ปฐม อินทโรดม มองกระแส Metaverse และ Cryptocurrency กับความพร้อมคนไทย

ปฐม อินทโรดม มองกระแส Metaverse และ Cryptocurrency กับความพร้อมคนไทย

ประเทศไทยตื่นตัวกันมากในเรื่อง Metaverse และ Cryptocurrency แต่ในปัจจุบันก็ยังมีปัญหาเรื่องการออกกฎระเบียบของแบงก์ชาติ ก.ล.ต. ที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดการเติบโตของการลงทำธุรกิจหรือการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล จนไปถึงการวางพื้นฐานให้ความรู้คน

ปฐม อินทโรดม กรรมการครีเอทีฟ ดิจิทัลอีโคโนมี สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวกับ BizTalkNews ว่า กรณีแบงก์ชาติห้ามใช้คริปโทเคอร์เรนซีชำระค่าสินค้าและบริการ จะต้องเข้าใจในมุมของแบงก์ชาติที่เป็นธนาคารของประเทศ มีหน้าที่ส่งเสริมให้เงินบาทมีเสถียรภาพ จึงไม่สามารถบอกให้คนไปใช้เงินสกุลอื่นได้ ซึ่งแบงก์ชาติหลายประเทศทั่วโลกก็ต้องการให้เงินตราตัวเองอยู่ในจุดที่ควบคุมได้ (Centralized)

Metaverse ปี 2022 กับก้าวต่อไปของ Meta และการวิ่งตามเทคโนโลยีของประเทศไทย
Metaverse และ NFT ขุมทรัพย์แหล่งใหม่จากโลกเสมือนสู่โลกจริง

แต่อีกหน่วยงานที่ คุณปฐม มองว่าควรจะทำได้ดีกว่านี้คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่มีอีกบทบาทนึ่งคือการส่งเสริมการลงทุน ถึงแม้จะออกมาบอกว่าไม่ได้ห้ามลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี แต่การออกกฎกติกาก็ไม่ได้ส่งเสริมให้คริปโทเคอร์เรนซีเติบโตได้

“เป็นการผลักคนที่มีความพร้อมกลุ่มหนึ่งออกจากระบบ ทำให้คนกลุ่มนี้ออกไปทำธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย”

คุณปฐม กล่าวต่อว่า หลายคนที่จะเปิด Exchange กลับเลือกเปิดกับแพลตฟอร์มต่างประเทศมากกว่าในประเทศตัวเอง ซึ่งตรงนี้ ก.ล.ต. ควรจะมีบทบาทส่งเสริมที่ชัดเจนมากกว่านี้

เมื่อ 20 ปีก่อน คนในยุคนั้นจะสร้างความมั่งคั่งได้ก็ต้องอาศัยตลาดหลักทรัพย์ MAI ซึ่งเป็นตลาดที่มีความเสี่ยงสูง เป็นบริษัทเล็กกว่า SET ราคาหุ้นผันผวนกว่า แต่ก็มีความคล่องตัวกว่า

“ผ่านมา 20 ปี ตลาด MAI เริ่มอยู่ตัวเหมือนกับ SET ในอดีต คนรุ่นใหม่ก็ต้องมองหาสิ่งใหม่ๆ ที่จะมาสร้างความมั่งคั่งในยุคของเขาก็คือ Cryptocurrency กับ NFT แต่เรากลับสร้างมาตรการมาห้าม และจำกัดการลงทุนของเขา”

จุดสมดุลควรจะเป็นอย่างไรในมุมมอง ปฐม อินทโรดม

คุณปฐม มองว่า ตลาดหุ้นต้องมีเครื่องมือใหม่ๆ ออกมาเสมอ เช่น การมีตลาดลงทุน MAI รูปแบบดิจิทัล หรือ Market for Digital Investment (MDI) เป็นธุรกิจสตาร์ทอัพหรือเป็นธุรกิจที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ และให้มาลงทุนในตลาดนี้ ก็จะเป็นการสร้างทางเลือกให้นักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาลงทุนในตลาดที่ปลอดภัยมากกว่า

“โอกาสที่เปิดให้คนแต่ละรุ่นมันไม่เหมือนกัน รุ่นพ่อรุ่นแม่เราคือระบบธนาคาร รุ่นเราอาศัยตลาดหลักทรัพย์ แต่เด็กรุ่นใหม่ในบ้านเราไม่มีจริงๆ”

ที่สหรัฐฯ ใช้โลกดิจิทัลสร้างเครื่องมือทำกินให้คนรุ่นใหม่มากมาย เช่น Crowdfunding ที่ต้นตำหรับ Metaverse อย่าง Oculus ใช้เว็บ Kickstarter ระดมทุนได้เงินมาตั้งต้นธุรกิจได้ง่ายๆ และคนทั่วไปก็มีโอกาสได้มีส่วนเป็นเจ้าของบริษัทเจ๋งๆ แบบนี้ ก่อนที่ Facebook จะซื้อกิจการไปเมื่อปี 2014

กฎระเบียบดันการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนออกไปต่างประเทศได้ง่ายและไวขึ้น

คริปโทเคอร์เรนซียังใช้เงินบาทเข้าไปแลกสุดท้ายก็จะได้กลับมาเป็นเงินบาทอยู่ดี ทำให้เราเห็นเส้นทางของเงิน แต่เด็กรุ่นใหม่หนีไป DeFi ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ชอบ 100%

