ETDA พาส่อง 5 ประเทศใช้ Digital ID เชื่อมชีวิตสู่โลกยุคดิจิทัล

ETDA พาส่อง 5 ประเทศใช้ Digital ID เชื่อมชีวิตสู่โลกยุคดิจิทัล

หากเอ่ยถึง Digital ID (ดิจิทัล ไอดี) คำนี้สำหรับใครหลายๆ คน อาจจะให้ความรู้สึกทั้งคุ้นเคยและไม่คุ้นชิน ซึ่ง Digital ID คือ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ว่าฉันเป็นใครหรือบุคคลนั้นๆ คือใคร โดยหลายประเทศเริ่มใช้กันอย่างกว้างขวางแล้ว ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบทั้งการใช้บัตรประจำตัวประชาชนรูปแบบสมาร์ทการ์ด (Smart Card) ยืนยันตัวตนโดยไม่ต้องมีการถ่ายเอกสารสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเป็นปึกๆ เพื่อติดต่อทำธุรกรรมทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน หรือการใช้ข้อมูลด้านชีวมิติ (Biometric) ประกอบด้วย การสแกนลายนิ้วมือ (Fingerprint Recognition) สแกนใบหน้า (Face Recognition) สแกนม่านตา (Iris Recognition) หรือสแกนลายเส้นเลือด (Vascular Recognition) เพื่อใช้ระบุและยืนยันตัวตน รวมถึงการสร้างแอปพลิเคชันที่รวบรวมข้อมูลส่วนตัวเพื่อยืนยันตัวตนและเข้าถึงบริการต่างๆ จากภาครัฐและเอกชน

Meta เผยรายงาน “ที่สุดของปี 2564” ผ่านโพสต์บน Facebook และ Instagram
MBK ล้มภาพลักษณ์เดิม ปรับโฉมใหม่รองรับคนไทยสายชิม ช้อป 24 ชั่วโมง

โดยวันนี้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) (Electronic Transactions Development Agency) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้เป็นหน่วยงานสำคัญที่ช่วยในการส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อการขับเคลื่อนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ด้วยการเสนอ Digital ID Framework ของไทย การเสนอมาตรฐานและหลักเกณฑ์ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเพื่อนำไปสู่การหาแนวทางเพื่อการเชื่อมโยงระบบบริการทั้งจากบริการภาครัฐและเอกชน ควบคู่ไปกับการสร้างการรับรู้ข้อมูลถึงความสำคัญของ Digital Identity หรือ Digital ID ผ่านแคมเปญใหญ่ที่เรียกว่า  MEiD มีไอดี “บริการไทย…ไร้รอยต่อ” ต่อภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐบาล รวมถึงผู้ให้บริการทั้งหมด จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ Digital ID ให้มากขึ้น ผ่านการหยิบเรื่องราวจาก ประเทศที่ใช้ Digital ID เข้ามาเป็นกุญแจสำคัญในการเขย่าโครงสร้างประเทศสู่การพัฒนาชีวิตผู้คน สังคม เศรษฐกิจ และประเทศ ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ และเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในระดับสากลได้อย่างไร นอกเหนือจากประโยชน์ของ Digital ID ที่ไม่ใช่มีเพียงเพื่อพิสูจน์และยืนยันตัวตนเท่านั้น

เอสโตเนีย บุกเบิกใช้ Digital ID เลือกตั้งออนไลน์ เซฟเวลา-ลดมันนี่ที่แท้ทรู

เอสโตเนีย (Estonia) ถือเป็นประเทศแรกของโลกที่บุกเบิกระบบการเลือกตั้งออนไลน์ (I-VOTING) มาตั้งแต่ปี 2548 และทำสำเร็จจนประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกามองเป็นประเทศต้นแบบ โดยประชาชนชาวเอสโตเนียไม่ว่าจะอยู่ที่ใดทั่วโลก สามารถล็อคอินเข้าระบบเลือกตั้งโดยใช้เลขบัตรประจำประชาชนสมาร์ทการ์ด (e-ID Card) หรือหมายเลขโทรศัพท์ (Mobile ID) เพื่อยืนยันตัวตนและกดโหวตได้ อีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนผลการโหวตได้ก่อนวันเลือกตั้ง โดยระบบจะอัปเดตข้อมูลใหม่ให้อัตโนมัติ ซึ่งผู้เลือกตั้งสามารถตรวจสอบการส่งผลโหวตกับเจ้าหน้าที่ได้โดยตรงด้วยว่า ได้รับข้อมูลครบถ้วนหรือไม่เพื่อความแม่นยำและโปร่งใส โดยการนำ Blockchain เข้ามาช่วยเพื่อรักษาความปลอดภัย แม้ในปีแรกที่เปิดระบบเลือกตั้งออนไลน์ ชาวเอสโตเนียได้มีการเลือกตั้งผ่านระบบออนไลน์เพียง 2% แต่ในปี 2562 กลับเพิ่มขึ้นถึง 50% โดยประโยชน์สำคัญที่ได้จะมีทั้งในมุมของการช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการลดค่าใช้จ่าย และประหยัดในมิติต่างๆ เช่น ค่าเดินทางกลับบ้านเกิด การช่วยลดเวลาการทำงานของเจ้าหน้าที่ และค่าใช้จ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ ชาวเอสโตเนีย ยังสามารถใช้บัตรประจำตัวประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด เป็นหลักฐานยืนยันตัวตนเมื่อต้องติดต่อทำธุรกรรมออนไลน์กับภาครัฐและเอกชนได้แล้วถึง 99% ตามนโยบายการปฏิวัติอิเล็กทรอนิกส์ (e-Renovation) ที่ทางรัฐบาลเอสโตเนียได้ประกาศมาตั้งแต่ช่วงทศวรรศที่ 90 โดยวางเป้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ใช้รองรับการย้ายทะเบียนบ้าน เปลี่ยนชื่อ คำนำหน้าแสดงสถานะการสมรส จดทะเบียนนิติบุคคล การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบดิจิทัล ตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวทางการแพทย์และประวัติการรักษาพยาบาล รวมถึงใช้เป็นเอกสารยืนยันตัวตนในการเดินทางภายในสหภาพยุโรป ยกเว้นบางกรณี เช่น การจดทะเบียนสมรส การจดทะเบียนหย่า การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลเอสโตเนีย ยังสร้างระบบการเข้าถึงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Government Portal เสริมเป็นช่องทางให้บริการแก่ประชาชน โดยประชาชน ผู้ประกอบ และข้าราชการ สามารถล็อคอินด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดเพื่อใช้บริการต่างๆ ของรัฐได้

อินเดีย สร้าง Digital ID แก้ปัญหาประชากรนับพับล้าน เข้าถึงระบบสาธารณูปโภค 

จากปัญหาประชากรในประเทศอินเดีย (India) ที่มีมากกว่า 1.3 พันล้านคน และมากกว่าครึ่งเป็นบุคคลที่ไม่มีข้อมูลในระบบของภาครัฐ ไม่มีเอกสารที่ใช้ระบุตัวตน ส่งผลให้ประชากรนับพันๆ ล้าน โดยเฉพาะในถิ่นทุรกันดารไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือและบริการต่างๆ ของรัฐบาล จึงเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ อินเดีย ต้องริเริ่มการพัฒนาระบบ Digital ID โดยในปี 2551 ได้มีการริเริ่มโครงการ Unique Identification Authority of India (UIDAI) โดยมีหน่วยงานกลางอย่าง Aadhaar ที่เปิดให้คนอินเดียมาสมัครรับบริการ เพื่อใช้สำหรับการสร้างระบบยืนยันตัวตนดิจิทัลให้กับผู้อยู่อาศัยในประเทศกว่า 1.32 พันล้านคน และตั้งชื่อแพลตฟอร์มนี้ว่า “AADHAAR (อาดฮาร์)” โดยระบบจะเก็บข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อจริง ที่อยู่ เพศ อีเมล เบอร์โทร และรูปถ่ายใบหน้า ร่วมด้วยข้อมูลด้านชีวมิติ (Biometric) เช่น ลายนิ้วมือ ใบหน้า สแกนม่านตา เพื่อสร้างการยืนยันตัวตนพร้อมให้ AADHAAR ID หมายเลขประจำตัว 12 หลักแก่บุคคลนั้นๆ ซึ่งใช้เวลาเพียง 5 ปีกว่า ก็สามารถดึงคนอินเดียเข้าระบบได้สำเร็จถึง 1 พันล้านคน แซงหน้าแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายแพลตฟอร์มไปแบบขาดลอย

