เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยมีระบบเศรษฐกิจแบบกลไกตลาดเสรี หรือระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (Market economy) เนื่องจากมีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย รัฐจึงให้สิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพและการซื้อขายกับประชาชน และเมื่อลองมาขยายภาพว่าในการให้เสรีประกอบการค้า โดยที่รัฐไม่เข้าไปยุ่งอะไรเลย สิ่งที่จะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติจาก “การปล่อยให้ทำ” คือผู้ที่ค้าขายก็จะคิดและแสวงหาวิธีในการสร้างกำไร ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดหมายสูงสุดในการประกอบธุรกิจ น้อยคนนักที่จะทำธุรกิจโดยไม่คิดถึงผลกำไรเลยแม้แต่น้อย และนอกจากในเรื่องวิธีการในการแสงหากำไรแล้ว
–ไปรษณีย์ไทย หนุนเกษตรกรกระจายผลผลิต จากสวนถึงปลายทาง ด้วยบริการ EMS
–Cryptomind Group ตั้ง สัญชัย ปอปลี นั่ง CEO คนใหม่
ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอย่าง “ตลาด” ซึ่งในที่นี้หมายถึงบริเวณหรือพื้นที่ที่ผู้ขายได้พบกับผู้ซื้อเพื่อทำการค้าขายกัน โดยในทางเศรษฐศาสตร์ได้กำหนดเป็นพื้นที่กว้าง ๆ ที่ผู้ซื้อกับผู้ขายเดินทางไปมาหากันได้ อีกทั้งยังอาจรวมไปถึงพื้นที่ที่ลูกค้าของตนสามารถไปซื้อสินค้าชนิดเดียวกันจากผู้ขายรายอื่นที่ขายสินค้าหรือบริการชนิดเดียวกันอยู่ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ร้านหมูกระทะ ซึ่งหากในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งมีร้านหมูกระทะเพียงร้านเดียว พื้นที่ “ตลาด” ก็จะไม่ใช่แค่ตัวร้าน หรือเฉพาะอำเภอที่ร้านตั้งอยู่ แต่จะกินบริเวณไปทั่วพื้นที่จังหวัดที่คนซื้อไม่หนีข้ามจังหวัดไปทานหมูกระทะที่ร้านอื่น ๆ เป็นต้น
ในกรณีที่เกิดผู้ขายเจ้าแรก และเมื่อสินค้าเป็นที่สนใจ คนก็จะแย่งกันมาซื้อของ เพราะไม่สามารถไปหาซื้อที่อื่นได้ และเมื่อมีคนเห็นว่าสินค้าหรือบริการดังกล่าวขายได้ดี มีคนซื้อเยอะ ตลาดเสรีก็ทำให้ใครก็ตามที่เห็นโอกาสเข้ามาเปิดขายสินค้าอย่างเดียวกัน ดังเช่นร้านหมูกระทะในประเทศไทย ที่แรก ๆ หาได้ยาก ต่อมาก็มีมากมาย จนลูกค้ามีสิทธิที่จะเลือกร้านตามใจชอบ พอมีร้านค้ามาก ๆ คราวนี้ ตลาดก็ทำหน้าที่โดยอัตโนมัติ ที่แต่ละร้านก็จะต้องหาจุดเด่นในสินค้าของตัวเอง พยายามให้สินค้าต่างจากคนอื่น หรือถ้าต่างไม่ได้ ราคาก็ต้องดึงดูดลูกค้า โดยตัวอย่างดังกล่าวถือเป็นกรณีศึกษาที่เห็นได้อย่างชัดเจน
ซึ่งเราจะเห็นว่า เริ่มต้นหมูกระทะก็มีไม่กี่ร้าน ต่อมาพอขายดีร้านก็เปิดในทุกพื้นที่ เริ่มมีร้านที่ต้องทะยอยเลิกกิจการ หรือที่เรียกว่าออกจากตลาดเพราะไม่มีกำไร อาจจะเพราะไม่อร่อย หรือแข่งกับเจ้าที่อยู่ใกล้เคียงไม่ได้
กลไกตลาดเสรีดีจริงหรือไม่ ???
สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือ สำนักงาน กขค.ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจ โดยยกร้านหมูกระทะเป็นตัวอย่าง ซึ่งจะเห็นข้อดีหลัก ๆ ของตลาดเสรีได้ว่า โดยทั่วไปสิ่งที่จะเกิดขึ้นในตลาดเสรีคือ คนขายจะพยายามเพิ่มประสิทธิภาพด้วยกลไกที่เรียกว่า กลไกราคา ทำให้ของของตัวเองถูกกว่าหรือจะแข่งคุณภาพ สินค้าก็ดีกว่า สิ่งที่ตามมาคือนวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ ๆ เพื่อให้ต้นทุนถูกกว่า หรือของมีคุณภาพที่ดีกว่า ซึ่งจะทำให้ได้กำไรหรืออย่างน้อยก็สามารถรักษาไม่ให้เสียลูกค้า และเมื่อย้อนมาศึกษาร้านหมูกระทะก็จะเห็นได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริง จากเดิมย่างบนตะแกรงแบน ๆ
ต่อมาก็มีกระทะที่ใส่น้ำซุปได้ มีกระทะแบบใส่ชีสแทนน้ำซุปที่เป็นแนวเกาหลี เพราะถ้าเหมือนเดิมไม่พัฒนาก็คงไม่มีใครซื้อ หรือเพิ่มลูกค้าไม่ได้ ประโยชน์ประการต่อมาคือ ผู้ซื้อมีทางเลือกเพิ่มขึ้นทั้งด้านปริมาณ มีร้านเพิ่มขึ้น ด้านราคาก็มีให้เลือกทั้งร้านหรูราคาแพง และร้านแบบหมูกระทะราคาสบายกระเป๋า นี่เป็นแค่ประโยชน์ส่วนหนึ่งของตลาดเสรีที่มีการแข่งขันเท่านั้น ประโยชน์อื่น ๆ ยังมีอีกมากมาย อาทิ การใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มประโยชน์ การทำให้ผู้ประกอบการต้องกระตือรือร้น
อีกมุมที่เป็นจริงของกลไกตลาดเสรี
ในความเป็นจริง ถ้ารัฐปล่อยทุกสินค้าหรือบริการ สิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้คือ ความไม่เท่าเทียม เพราะหากปล่อยให้สินค้าและบริการทุกประเทศเป็นไปตามกลไกตลาด ยกตัวอย่างหากอาชีพตำรวจ และพนักงานดับเพลิงเป็นอาชีพของภาคเอกชน รัฐไม่ทำ เวลามีโจรเข้าบ้านหรือไฟไหม้บ้านเรากับบ้านใครสักคนใกล้ ๆ ในเวลาเดียวกัน ทั้งสองบ้านโทรหาตำรวจเอกชนกับดับเพลิงเอกชน ผลลัพธ์ที่ได้อาจเป็นบ้านที่ยอมจ่ายเงินค่าบริการมากกว่าจะได้รับบริการนั้นไป
อีกกรณีศึกษาที่น่าสนใจก็คือ ถ้าคนในประเทศส่วนใหญ่ชอบสินค้าคุณภาพต่ำ และเห็นพ้องว่าสินค้าที่มีคุณภาพสูงมันเกินความจำเป็น ไม่สนใจความปลอดภัย ไม่สนใจการรักษาสิ่งแวดล้อม และไม่สนใจเรื่องการเคารพสิทธิต่าง ๆ อาทิ ทรัพย์สินทางปัญญา ตลาดจะทำหน้าที่ ตามกลไกอุปสงค์อุปทาน คือเราจะได้เห็นรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ที่ประเทศอื่นบอกว่า ไม่ปลอดภัยหรือเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม กลับขายดีในประเทศเรา เพราะราคาถูก และเราก็จะกลายเป็นประเทศแห่งความไม่ปลอดภัย และในอนาคตก็อาจจะอยู่กันไม่ได้เพราะมีแต่ควันพิษ
เมื่อเราทราบว่า ตลาดเสรี ก็มีข้อเสียเหมือนกัน ผู้ที่จะเป็นตัวตั้งตัวตีแก้ไขเรื่องนี้ได้ก็คือรัฐบาล ซึ่งต้องยื่นมือที่มองเห็นเข้าไปป้องกันหรือแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นรูปธรรมอย่าง “การออกกฎหมาย” ทั้งนี้ การปล่อยให้ตลาดเสรีโดยไม่มีการควบคุม ก็คือการปล่อยให้ไม่มีกฎหมายกำกับในเรื่องนั้น ๆ รัฐจึงจำเป็นต้องออกกฎหมายมาบังคับ
นอกจากนี้รัฐอาจแก้ไขปัญหาด้วยการขอความร่วมมือ เช่น การกำหนดให้ผู้ที่ไปซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อต้องซื้อถุงพลาสติก เป็นต้น ซึ่งการแก้ไขปัญหานี้ใช้หลักการทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาปรับใช้ จึงเห็นได้ว่า ในตลาดเสรีก็ยังต้องมีการควบคุมไม่ให้มีความเสรีจนเกินพอดี ต้องมีความถูกต้อง ความสมดุล และเสมอภาค บนหลักของตลาดที่มีความเท่าเทียมกัน (Level playing field) อย่างแท้จริง เปรียบเทียบได้กับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลที่สนามราบเรียบ ไม่ลาดเอียงจนทำให้ผู้แข่งขันฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบ
กลไกควบคุมตลาดเสรีที่เป็นธรรมโดยภาครัฐ
