สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เปิดข้อมูลหนี้ครัวเรือนล่าสุด พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยเป็นหนี้ในวงกว้างขึ้นและมีค่ากลางมูลหนี้เพิ่มจาก 7 หมื่นบาท เป็น 1.28 แสนบาทต่อราย ขณะที่สัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียลดลงจาก ร้อยละ 22 เหลือ 16 แต่ก็ถือว่ายังสูง โดยหนี้เสียดังกล่าวมีค่ากลางมูลหนี้ที่ 65,000 บาทต่อราย จากเดิมอยู่ที่ 35,000 บาท และพบคนไทยเป็นหนี้เร็ว โดยร้อยละ 60 ของกลุ่มคนอายุ 29-30 ปี จะเป็นหนี้ และจะมีหนี้เสียถึง 1 ใน 4 รวมถึงคนไทยจะเป็นหนี้นาน แม้หลังเกษียณแล้ว ก็ยังมีหนี้ประมาณ 7-8 หมื่นบาทต่อราย โดยมีปัจจัยกระตุ้นจากนโยบายภาครัฐ เช่น โครงการรถคันแรก ที่ทำให้คนไม่พร้อมจะเป็นหนี้ เข้าสู่การเป็นหนี้เสีย ส่วนคนในชนบท พบว่า มาตรการให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่น การพักชำระหนี้เกษตรกรโดยไม่ลดดอกเบี้ย ทำให้เกษตรกรมีหนี้สะสมมากขึ้นและกลายเป็นหนี้เสีย
ทั้งนี้มองว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย มีความเปราะบางเพิ่มมากขึ้นเมื่อเกิดโควิด-19 ที่ทำให้เกิดปัญหาในการชำระหนี้ โดยพบว่า ในเดือน เม.ย.-มิ.ย.63 มีผู้กู้ที่เข้ามาตรการช่วยเหลือของ ธปท. 8.1 ล้านบัญชี มูลหนี้ 2.2 ล้านล้านบาท ขณะที่ผู้กู้เข้ามาตรการแบบเลื่อนชำระหนี้ถึงร้อยละ 71 สะท้อนปัญหาการชำระหนี้ , ร้อยละ 26 ใช้วิธีลดอัตราการชำระหนี้ และร้อยละ 3 เข้ามาตรการสำหรับสินเชื่อที่เป็น NPL คือ ปรับโครงสร้างหนี้ หรือโครงการคลินิกแก้หนี้ โดยผู้กู้ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ภาคอีสาน กู้สินเชื่อส่วนบุคคลเป็นหลัก รองลงมาคือสินเชื่อบ้าน ที่มีมูลหนี้สูง ส่วนใหญ่เป็นการเลื่อนการชำระหนี้ ขณะที่ คนกรุงเทพและปริมณฑ ภาคใต้ และภาคเหนือตอนบน มีสัดส่วนเข้ามาตรการสำหรับหนี้เสียสูงกว่าพื้นที่อื่น
ส่วนกลุ่มนอน-แบงก์ มีความเปราะบางกว่าสถาบันการเงินกลุ่มอื่น เนื่องจากมีสัดส่วนสินเชื่อเข้าโครงการมากสุด ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเช่าซื้อ และขอลดอัตรการชำระเป็นหลัก ที่สำคัญมีความเสี่ยงสูงที่ผู้กู้จะไม่สามารถชำระหนี้ได้ หากสถานการณ์โควิด-19 ยืดเยื้อ โดยพบว่าผู้เข้ามาตรการส่วนใหญ่มีมูลหนี้สูงราว 5 แสนบาทต่อราย ซึ่งสูงกว่าผู้ที่ไม่เข้ามาตรการ และมีการกู้ 4-5 บัญชี ขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้กู้ที่ออกจากมาตรการช่วยเหลือฯ กว่า 2.1 ล้านราย หรือร้อยละ 36.7 ของผู้กู้ที่เข้ามาตรการ และมีบัญชีที่ขอออกจากมาตรการ 3.4 ล้านบัญชี หรือร้อยละ 44 ของบัญชีที่เข้ามาตรการ ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเช่าซื้อและเป็นผู้กู้ในกรุงเทพและปริมณฑล โดยเป็นลูกหนี้ นอน-แบงก์ เป็นหลัก
พร้อมทั้งมองว่าภาคการท่องเที่ยวจะมีบทบาทในการฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นหลัก ที่ช่วยให้ปัญหาความสามารถในการชำระหนี้เพิ่มขึ้น แต่ก็จะมาพร้อมความเสี่ยงโควิด-19 ระลอก 2 ที่จะส่งผลกระทบหนักอีกครั้ง ดังนั้นภาครัฐ จำเป็นต้องเข้ามาดูแลปัญหาหนี้ในเชิงรุก ควบคู่มาตรการรองรับไม่ให้หนี้ดี กลายเป็นหนี้เสีย