คุณปฐม เล่าว่า การเข้าสู่ DeFi ไม่จำเป็นต้องผ่าน Exchange หรืออาจจะผ่านบ้างเมื่อต้องการแลกเปลี่ยนกับเงินบาท ซึ่งในโลก DeFi นั้นหลังจากที่แลกเป็น Bitcoin แล้ว ก็จะใช้ Digital wallet ในการโอนเพียงอย่างเดียว ทำงานได้เงินมาเป็น Token ก็นำ Token ไป Matching ผ่านระบบ DeFi และก็ใช้จ่ายออกไปเป็น Token ทำให้ไม่เห็นว่ามีการใช้เงินไปที่ใดบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ ก.ล.ต. และแบงก์ชาติ ไม่ชอบ แต่กลับผลักไสให้มันเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน

มีคนรุ่นใหม่หลายคนที่ใช้จ่ายผ่าน DeFi อยู่ และไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนเงินออกมาเป็นเงินบาทเลย และยังสามารถนำ Token ไปทำ Yield Farming และได้ผลตอบแทนกลับมาอีกด้วย

เมื่อถามว่าจะต้องทำอย่างไรให้เหมาะสม คุณปฐม กล่าวว่า ปัจจุบันเราตัดตอนเขาไปแล้วด้วยกฎและกติกาที่ออกมา เพราะฉะนั้นตอนนี้อาจจะต้องอาศัยสตาร์ทอัพยูนิคอร์นอย่าง Bitkub และแพลตฟอร์ม Exchange อื่นๆ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของแบงก์ชาติ จะต้องเข้ามาคุยกันและรับฟังข้อเรียกร้องของผู้ให้บริการ

“เท่าที่ทราบแบงก์ชาติก็เปิดรับฟังอยู่ อยากจะให้คนรุ่นใหม่ที่ได้รับผลกระทบเข้ามาเปิดอกคุยกันว่ามีตรงไหนที่ควรจะต้องรีบแก้ไขอย่างจริงจัง และทำข้อเสนอออกมา ซึ่งเป็นจังหวะที่ดีที่สุด”

Metaverse ยังต้องใช้เวลาพัฒนา

สำหรับกระแส Metaverse คุณปฐม กล่าวว่า ปัจจุบันจะใช้งานจำกัดอยู่ในกลุ่มเกม ซึ่งประชากรเกมในไทยยังไม่ได้มากเมื่อเทียบกับในตลาดโลก เกมที่อยู่ในโลก Metaverse ยังมีไม่มาก ถ้าพูดถึงระบบนิเวศที่จะเข้ามาอยู่ในโลก VR (Virtual Reality) ก็ยังไม่ใช่เร็วๆ นี้ เพราะ Mark Zuckerberg เองก็เคยพูดไว้ว่าอาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี

อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนคือ เรื่องการถูกนำไปใช้ในวงกว้าง (Mass) จะยังไม่เกิดขึ้นแน่นอน เพราะอุปกรณ์สวมใส่ยังมีราคาสูงอยู่

“ถ้าถามว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีหรือไม่สำหรับคนที่มีความรู้ ที่จะเข้ามาศึกษาและหยั่งเชิงในธุรกิจนี้ ต้องบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่ดี และก็มีคนไทยกระโดดเข้าไปในธุรกิจ GameFi พอสมควร“

ซึ่งกลุ่มที่เข้าไปทำธุรกิจ GameFi เป็นกลุ่มที่รู้จักกลไกและรู้วิธีหาประโยชน์เป็นอย่างดี ภาครัฐควรจะเข้ามาสนับสนุน

ทั้งนี้ก็ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่รู้ว่า Metaverse, Cryptocurrency รวมถึง Blockchain และ NFT  คืออะไร แต่กลับเข้าไปลงทุน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วง

การขับเคลื่อน Metaverse และ Cryptocurrency จะต้องคำนึงถึงอะไร

คุณปฐม กล่าวว่า ให้ลองดูสิ่งที่เวียดนามทำ จะเห็นว่าสิ่งที่ส่งผลทำให้พื้นฐานคนเสียดนามแน่นกว่าไทย คือการสร้างพื้นฐานการศึกษาที่ดี เรื่องของ GameFi หรือ NFT เวียดนามไปไกลมาก คนเวียดนามสามารถสร้างธุรกิจใหม่ๆ ออกมาหลายแพลตฟอร์มแล้ว (หนึ่งในนั้นคือเกม Axie infinity ที่มีผู้เล่นอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก) และสามารถทำเงินได้จริงในปัจจุบัน เพราะมันมีคอนเซปต์และที่มาที่ไปชัดเจน

กลับมาที่ประเทศไทย การที่เราสร้างพื้นฐานการศึกษาที่ไม่พร้อม การที่มีนักพัฒนาน้อยเกินไป ทำให้ประเทศไทยมีแต่ผู้ใช้ ซื้อโดยที่ไม่มีความรู้ ลงทุนในสิ่งที่ไม่เข้าใจ ขณะที่เวียดนามเป็นผู้สร้างซึ่งอยู่ในตำแหน่งบนสุดของห่วงโซ่

“ประเทศเราคุยเรื่องนี้กันมานานมากเป็น 10 ปี แต่ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เราจะต้องพัฒนาการศึกษาอย่างเร่งด่วน เพราะเราไม่สามารถเติบโตได้จากการเป็นผู้บริโภค”

Scroll to Top