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้า และความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐ และด้านอุปสงค์ภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นทั้งการใช้จ่ายและการลงทุน
(2) แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของเงื่อนไขการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะการปรับตัวลดลงของสินค้าคงคลังในประเทศเศรษฐกิจหลัก การผ่อนคลายลงของปัญหาการขาดแคลนหน่วยประมวลผลคอมพิวเตอร์
ในตลาดโลก และการปรับตัวของทิศทางการค้าที่คาดว่าจะชัดเจนมากขึ้นตามแรงกดดันจากมาตรการกีดกัน
ทางการค้า (3) แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว และ (4) ฐานการขยายตัวที่อยู่ในระดับต่ำในครึ่งหลังของปี ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 2.2 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 4.2 และร้อยละ 4.5 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ
0.7 – 1.2 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 5.9 ของ GDP
รายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2562 ในด้านต่างๆ มีดังนี้
- การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคและบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2 เท่ากับการประมาณการครั้งก่อน และชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.6 ในปี 2561 ตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้นโดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทน แต่ยังเป็นการขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง
โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การขยายตัวต่อเนื่องของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะฐานรายได้ในภาคการจ้างงานสอดคล้องกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของจำนวนผู้มีงานทำติดต่อกันสี่ไตรมาส
โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรร้อยละ 3.2 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ
35 ไตรมาส และส่งผลให้อัตราการว่างงานทรงตัวอยู่ในระดับต่ำร้อยละ 0.9 เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นอัตราการว่างงานต่ำสุดในรอบ 13 ไตรมาส (2) อัตราเงินเฟ้อที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ (3) ราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่อยู่ในเกณฑ์ดีหลายรายการท่ามกลางการขยายตัวของผลผลิตอย่างต่อเนื่อง (4) การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องหลังข้อจำกัดจากมาตรการรถยนต์คันแรกสิ้นสุดลง และ (5) การดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.2 เท่ากับการประมาณการครั้งก่อน และเร่งขึ้นจากร้อยละ 1.8 ในปี 2561 - การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 ปรับลดจากประมาณการครั้งก่อน แต่เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.8 ในปี 2561 โดยคาดว่าการลงทุนภาครัฐ จะขยายตัวร้อยละ 4.5 ปรับลดจากร้อยละ 6.2
ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการปรับลดสมมติฐานอัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ให้สอดคล้องกับข้อมูลอัตราการเบิกจ่ายในครึ่งแรกของปีงบประมาณซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้ในสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา และการปรับลดสมมติฐานการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2563 ประกอบกับการปรับลดกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง อย่างไรก็ดี คาดว่าการลงทุนภาครัฐจะเร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.3 ในปี 2561 ตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ของภาครัฐ และการเพิ่มขึ้นของกรอบงบลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ส่วนการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.7 ในการประมาณการครั้งก่อน แต่เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในปี 2561 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความคืบหน้าในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ อัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่อยู่ในเกณฑ์สูง การปรับตัวเพิ่มขึ้นของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2560 – 2561 และแนวโน้มการเปลี่ยนทิศทางการค้า
การลงทุนที่คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้า - มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.2 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 7.2 ในปี 2561 และเป็นการปรับลดลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.1 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยเป็นผลจากการปรับลดปริมาณการส่งออกตามสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก
จากร้อยละ 3.8 และร้อยละ 3.8 เป็นร้อยละ 3.6 และร้อยละ 3.6 ตามลำดับ โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้า
จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เทียบกับร้อยละ 3.1 ในการประมาณการครั้งก่อน และเมื่อรวมกับการส่งออกบริการ
ที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามรายรับและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ คาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 ในปี 2561
ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2562
การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2562 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การขับเคลื่อนการส่งออกทั้งปีให้สามารถขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3.0 โดยให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์และลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะ (i) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์และให้ความช่วยเหลือ
ผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบด้านลบจากการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า (ii) การปฏิบัติตามข้อกำหนดและแนวทางการปฏิบัติในประเทศคู่ค้า ที่มีความเกี่ยวพันกับการให้สิทธิพิเศษทางการค้าและเงื่อนไขการกีดกัน
ทางการค้า (iii) การขยายความร่วมมือทางการค้า กับประเทศที่ไทยมีโอกาสได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทิศทางทางการค้า และประเทศที่จะมีบทบาทในการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศมากขึ้น และ
(iv) การสนับสนุนให้ผู้ส่งออกบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน (2) การขับเคลื่อนภาค
การท่องเที่ยวให้มีรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ต่ำกว่า 2.21 ล้านล้านบาท โดยให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ การรักษาความปลอดภัย การฟื้นฟูภาพลักษณ์ด้านปัญหามลภาวะ
ทางอากาศ (PM 2.5) การอำนวยความสะดวกและลดความแออัดของนักท่องเที่ยว การส่งเสริมการขายในตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกลและนักท่องเที่ยวรายได้สูง การกระจายรายได้ลงสู่เมืองรองและชุมชน การสร้างความเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับประเทศในภูมิภาค และรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวชาวไทยท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น
(3) การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ โดยให้ความสำคัญกับการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนประจำปีงบประมาณ 2562 ให้มีอัตราการเบิกจ่ายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70.0 และการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจในปี 2562 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80.0 รวมทั้งเร่งรัดกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563
(4) การสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดย (i) การขับเคลื่อนการส่งออกเพื่อเพิ่มอัตรา
การใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม (ii) การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มการใช้กำลังการผลิตในประเทศไทย รวมทั้งชักจูงนักลงทุนที่ได้รับผลกระทบให้ย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น (iii) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง (iv) การเร่งรัดโครงการลงทุนที่ขอรับและได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนให้มีการลงทุนจริงโดยเร็ว และ (v) การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงาน (5) การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยและการสร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเศรษฐกิจฐานราก และ (6) การรักษาความสงบเรียบร้อยและบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