NIA เดินหน้าดันไทยสู่ “ฟู้ดเทคซิลิคอนวัลเลย์” พร้อมเผย 3 นวัตกรรมต่อยอดวงการอาหาร

NIA เดินหน้าดันไทยสู่ “ฟู้ดเทคซิลิคอนวัลเลย์” พร้อมเผย 3 นวัตกรรมต่อยอดวงการอาหาร

จากนโยบายของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ที่ต้องการปั้นกรุงเทพฯ ให้เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมอาหาร หรือ ฟู้ดเทคซิลิคอนวัลเลย์ ผ่านการใช้โครงการ SPACE-F เข้ามาสนับสนุน ปัจจุบันประสบความสำเร็จแล้ว 2 รุ่น ใน 2 ปีที่ผ่านมา มีสตาร์ทอัพมาจากทั้งสหรัฐฯ เยอรมนี อังกฤษ สิงคโปร์ ฮ่องกง และในไทย เข้ามาผสมผสานกัน 

ในรุ่นที่ 1 นั้นมีสตาร์ทอัพ 4-5 รายที่ได้รับเงินลงทุน รวมถึงได้เป็นพาร์ทเนอร์กับผู้ประกอบการรายใหญ่อย่าง ไทยเบฟเวอเรจ และ ไทยยูเนี่ยน ทำให้สตาร์ทอัพเหล่านี้ต่อยอดทางธุรกิจได้

ส่วนรุ่นที่ 2 มีผู้ประกอบการเข้ามา 20 กว่าราย โดยออกแบบให้กลุ่ม Incubator และ Accelerator ได้มาเจอกันและถ่ายทอดความรู้กัน ทำให้สตาร์ทอัพเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในรุ่นที่ 2 นี้ มีสตาร์ทอัพจากรุ่นที่ 1 ที่เป็น Incubator ได้มาเป็น Accelerator ในรุ่นที่ 2 ด้วย

“ปัจจุบันเราพานักลงทุนมาจับคู่กับสตาร์ทอัพในรุ่นที่ 2  ซึ่งมีบางบริษัทนำผลิตภัณฑ์ของสตาร์ทอัพในรุ่นที่ 2 ไปทดลองตลาดกับในกลุ่มพาร์ทเนอร์ ทั้ง ไทยเบฟเวอเรจ ไทยยูเนี่ยน และ เบทาโกร รวมถึงการช่วยทำตลาดและสร้างเครือข่ายให้สตาร์ทอัพ” ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ NIA กล่าว

เอ็นไอเอพาไขสมการปั้น ซิลิคอนวัลเลย์เวอร์ชั่นประเทศไทย เมืองนวัตกรรมในฝันที่ไม่ใช่แค่การขายฝัน
คราวน์ โทเคน “CWT” ตัวเชื่อมระบบนิเวศของโลก IP – NFT และ Metaverse

ดร.สุรอรรถ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ NIA โฟกัสมากคือเรื่องการสร้างเครือข่าย เพราะสตาร์ทอัพที่เข้ามาสมัครโครงการนี้เกือบทั้ง 100% ต้องการเครือข่ายพาร์ทเนอร์เพื่อต่อยอดธุรกิจ และสามารถพาสตาร์ทอัพเหล่านี้ขยายไปสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ รวมถึงผลักดันไทยให้เป็นฟู้ดเทคซิลิคอนวัลเลย์

สำหรับรุ่นที่ 3 ที่ NIA กำลังจะเปิดในปีนี้พาร์ทเนอร์จะส่งผู้บริหารระดับ C Level เข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการ SPACE-F ทำให้โครงการมีความน่าสนใจมากขึ้น

Food Service Innovation อาหารควบคู่การท่องเที่ยว

ดร.สุรอรรถ มองว่า หลังจากนี้เทรนด์เทคโนโลยีที่คนกำลังให้ความสนใจอย่าง Metaverse, AI, Robotic จะเข้ามามีผลกับเทคโนโลยีอาหาร โดยสะท้อนออกมาได้ 2 รูปแบบ คือ นวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมด้านการบริการ

เมื่อถามว่านวัตกรรมอาหารจะเติบโตไปในด้านใด ดร.สุรอรรถ ให้ความเห็นว่า นวัตกรรมจะไปในด้านบริการมากขึ้น เป็น Service Innovation เช่น Gastronomy Tourism เป็นนวัตกรรมที่นำศาสตร์ของอาหารมารวมกับการท่องเที่ยว

“อาหารมันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ คนกินทั้งบรรยากาศและรสชาติ การที่มี Immersive เทคโนโลยีอย่าง AR และ VR เข้ามา ประกอบกับการสร้างบรรยากาศ จะช่วยสร้างความน่าสนใจมากขึ้น”

ดร.สุรอรรถ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังสามารถทำเป็นโอมากาเสะ เช่น การทานอาหารภาคเหนือโดยไม่ต้องไปนั่งทานที่ภาคเหนือ อาจจะนั่งอยู่ในสตูหรือร้านอาหาร โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้บรรยากาศเหมือนอยู่ในภาคเหนือ เสิร์ฟอาหาร ที่เป็น Gastronomy เป็นอาหารที่ยกระดับอาหารพื้นผิวขึ้นมา เช่น เสิร์ฟสปาเก็ตตี้ที่รสชาติเหมือนข้าวซอย เป็นการนำรสชาติและกลิ่นออกมา

“นวัตกรรมนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคได้ประสบการณ์ใหม่ของการกิน บรรยากาศ ผ่านบริการรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า service Innovation ที่เข้ามาช่วยชูธุรกิจ Chef Table หรือ โอมากาเสะ ให้แปลกใหม่มากขึ้น”

ด้าน NIA แนะนำให้สตาร์ทอัพหันมาทำเรื่อง Service Innovation มากขึ้น เช่น Cloud Kitchen ที่มีสตาร์ทอัพเข้ามาทำแล้วและได้ทุนจาก NIA ไป อย่าง LILUNA ที่ทำธุรกิจคล้ายกับรถพุ่มพวง คือ เมื่อคุณสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์ม(สั่งล่างหน้า) วันรุ่งขึ้นจะมีรถมาส่งอาหารให้

“รถของ LILUNA จะมีเส้นทางวิ่งชัดเจน ถ้าเราอยู่ในเส้นทางของเขาก็จะสามารถสั่งร้านอาหารที่อยู่ในเครือข่ายเขาได้ โดยเขาจะทำการจัดส่งอาหารให้ อุ่นให้จากในรถ ก็จะทำให้เราได้ทานอาหารที่ร้อนพร้อมทาน”

ด้าน Robot Chef เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมบริการที่ถูกพัฒนามาได้ระยะหนึ่งแล้ว ดร.สุรอรรถ มองว่า ต่อไปร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดอาจจะมีเชฟแค่คนเดียว แต่ไม่ต้องมีคนมาทำอาหารหน้าเตา โดยหุ่นยนต์จะเข้ามาทำหน้าที่อย่างเช่น การทอด อุ่นอาหาร ไปจนถึงการเสิร์ฟอาหาร

NIA เดินหน้าดันไทยสู่ “ฟู้ดเทคซิลิคอนวัลเลย์” พร้อมเผย 3 นวัตกรรมต่อยอดวงการอาหาร

Personalized Food นวัตกรรมอาหารทางการแพทย์

นอกจากนวัตกรรมด้านการบริการแล้ว ยังมีเทรนด์ของอาหารที่น่าสนใจที่ NIA จะผลักดันในปีงบประมาณ 2565-66 นี้ คือ Personalized Food หรืออาหารสำหรับปัจเจกบุคคล ซึ่งมี 2 มุมมองด้วยกัน คือเรื่องของผลิตภัณฑ์ และด้านบริการ

ในด้านผลิตภัณฑ์ คือ อาหารทางด้านการแพทย์ อาหารที่ถูกพัฒนาขึ้นมาในการรักษาโรค สำหรับคนที่ต้องการอาหารจำเพาะ รวมไปถึงการแก้อาการแพ้อาหาร โดยนำการตรวจ DNA และหมู่เลือดเข้ามาเกี่ยวข้อง ก่อนจะนำไปวิเคราะห์ เพื่อพัฒนาอาหารขึ้นมาให้เหมาะสมกับแต่ละคนได้ ซึ่งจะสอดคล้องกับการให้บริการกับการตรวจร่างกาย เป็นการจับคู่ระหว่างผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ มาเจอกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านอาหาร

บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญมีจุดเด่นด้านการตรวจ DNA แต่ไม่มีความรู้ในด้านการปรุงอาหาร ไม่มีเครือข่ายร้านอาหาร NIA จะเข้ามาทำหน้าที่สรรหาร้านอาหารดัง ร้านอาหารสุขภาพ นำมาจับคู่กันจนเป็นแพลตฟอร์ม ให้คนที่ตรวจ DNA แล้ว สามารถจะไปทานร้านอาหารตามเครือข่ายได้

นวัตกรรมโปรตีนทางเลือกเติบโตอย่างรวดเร็ว

สำหรับนวัตกรรมโปรตีนทางเลือก นั้นมีการพัฒนาอยู่ 2 ทาง คือ การสกัดโปรตีนจากพืช (Plant-based) และการสกัดโปรตีนจากแมลง หรือ การสกัดโปรตีนที่มาจากเซลล์สัตว์

ปัจจุบัน จุฬาