นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้เชิญ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และ สมาคม ผู้เลี้ยงสุกรในแต่ละภูมิภาค พร้อม ห้างค้าปลีกค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า รายใหญ่ มาหารือสถานการณ์ราคาสุกรที่ขยับสูงขึ้น เมื่อวันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม 2563 และ วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม 2563 ซึ่งได้ข้อสรุป ดังนี้

สถานการณ์ราคาสุกรที่ปรับสูงขึ้นในขณะนี้ มีปัจจัยสาเหตุจากปริมาณสุกรที่ผลิตได้ในปี 2563 มีจำนวนลดลงจากปีก่อน รวมถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นในส่วนของการปรับปรุงระบบฟาร์มเพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (AFS) ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไทยมีความพร้อม และ มีศักยภาพในการรับมือปัญหาดังกล่าว ทำให้ขณะนี้ ไทยยังสามารถยืนหยัดต้านโรค AFS ได้ ในขณะที่ เพื่อนบ้านบางประเทศที่ประสบปัญหาดังกล่าวมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ปัจจุบัน สถานการณ์ปัญหายังไม่คลี่คลายลงโดยสิ้นเชิงและปริมาณสุกรในประเทศที่ประสบปัญหาก็ไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภค
เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนคนไทย กรมการค้าภายใน ได้กำหนดมาตรการบริหารจัดการอุปทาน และ ราคาสุกรในประเทศ ซึ่งจะใช้มาตรการเป็นลำดับ ตามความรุนแรงของปัญหา ดังนี้
- ขอให้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ แจ้งสมาชิกทั่วประเทศ ช่วยดูแล ด้านปริมาณให้มีเพียงพอ และ ตรึงราคาขาย สุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม ที่จำหน่ายในประเทศ ไม่เกิน กิโลกรัมละ 80 บาท
- ขอให้ห้างค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ กำหนดราคาขายปลีกเนื้อหมู ชิ้นส่วนสะโพก และไหล่ ที่กิโลกรัมละ 150 บาท และสันนอก กิโลกรัมละ 160 บาท ซึ่งห้างส่วนใหญ่ยินดีที่จะจัดหาเนื้อหมู จำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค ตามราคาที่กำหนด
- กระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ จัดจำหน่ายเนื้อสุกร ในราคา ไม่เกินกิโลกรัมละ 130 บาท เพื่อบรรเทาค่าครองชีพผู้บริโภคในพื้นที่ โดยเริ่มภายในสัปดาห์นี้
- หากสถานการณ์ไม่คลี่คลายลง โดยมีการปรับราคาสุกรมีชีวิต และราคาขายปลีกเนื้อหมูสูงขึ้น กรมฯ จะนำเสนอคณะกรรมการ กกร. พิจารณาควบคุมราคา โดยกำหนดเพดานราคาขายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มและราคาขายเนื้อหมู ไม่เกินกิโลกรัมละ 80 บาท และ 150 บาท ตามลำดับ
- กรณีพบว่า มีการส่งออกสุกรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและทำให้ปริมาณสุกรในประเทศ ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด และราคาสุกรในประเทศปรับสูงขึ้นจนกระทบต่อผู้บริโภค จะเสนอให้จำกัดการส่งออกหรือห้ามการส่งออก ในลำดับต่อไป
กรมการค้าภายใน จึงขอให้ประชาชนผู้บริโภค คลายข้อกังวลเรื่องราคาเนื้อหมู ซึ่งทุกภาคส่วนได้รับที่จะให้ความร่วมมือในการดูแลด้านค่าครองชีพให้แก่ประชาชนแล้ว