กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม ขานรับนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ภายใต้ แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model เพื่อเป็นแนวทางในการสนับสนุน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น โดยนำร่องผ่านโครงการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Creative Value Design in Circular Economy Fashion & Lifestyles พร้อมเฟ้นหาผู้ประกอบการจำนวน 50 ราย ที่มีศักยภาพในด้านนวัตกรรมอัพไซคลิ่ง จากสิ่งเหลือใช้จากการผลิตสินค้าทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและการท่องเที่ยว รวมไปถึงวัสดุเหลือใช้จากการอุปโภคบริโภคในท้องถิ่นให้กลายเป็นสินค้าหรือบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม และยกระดับแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในท้องตลาด ซึ่งผู้ที่สนใจโครงการดังกล่าวสามารถสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 ธันวาคม 2564 ผ่านช่องทาง www.diprom.go.th
–เปิดตัวคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2565 อัดแน่นด้วยร้านอาหารผ่านการคัดสรรรวม 361 แห่ง
–เดลต้า ลงนามข้อตกลง Premier Partner กับบิ๊กอิเล็กทริค เพื่อพัฒนา UPS และธุรกิจโซลูชันดาต้าเซ็นเตอร์ ในประเทศไทย
เจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากนโยบายทั้งกล่าวของกระทรวงอุตสาหกรรม ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม เร่งพัฒนาผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมตามแนวทางนโยบายดังกล่าวให้มีโอกาสเติบโตในช่วงที่วิถีชีวิตของคนทั่วโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง พร้อมผลักดันโอกาสในด้านการเข้าถึงองค์ความรู้ ช่องทางการตลาด รวมทั้งนำนวัตกรรมมาต่อยอดของเหลือใช้ หรือ ธุรกิจที่ลดใช้ทรัพยากร – พลังงาน มีมูลค่าบนช่องทางการค้าที่มากขึ้น โดยดีพร้อมได้ทำการศึกษาตลาดอุตสาหกรรม BCG MODEL ซึ่งพบว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตสูง ซึ่งในปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา มีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวเพิ่มขึ้นมีมูลค่ารวม 114,876 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2562 ซึ่งมีมูลค่า 98,006 ล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 17.21 (ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน : BOI) นอกจากนี้ BCG MODEL ยังเป็นส่วนสนับสนุนให้ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เช่น เกษตรและอาหารแปรรูป การท่องเที่ยวและบริการ หรืออุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
เจตนิพิฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อขานรับกับมาตรการเร่งด่วนดังกล่าว ดีพร้อมจึงได้ดำเนินโครงการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Creative Value Design in Circular Economy Fashion & Lifestyles ขึ้น เพื่อส่งเสริมการนำความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการออกแบบมาใช้ในการผลิตสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ และผลักดันการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้าน “อัพไซคลิ่ง (Upcycling)” ซึ่งเป็นแนวทางการแปรรูป – ผสมผสานการใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) สิ่งเหลือใช้จากการผลิตสินค้าทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและการท่องเที่ยว รวมไปถึงวัสดุเหลือใช้จากการอุปโภคและบริโภคในท้องถิ่น และวัสดุรีไซเคิลอื่น ๆ ให้กลายเป็นสินค้าหรือบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งเพื่อเจาะตลาดธุรกิจและบริการรักษ์โลกที่ขณะนี้ผู้บริโภคตั้งแต่กลุ่ม Baby boomer จนถึงกลุ่ม Gen Z ที่กำลังให้ความสำคัญและมีอัตราการใช้จ่ายสินค้าที่มีความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมในปริมาณที่สูง
“โครงการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Creative Value Design in Circular Economy Fashion & Lifestyles เป็นโครงการที่ ดีพร้อม และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC มีความตั้งใจที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิด BCG MODEL ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เนื่องจากตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และบางประเด็นทางเศรษฐกิจ – สังคม ที่กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต เช่น ปัญหาของขยะพลาสติก ปัญหาภาวะโลกร้อน ปัญหาของเหลือใช้ที่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยโครงการนี้จะคัดเลือกกลุ่ม SMEs นิติบุคคล หรือบุคลากร เช่น ทายาทธุรกิจ พนักงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ อุตสาหกรรมเกษตร – อาหารแปรรูป และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ มาร่วมบ่มเพาะกลยุทธ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการจากของเหลือใช้ปรับให้เป็นแบรนด์ที่รู้จักในท้องตลาด สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ เช่น การอยู่อาศัย การบริโภค การทำงาน การนันทนาการ ฯลฯ รวมถึงปั้นผู้นำเทรนด์ (TrendSetter) ในด้านการออกแบบที่คำนึงถึงอรรถประโยชน์และสิ่งแวดล้อมในสาขาอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ไม่น้อยกว่า 50 ราย ซึ่งผู้ที่สนใจเข้าร่วมในโครงการดังกล่าว สามารถสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 ธันวาคม 2564 ผ่านช่องทาง www.diprom.go.th หรือ facebook.com/dipromindustry”
อย่างไรก็ดี ดีพร้อมได้ดำเนินงานภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2564 ได้ดำเนินโครงการ Upcycling for sustainable Lifestyle ซึ่งได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ของผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 52 กิจการ ที่ได้รับการพัฒนาภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จากการนำทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด วัสดุเหลือใช้ทางอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม วัสดุรีไซเคิล และวัสดุในท้องถิ่น นำมาออกแบบ พัฒนา และผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เชิงสร้างสรรค์ โดยสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดของเสียในกิจการละ 5,000 – 300,000 บาทต่อปี และสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ใหม่สูงถึง 30 ล้านบาทต่อปี ซึ่งดีพร้อมได้มอบโล่รางวัลและเกียรติบัตรให้แก่ตัวแทนผู้เข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่สนใจต่อไป เจตนิพิฐ กล่าวทิ้งท้าย