การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการพิจารณาปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ให้เป็นรูปแบบการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคควบคู่กับด้านราคา ดังนี้
1) การปรับปรุงเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชน หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประกาศเชิญชวนและเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) เป็นแนวทางปฏิบัติโดยทั่วไปที่หน่วยงานของรัฐอื่นได้เคยดำเนินการในการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ทั้งนี้ การปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอในครั้งนี้เป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้ว โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่รัฐจะได้รับจากการได้ผู้ร่วมลงทุนที่มีศักยภาพในการดำเนินงานด้านเทคนิคในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า ส่งผลให้ประชาชนได้รับการให้บริการระบบขนส่งมวลชนที่มีมาตรฐานและความปลอดภัยสูงที่สุด และบรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดทำบริการสาธารณะของ รฟม.
2) การดำเนินการต่างๆ ของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกในทุกขั้นตอน ได้มีการพิจารณาและคำนึงถึง มติคณะรัฐมนตรี ประกอบการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 กฎหมายลำดับรอง และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว
3) รฟม. ได้ดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริง เรื่อง การปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ต่อสื่อมวลชนแล้วเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563 ทั้งนี้ รฟม. จะได้พิจารณาดำเนินการชี้แจงเรื่องดังกล่าวเพื่อสร้างการรับรู้ต่อประชาชนต่อไป โดยจะคำนึงถึงผลกระทบต่อการดำเนินการ ทางศาลในคดีดังกล่าวควบคู่กันด้วย เพื่อรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สูงสุดของการดำเนินกิจการของรัฐ
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)