โดยคนอินเดีย สามารถใช้หมายเลข AADHAAR ID จำนวน 12 หลัก ไปเปิดบัญชีธนาคาร และทำธุรกรรมทางการเงินได้ ซึ่งที่ผ่านมา ภาครัฐได้ใช้ระบบ AADHAAR ให้บริการความช่วยเหลือชาวอินเดียในด้านสาธารณูปโภค โดยรัฐส่งเงินสนับสนุนช่วยเหลือค่าก๊าซหุงต้ม ซึ่งมีราคาสูงเข้าบัญชีธนาคารที่สมัครโดย AADHAAR ID ให้แก่ประชากรกลุ่มยากจน รวมถึงประชากรอินเดีย ยังสามารถนำหมายเลขดังกล่าวไปยืนยันตัวตนเพื่อรับบริการด้านการศึกษา ด้านสวัสดิการรัฐ ด้านสาธารณสุข โดยไม่ต้องใช้เอกสารและรอตรวจสอบยืนยันตัวตนหลายขั้นตอน หลายชั่วโมงเช่นเดิม นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียยังร่วมมือกับบริษัทเอกชน และนักลงทุนในท้องถิ่น เดินหน้าพัฒนาระบบเพื่อขยายบริการด้านต่างๆ ให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงในปี 2564 ยังมีรายงานว่า จะเพิ่มการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อรักษาความปลอดภัยด้านข้อมูลของประชากรเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ออสเตรเลีย สร้างแอปฯ ยืนยันตัวทางดิจิทัล “ติดต่อราชการ-ดีลธุรกิจ” เลือกได้ตามใจ

ด้านประเทศออสเตรเลีย (Australia) หนึ่งในประเทศที่รวมคนหลากหลายเชื้อชาติ ก็ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่อง Digital ID เช่นกัน โดยรัฐบาลออสเตรเลียได้เสนอสัญญาต่อประชากรว่า Digital ID เป็นวิธีที่ปลอดภัย และสะดวกในการพิสูจน์ว่าคุณเป็นใครในโลกออนไลน์ทุกครั้งที่คุณเข้าถึงบริการของรัฐบาล พร้อมหลีกเลี่ยงการเสียเวลาในการระบุตัวตนซ้ำๆ หลายรอบ ขณะเดียวกันออสเตรเลียได้มีการวางกรอบและแผนนโยบายในการคิดนวัตกรรมที่มาช่วยอำนวยความสะดวกให้คนในประเทศ จึงสร้างแอปพลิเคชัน 2 แอปฯ เพื่อรองรับการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลโดยแบ่งการใช้งานสำหรับติดต่อภาครัฐและภาคเอกชนอย่างชัดเจน ดังนี้ 1. MY GOV ID ทำหน้าที่คล้ายบัตรประจำตัวประชาชนแทนเอกสารยืนตน เวลาไปติดต่อราชการ รวมถึงหน่วยงานของรัฐบาล และ 2. AUSTRALIA POST ID ทำหน้าที่คล้ายเอกสารยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ในการติดต่อกับทางภาคธุรกิจ สถาบันการเงิน ที่มีรูปแบบการทำงานคล้ายๆ กับบัตร Rabbit ของไทย

สิงคโปร์ ขยายบริการ Digital ID สู่แอปฯ SingPass Mobile เข้าถึงทุกบริการรัฐ-เอกชน

กว่า 20 ปี ประเทศสิงคโปร์ (Singapore) ได้วางรากฐานการเป็นรัฐบาลดิจิทัล โดยสร้างระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ Digital ID ในนาม Singapore Personal Access หรือ SingPass เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการออนไลน์ของรัฐบาลได้อย่างสะดวก โดยให้ประชาชนยืนยันตัวตนทางดิจิทัลด้วยการใช้ Username ร่วมกับ Password และ OTP(One-time password) จากนั้นในปี 2561 รัฐบาลได้ต่อยอดการเข้าถึงบริการ ผ่านการสร้างแอปพลิเคชัน “SingPass Mobile” ให้บริการภายใต้ระบบ National Digital Identity (NDI) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญด้านดิจิทัลของประเทศ โดยประชาชนสามารถเข้าแอปฯ เพียงให้ข้อมูลด้านชีวมิติ (Biometric) เช่น ลายนิ้วมือ หรือกรอกรหัส 6 หลัก ขณะเดียวกันหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนก็สามารถใช้ SingPass Mobile ยืนยันตัวตนทางดิจิทัลแทนบัตรประจำตัวประชาชนสำหรับทำธุรกรรมทางออนไลน์ต่างๆ รวมถึงรับข่าวสารจากรัฐบาลได้ผ่านแอปฯ

ล่าสุดเดือนตุลาคม ปี 2564 รัฐบาลสิงคโปร์ได้ประกาศอย่างเป็นทางการถึงก้าวสำคัญความเป็น Smart Nation ว่า หน่วยงานของรัฐทุกแห่งจะยอมรับบัตรประจำตัวประชาชนในแอปฯ SingPass Mobile แทนการใช้บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป โดยในแอปฯ จะมีหน้าจอแสดงข้อมูลพื้นฐานเฉพาะของบุคคลนั้นๆ ได้แก่ชื่อ-นามสกุล หมายเลขบัตรประชาชน รูปถ่าย เพศ สัญชาติ วันเกิด ที่อยู่ หรือกรณีชาวต่างชาติ ผู้ถือใบอนุญาตทำงานและพำนักอยู่ในประเทศสิงคโปร์ ในแอปฯ ก็จะมีข้อมูลระบุตัวตน เช่น เป็นคนประเทศใด ทำงานบริษัทใด มีชื่อข้อมูลนายจ้างกำกับ สำหรับตรวจสอบข้อมูลระบุตัวตน ซึ่งประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าวไปยืนยันตัวตนเพื่อทำธุรกรรมทางออนไลน์กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น ทำธุรกรรมที่เคาน์เตอร์ของรัฐบาล คลินิก และห้องสมุดสาธารณะ ปัจจุบันรัฐบาลสิงคโปร์กำลังพยายามย้ายการบริการออฟไลน์ต่างๆ เข้ามาไว้ในระบบออนไลน์เกือบทั้งหมด ยกเว้นในบางกรณีที่มีประเด็นความละเอียดอ่อนของข้อมูล ที่อาจจะยังต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงอยู่ นอกจากนี้ตัวหน้าจอแอปฯ มีการทำโลโก้แบบภาพเคลื่อนไหว เพื่อป้องกันการจับภาพหน้าจอไปปลอมแปลงอีกด้วย

ETDA พาส่อง 5 ประเทศใช้ Digital ID เชื่อมชีวิตสู่โลกยุคดิจิทัล

ประเทศไทย กับเส้นทางผลักดัน Digital ID ในประเทศ สู่การยกเลิกการเรียกสำเนาเอกสาร

เมื่อหลายวันก่อน หลายคนคงได้รับข่าวสารการประกาศจาก กรมการปกครอง เรื่องยกเลิกการเรียกสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน ยกเว้นบางกรณีที่จำเป็นและต้องการใช้ประกอบการพิจารณาดำเนินการ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้แท้จริงไม่ใช่เพิ่งเริ่มต้น ในไทยเองได้เริ่มผลักดันในเรื่องนี้มาร่วม 16 ปี ตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งเป็นปีแรกที่ประเทศไทยเปลี่ยนมาใช้บัตรประจำตัวประชาชนที่มีเลขประจำตัว 13 หลัก ในรูปแบบสมาร์ทการ์ด ต่อมารัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับการให้บริการประชาชนและภาคธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีการวางโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในเรื่อง National Digital ID Platform (ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล) เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้การประกอบธุรกิจและการทำธุรกรรมต่างๆ ในยุคดิจิทัลมีความรวดเร็วและมั่นคงปลอดภัยตามมาตรฐานสากล จากนั้นปี 2560 ได้มีการแผนพัฒนาระบบ Digital ID และในปี 2562 มีการออกกฎหมาย 2 ฉบับ ฉบับแรกคือการปรับปรุง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ โดยเพิ่มเรื่องธรรมาภิบาล และอีกฉบับคือ พ.ร.บ.การบริหารงาน และการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล ให้หน่วยงานของรัฐมีระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล

และล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบและอนุมัติในหลักการการพัฒนาระบบรองรับ Digital ID ด้วยการพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล หรือ Face Verification Service (FVS) อย่างไรก็ตาม คนไทยส่วนใหญ่ยังประสบกับปัญหาการใช้งานจริง เช่น มีบัตรประจำตัวประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด แต่เวลาใช้งานจริงยังต้องถ่ายเอกสารสำเนา ทำให้เสียทรัพยากรและเวลามาก หรือประชากรบางกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟนหรือใช้โทรศัพท์ที่ไม่รองรับก็ไม่สามารถลงทะเบียนผ่านแอปฯ ได้ เช่น แอปฯ เป๋าตัง รวมถึงการเปลี่ยนชื่อ การย้ายทะเบียนบ้านก็ต้องใช้เอกสารสำเนายืนยันตัวตนหลายขั้นตอนแต่ก็นับเป็นสัญญาณที่ดีที่ประเทศไทยมีการขับเคลื่อนการใช้งาน Digital ID มากขึ้น เช่น กรมการปกครองยกเลิกเรียกสำเนาเอกสาร ในสถานพยาบาลก็มีโรงพยาบาลด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี เปิดให้คนที่เข้ามารักษาตรวจสุขภาพใช้บัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดยืนยันตัวตนแทนเอกสาร สำหรับฝั่งการเงินมีหลายธนาคาร เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้มีการให้บริการยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัล (NDIDผ่านแอป SCB EASY, K Plus และ KMA-Krungsri mobile app ตามลำดับ

ทั้งนี้ ภาพรวม Digital ID ในประเทศไทย สำหรับการดำเนินงานในปี 2565 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) (Electronic Transactions Development Agency) หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ตั้งเป้าหมายสำคัญ 4 ประการ คือ 1. นโยบาย Top-Down ร่วมผลักดันนำวิสัยทัศน์ จากมติ ครม. ถึงแนวทางการพัฒนาระบบรองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล (Face Verification Service – FVS) สู่การปฏิบัติเพื่อให้เกิดบริการกับหน่วยงานรัฐและเอกชน 2. ละลายระบบ SILO ภาครัฐและภาคเอกชนทำงานเชื่อมต่อข้อมูลแบบบูรณาการการทำงานร่วมกัน 3. ส่งเสริมบริการภาครัฐที่มีประสิทธิผลสูง ปัจจุบันเลือก 12 บริการเตรียมทดลองนำร่องเรียบร้อย และ 4. สร้างความชัดเจนด้านกฎหมายและนโยบายกำกับดูแล ปัจจุบัน ETDA ร่างกรอบแนวทางการพัฒนาบริการ Digital ID หรือ Digital ID Framework ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อน Digital ID เกิดขึ้นได้จริง

Scroll to Top