ภายใต้ผลกระทบที่เกิดขึ้นในตลาดเสรี สิ่งที่รัฐจะต้องดำเนินการ คือ การส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า ซึ่งเรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องที่ต่างชาติพูดถึงกันมานานมากกว่าหลักร้อยปี โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์ชื่อก้องโลกอย่าง “อดัม สมิธ” ที่ได้นิยามกลไกนี้ไว้ว่า “ปัจจัยสำคัญของการมีและการคงไว้ซึ่งตลาดเสรี คือ การแข่งขันทางการค้า” เพราะ การแข่งขันทางการค้าจะทำให้ประชาชนได้สินค้าและบริการที่ดีที่สุดในราคาที่ดีที่สุด และที่สำคัญคือตลาดเสรีที่ไม่มีการกำกับดูแลด้านการแข่งขัน
สิ่งที่อาจจะเกิดได้คือ ความล้มเหลวของตลาด (Market failures) ซึ่งเมื่อมองในฝั่งผู้ซื้อส่วนใหญ่เมื่อมีเสรีภาพ ก็อยากจะได้อะไรเป็นจำนวนมาก ซึ่งบางทีมากจนเกินความจำเป็นแล้วไปเบียดเบียนให้ของมีไม่พอสำหรับทุกคน ส่วนในมุมผู้ขาย เมื่อมีสินค้าขายดี หากไม่มีกลไกควบคุม ผู้ขายก็อาจจะผลิตสินค้าเยอะ ๆ เพื่อให้ได้ “การประหยัดต่อขนาด” (Economy of scale) จนในบ้างครั้งสินค้ามีเกินความต้องการของคนซื้อนั่นเอง
อุปสรรคที่ซ้ำซ้อนจากการแข่งขันทางการค้า
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการแข่งขันทางการค้าอย่างหนักหน่วง สิ่งที่คนที่ค้าขายเก่ง ๆ จะพยายามทำคือการผูกขาด เนื่องจากมีกำไรเป็นตัวผลักดัน ทั้งนี้ ลองจินตนาการดูว่า ถ้าสินค้าและบริการต่าง ๆ เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งบางตลาดมีคนเก่งมาก เก่งจนเกินไป แม้ว่าผู้นั้นจะไม่ได้ทำการใดที่เป็นการโกงเลย แต่ธุรกิจหลาย ๆ อย่างอยู่ในมือเขาคนเดียว
เราเองในฐานะผู้จ่ายเงินก็คงจะต้องมีร้อน ๆ หนาว ๆ กันขึ้นมาบ้าง และสัจธรรมที่ใช้ให้เห็นอยู่เสมอก็คือ สิ่งหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นทั่วโลกกับผู้มีอำนาจทางการเงินคือการไขว่คว้าอำนาจทางการเมือง ยิ่งถ้าเป็นเจ้าเดียวที่อยู่ในตลาด แล้วสามารถมีการสนับสนุนจากรัฐด้วยแล้ว ก็จะสามารถคิดราคาสูงเท่าที่ต้องการได้ตราบเท่าที่คนซื้อยังจ่ายไหว
นอกจากนี้ ผู้ขายอาจจะผลิตหรือขายจำนวนน้อยกว่าความต้องการของผู้ซื้อ เพื่อให้สามารถขายสินค้าในราคาสูงกว่าเดิมได้ แทนที่จะผลิตให้ประชาชนได้ใช้สินค้าตามความต้องการ นอกจากตลาดเสรีที่อาจมีผู้ขายที่เก่งจนล้มคู่แข่งได้หมดแล้ว ในตลาดเสรียังมีปัญหาอีกประการที่เรียกว่า “อุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด” ที่ทำให้ใครที่อยากทำธุรกิจอาจจะต้องม้วนเสื่อตั้งแต่ยังไม่เริ่ม เช่น การใช้เทคโนโลยี เงินทุน และแม้แต่กฎระเบียบของรัฐบางประการก็เป็นอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด
ซึ่งตรงนี้เองที่ต่างประเทศและรวมถึงประเทศไทย ก็เริ่มให้ความสำคัญจับจ้องไปที่กฎหมายการแข่งขันทางการค้า ซึ่งทำหน้าที่สร้างระบบนิเวศของการค้า (Business ecosystem) ให้มีความสมดุล และยังป้องกันการใช้อำนาจเงินแสวงหาอำนาจทางการเมืองได้โดยทางอ้อมอีกด้วย ในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี รัฐสามารถสั่งให้เราทำอะไรได้ด้วยกฎหมาย แต่ปัญหาจะอยู่ที่จะออกกฎหมายมาควบคุมอย่างไร และแค่ไหน
ซึ่งกฎหมายการแข่งขันทางการค้าก็เป็นกฎหมายที่ต้องคำนึงถึงความพอดีอย่างมากทีเดียว เช่น ในเรื่องที่ทรัพยากรมีจำกัด หรือสินค้าหรือบริการที่ไม่มีคนสนใจเข้าไปขาย รัฐก็ต้องจัดการให้มีความสมดุล เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในตลาดการค้า รวมถึงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวผู้ซื้อด้วยในขณะที่ตลาดที่มีการแข่งขันก็ต้องพยายามมิให้มีกฎระเบียบที่ลดหรือจำกัดการแข่งขัน และต้องป้องกันไม่ให้มีการใช้อำนาจในตลาดทำการเอาเปรียบผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น หรือสร้างความเสียให้กับเศรษฐกิจโดยรวม