ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ยังสะท้อนภาวะชะลอตัว โดยการส่งออกหดตัวต่อเนื่องตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าและผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่า ส่งผลให้การนำเข้า การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนภาคเอกชนหดตัวเช่นกัน ด้านเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลงแม้มีมาตรการภาครัฐช่วยพยุงไว้บางส่วน ขณะที่มีเพียงการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องจากแรงหนุนมาตรการ Visa on Arrivals ทั้งนี้ เมื่อประกอบภาพทั้งปี ที่ประชุม กกร. คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2562 อาจขยายตัวเพียง 2.5%
• ในปี 2563 เศรษฐกิจไทยยังอยู่ท่ามกลางหลายปัจจัยกดดันที่ต่อเนื่องมาจากในปี 2562 ไม่ว่าจะเป็น ผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและความผันผวนของค่าเงิน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมใหม่ ได้แก่ ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางจากกรณีสหรัฐฯและอิหร่าน ที่หากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจผลักดันให้ราคาน้ำมันยืนอยู่ที่ระดับสูงต่อเนื่อง และภาวะแล้งที่รุนแรงในประเทศ ที่นอกจากจะกระทบผลผลิตและกำลังซื้อเกษตรกรแล้ว อาจมีผลให้ราคาอาหารสดปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ทิศทางราคาน้ำมันและราคาอาหารสดที่มีแนวโน้มเร่งขึ้นดังกล่าว จะทำให้การดำเนินนโยบายการเงินของทางการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเผชิญข้อจำกัดมากขึ้น
• จากปัจจัยลบต่างๆ ที่ประชุม กกร. จึงต้องการให้ภาครัฐเร่งรัดการบังคับใช้และการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ขณะเดียวกันก็ควรเตรียมแผนรับมือฉุกเฉินจากปัญหาภัยแล้งและเหตุการณ์ในตะวันออกกลาง นอกจากนี้ การดูแลความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไม่ให้กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะไม่เพียงจะมีผลต่อการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่ยังเชื่อมโยงถึงภาคการผลิตและการจ้างงานอีกด้วย ส่วนโอกาสของประเทศไทยต้องสร้างบรรยากาศให้ดีเน้นเรื่องความมั่นคงและปลอดภัย โดยเรายังศักยภาพด้านการท่องเที่ยว รวมถึงเป็นศูนย์กลางอาหารในภูมิภาค
• สำหรับกรอบประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 นั้น กกร. ประเมินว่า การส่งออกอาจยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้จำกัดหรือมีความเป็นไปได้ที่จะหดตัว 2.0% ถึง 0.0% ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปี 2563 อาจขยายตัวราว 2.5-3.0% ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะอยู่ในช่วง 0.8-1.5% ซึ่งรองรับสมมติฐานราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่อาจยืนสูงที่ระดับ 70 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล เป็นเวลา 6 เดือน
จากสภาพทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทาง กกร.เห็นว่า ภาครัฐควรมีนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม โดย กกร. เสนอให้ภาครัฐดำเนินการดังนี้
1. ลดค่าใช้จ่าย
- a. ลดค่าไฟ ให้เฉพาะธุรกิจ SMEs และบ้านพัก ลงมาร้อยละ 5 เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจทั้งหมด
- b. เร่งรัดการคืนภาษี VAT ให้รวดเร็วภายในเวลา 30 วัน
- c. การลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรใหม่เพื่อการผลิตซึ่งประเทศไทยผลิตเองไม่ได้ ลงเหลือ 0% เป็นระยะเวลา 1 ปี
- d. ลดการจ่ายเงินประกันสังคมของผู้ประกันสังคม ทั้งลูกจ้าง และนายจ้าง ลงร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 6 เดือน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและผู้ประกอบการ
2. เสนอให้มีการขุดบ่อกักเก็บน้ำในรูปแบบของแก้มลิงในแต่ละหมู่บ้าน (ประมาณ 70,000 หมู่บ้าน) เพื่อช่วยแก้วิกฤติภัยแล้งในระยะยาว โดยใช้แรงงานในท้องถิ่น ทั้งนี้ หากภาครัฐสามารถจัดสรรพื้นที่ราชพัสดุที่เหมาะสมในการขุดบ่อได้ ก็จะช่วยลดเวลาในการเวนคืนได้มาก
3. แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค นอกเหนือจากการพัฒนาเขต EEC เช่น ภาคเหนือ (NEC) จะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการผลิตอาหาร และ Creative Economy ภาคอีสาน(NEEC) ศูนย์กลางการท่องเที่ยว อาหาร และ Logistics hub ภาคใต้ (SEC) พัฒนา ให้เป็นเมืองอัจฉริยะและท่องเที่ยว รวมถึงอุตสาหกรรมฮาลาล เป็นต้น
4. ให้ กกร. เข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เพื่อปรับปรุงระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้คล่องตัวมากขึ้น และสนับสนุนสินค้าไทยมากขึ้น