นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยหลังจากที่ ศบค. ได้มีมติยกเลิกการลงทะเบียนตามมาตรการ Test & Go ชั่วคราว จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2564 ว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโอมิครอนเห็นได้ชัดว่าดีขึ้นตามลำดับ เนื่องจากรัฐบาลได้มีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดและเคร่งครัดในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีการยกเลิกมาตรการ Test & Go ภาคท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมากที่สุด ซึ่ง มาตรการ Test & Go ถือเป็นมาตรการที่ช่วยผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวให้กลับมาฟื้นตัวได้ดี โดยนับตั้งแต่มีการเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทันทีจากมาตรการดังกล่าว จากเดิมเฉลี่ย 15,000 คน/เดือน สูงขึ้นถึง 218,788 คน ในเดือนธันวาคม 2564 ทำให้ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและบริการมีเงินหมุนเวียน
หอการค้าไทย ประเมินว่าหากไม่มีการยกเลิก Test & Go แม้จะมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนในต่างประเทศ ในช่วงเดือนมกราคมน่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา ประมาณ 100,000-200,000 คน แต่จากข้อมูลล่าสุด มีนักเดินทางผ่านมาตรการภูเก็ต Sandbox ได้ประมาณ 20,000 คน ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา แสดงว่า
นักเดินทางที่คาดว่าจะเข้ามาหายไปถึง 80,000-180,000 คนเลยทีเดียว ซึ่งโดยหากประเมินการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อทริป ของนักท่องเที่ยวที่ 50,000 บาท/คน จะเป็นเม็ดเงินที่หายไปเฉลี่ยต่อเดือน 5,000-9,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้กระทบทั้งภาคการท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้วย โดยจะกระทบต่อการจ้างงานที่เพิ่งจะกลับมาทำงาน รวมถึงเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยวที่ประเทศอื่นที่พร้อมกว่าจะชิงโอกาสช่วงนี้ดึงนักท่องเที่ยวไป นายสนั่น กล่าว
ทั้งนี้ หอการค้าไทย ได้รับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ พบว่า ผู้ประกอบการมีข้อเสนอให้รัฐบาลเร่งพิจารณานำมาตรการ Test & Go กลับมาดำเนินการอีกครั้ง โดยสามารถปรับปรุงกระบวนการให้เหมาะสม กับสถานการณ์แพร่ระบาด ณ เวลานี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว รวมถึงเสนอให้มีการตรวจ RT-PCR ก่อนการเดินทางเพิ่มอีก เป็น 5 วัน และ 3 วัน ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย โดยปัจจุบันหลักเกณฑ์ในการเข้าประเทศแบ่งออกเป็น 2 ประการสำคัญ คือ 1. ต้องฉีดวัคซีนครบตามที่สาธารณสุขกำหนด และ 2. ต้องตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทางไม่กิน 72 ชม. (3 วัน) ซึ่งหากมีการเพิ่มการตรวจ RT-PCR อีกครั้ง ก่อนการเดินทาง 5 วัน จะเป็นมาตรการที่เข้มข้นมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ และเหมาะสมพอควรกับสถานการณ์ที่ประชาชนบางส่วนยังมีความกังวล ซึ่งหากพิจารณาจากการระบาดในปัจจุบัน เกือบทั้งหมดมาจากภายในประเทศทั้งสิ้น ดังนั้น การเปิด Test & Go และเพิ่มการตรวจก่อนการเดินทางอีกครั้ง น่าจะเพียงพอกับการสร้างความเชื่อมั่น ทำให้ภาคการท่องเที่ยวและบริการสามารถเดินหน้าต่อได้
สำหรับมาตรการในพื้นที่ Sandbox ที่ปัจจุบันต้องกักตัวในพื้นที่ 7 วัน หากสถานการณ์การระบาดคลี่คลายลง ภาคเอกชนก็เสนอให้ลดจำนวนวันกักตัวลงเป็นลำดับเช่น ลดเหลือ 3 – 5 วัน เพื่อให้นักเดินทางสามารถเดินทางไปยังพื้นที่อื่น ๆ เกิดการกระจายรายได้ ซึ่งหอการค้าไทยให้ความสำคัญกับมาตรการด้านสาธารณสุขที่ต้องควบคู่กับการเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยมาตรการผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศนี้ จะช่วยเสริมจากการท่องเที่ยวในประเทศ สอดคล้องกับมาตรการของภาครัฐที่มีแผนดำเนินโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 ซึ่งจะเปิดสิทธิเพิ่มตามข้อเสนอของภาคเอกชนด้วย