วิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส 19 ส่งผลกระทบในวงกว้างไปทั่วโลก ทั้งวิถีการดำเนินชีวิต สังคม และระบบเศรษฐกิจ ทำให้ประชาคมโลกตระหนักถึงการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือเหตุการณ์วิกฤตที่อาจจะมาในหลากหลายรูปแบบมากขึ้นในอนาคต บทเรียนหนึ่งที่โลกได้รับในครั้งนี้คือ ความจำเป็นของประเทศที่จะต้องมีการสนับสนุนแนวทางคาดการณ์อนาคต (Foresight) ควบคู่กับการพัฒนา “นวัตกรรมเพื่อรับมือกับภาวะวิกฤต” หรือ “Innovation in time of Crisis” ซึ่งแนวคิดดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยตั้งรับ ป้องกัน และฟื้นฟู เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตให้เบาบางลง วันนี้จะพาไปพูดคุยทำความรู้จักแนวคิดนี้กันมากขึ้นกับ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมของประเทศไทย

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตของคนในสังคมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านสาธารณสุขและสุขภาวะ รวมถึงการดำเนินชีวิตในยุคของการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทำให้มีความจำเป็นต้องมองหาโซลูชั่นเพื่อมาตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เกิดเป็นนวัตกรรมหลากหลายรูปแบบ ทั้งในระดับบุคคล องค์กรธุรกิจ ประเทศ รวมถึงระดับโลก ตัวอย่างเช่น ประเทศจีนสามารถสร้างโรงพยาบาลสนามในเวลาไม่กี่สัปดาห์เพื่อรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น ในประเทศไทยก็มีเครื่องจ่ายแอลกอฮอล์แบบเท้าเหยียบที่สามารถพบเห็นได้ในสถานที่ทั่วไป ระบบและบริการออนไลน์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในยุค Work from Home สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น “นวัตกรรม” ที่มาตอบสนองต่อ “ความเปลี่ยนแปลงในภาวะวิกฤต” และจะมีบทบาทในอนาคตจนกลายเป็นคำว่า “ความปกติรูปแบบใหม่ หรือ New Normal” ที่ทุกวงการกำลังปรับตัวกันในขณะนี้

นวัตกรรมการรับมือภาวะวิกฤต แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ นวัตกรรมช่วงต้นการเกิดภาวะวิกฤต นวัตกรรมรับมือท่ามกลางภาวะวิกฤต และนวัตกรรมรับมือหลังภาวะวิกฤต โดยมีตัวแปรสำคัญ 3 ด้าน คือ เวลา (Time) ที่ต้องถูกออกแบบและนำมาใช้อย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองและแก้ไขสามารถอย่างทันท่วงที เช่น ชุดคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบรวดเร็ว นวัตกรรมสุขภาพทางไกล หรือ Telehealth ที่ช่วยให้ผู้ป่วยทั่วไปสามารถเข้าถึงการวินิจฉัยโรคจากแพทย์ได้รวดเร็วโดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล การรายงานผลและสถานการณ์บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการตอบสนองในเชิงนโยบายเพื่อกำหนดให้ผู้คนไปในทิศทางเดียวกัน ฯลฯ ตัวแปรที่ 2 คือรูปแบบของนวัตกรรม ที่จะต้องสอดรับกับสถานการณ์เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อเกิดการขาดแคลนหน้ากากอนามัย ทำให้มีการแก้ไขปัญหาด้วยการพัฒนาหน้ากากอนามัยแบบใช้ซ้ำ หรือหน้ากากผ้าสะท้อนน้ำขึ้นเพื่อทดแทน ส่วนตัวแปรสุดท้ายคือคำว่าวิกฤต ที่ผู้พัฒนานวัตกรรมต้องเข้าใจถึงสภาพปัญหาที่แท้จริงในสถานการณ์นั้น รู้ปัญหาระหว่างทางและสามารถคาดการณ์ปลายทางได้ว่าจะลดความรุนแรงและแก้ไขสิ่งเหล่านั้นได้ด้วยวิธีใด

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า ไม่เพียงแต่ปัญหาวิกฤตด้านสาธารณสุขที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเท่านั้น ปัญหาวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม เช่น โลกร้อน ขยะพลาสติก ฝุ่น PM2.5 ปัญหาวิกฤตด้านภัยธรรมชาติ เช่น ไฟป่า น้ำท่วม น้ำแล้ง แผ่นดินไหว รวมถึงปัญหาวิกฤตด้านเศรษฐกิจที่ส่อแววชะงักงันกันทั่วโลก จำเป็นต้องอาศัยการปรับตัวเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของ Innovation in Times of Crisis มากยิ่งขึ้น สำหรับประเทศไทย ในช่วงนี้ก็มีความจำเป็นที่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลพวงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในหลากหลายมิติ ทั้งเรื่อง วิถีชีวิตใหม่ (Lifestyle) ที่ต้องอยู่ในภาวะเว้นระยะห่างทางสังคม การเติบโตของธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) ที่เปลี่ยนสังคมไปสู่ยุคดิจิทัลเร็วขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคในการใช้บริการเปลี่ยนไป สังคมไทย (Society) ที่อาจจจะเกิดปัญหาทางสังคมเพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย เช่น ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาครอบครัว การรับมือภัยพิบัติที่จะเข้ามาซ้ำเติม อาทิ ภัยแล้ง น้ำท่วม และปัญหาแรงงาน ทั้งการเลิกจ้าง การขาดแรงงานต่างด้าว และการย้ายกลับถิ่นฐาน การรักษาระดับฐานการจ้างงานในภาคธุรกิจ เป็นต้น รวมถึงเศรษฐกิจไทย (Economy) ที่ต้องอาศัยนวัตกรรมเพื่อยกระดับและเข้าถึงธุรกิจรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ตอบโจทย์ Offline-2-Online ซึ่งมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการและแนวทางช่วยเหลือเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการปิดประเทศ
NIA ในฐานะหน่วยงานส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมได้เริ่มดำเนินการฟื้นฟูและบรรเทาวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 มาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นด้วยการดึงสตาร์ทอัพไทยด้านการแพทย์ สาธารณสุข และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในสังคมมาช่วยกันบรรเทาปัญหาต่างๆ รวมถึงการส่งเสริมนวัตกรรมลดปัญหาขยะพลาสติก การบรรเทาภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำ ผ่านแนวคิดและโมเดลทางอาชีพใหม่ๆ ซึ่งในวันที่ 1-4 กันยายน 2563 เราจะได้เห็นนวัตกรรมในภาวะวิกฤต ‘Innovation in Times of Crisis’ อย่างเป็นรูปธรรมในงาน STARTUP THAILAND x INNOVATION THAILAND EXPO 2020 กับมิติใหม่ของการจัดงานในรูปแบบโลกนวัตกรรมเสมือนจริง (Virtual World) ครั้งแรกของประเทศไทย โดยภายในงานประกอบไปด้วย 1) การเสวนากว่า 40 หัวข้อ จากวิทยากรทั้งในประเทศและต่างประเทศกว่า 80 ท่าน 2) โอกาสในการหาคู่ค้าทางธุรกิจและการประกอบอาชีพผ่านกิจกรรมต่าง ๆ 3) การแสดงสดผ่านทางออนไลน์ (MARTech: Music, Art, Recreation Show) และ 4) การมอบรางวัล Prime Minister Award รายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://STxITE2020.nia.or.th ดร.พันธุ์อาจ กล่าวทิ้งท้าย