นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายแก่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ว่า สถานการณ์การลงทุนในปี 2562 มีนักลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน จำนวน 1,624 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 756,100 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายทั้งตั้งไว้ 750,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ราว 500,000 ล้านบาท โดยจีน แซงหน้าญี่ปุ่น ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 เป็นปีแรก ด้วยมูลค่าการลงทุนราว 260,000 ล้านบาท เนื่องจากมีการลงทุนรถไฟความเร็วสูงราว 160,000 ล้านบาท ขณะที่ญี่ปุ่นก็มียอดการลงทุนเพิ่มและตามด้วยฮ่องกง
สำหรับการขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC มีทั้งสิ้น 506 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 444,880 ล้าบาท คิดเป็น 59% ของมูลค่าขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด โดยจังหวัดระยอง มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด ตามด้วย ชลบุรี และ ฉะเชิงเทรา เป็นการขอรับส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 838 โครงการ มูลค่ารวม 286,520 ล้านบาท หรือ 38% ของมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุดคือ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิคส์ 80,490 ล้านบาท ตามด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 74,000 ล้านบาท และ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีภัณฑ์ 40,100 ล้านบาท
นายสมคิด กล่าวว่า ยอดการขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 62 ถือว่าบีโอไอ ทำได้ดีภายใต้สถานการณ์ที่มีปัจจัยมากระทบหลายด้าน ขณะที่เม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ แต่ทั้งนี้ในอนาคต ยังมีอุตสาหกรรมที่เป็นโอกาส หลังจากโครงสร้างอุตสาหกรรมเริ่มเปลี่ยน โดยได้มอบหมายให้ บีโอไอ วางมาตรการส่งเสริมการลงทุนอย่างเข้มข้นใน 4 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่เป็นจุดขายเด่นของไทย เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่ส่งเสริมอุตสาหกรรม S-Curve เป็นหลัก ประกอบด้วย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ รวมไปถึงอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง , อุตสาหกรรมครีเอทีฟ อิโคโนมี เช่น ภาพยนตร์ แอนิเมชั่น , อุตสาหกรรม BCG หรืออุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม และกลุ่มการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนและเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ
โดยให้ บีโอไอ เข้ามาดูแล และตั้งนโยบายจูงใจที่สูงมากขึ้น ใกล้เคียงการสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่ให้อยู่ เพื่อสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ให้เติบโตได้ รองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในอนาคต พร้อมย้ำว่า มาตรการส่งเสริมการลงทุนใน 4 กลุ่มนี้ ต้องเกิดขึ้นภายในปีนี้ หวังดันกลุ่มเป้าเอสเอ็มอี ให้ก้าวสู่การเป็นโกบอลเอสเอ็มอี ไม่ใช่แค่ซับพลายเชนอีกต่อไป ทั้งนี้ในการประชุมบอร์ด บีโอไอ ครั้งแรกของปีนี้จะมีการนำประเด็นการเสนอมาตรการให้กระทรวงการคลัง ออกมาตรการกระตุ้นการลงทุนและรับมือผลกระทบค่าเงินบาท เข้าพิจารณาในที่ประชุม
สำหรับปี 2563 คาดว่าการลงทุนยังมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากบีโอไอ ได้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนหลายด้าน เพื่อเร่งรัดการลงทุน โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ผ่านมาตรการ Thailand Plus ที่เพิ่มสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี สำหรับโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในปี 63 และมีการลงทุนจริงไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ภายในปี 64 พร้อมขยายเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุน SMEs ที่ใช้อยู่เดิม ไปจนถึงกุมภาพันธ์ 63 ก่อนมาตรการปรับปรุงใหม่จะชัดเจนในการประชุมบอร์ดครั้งต่อไป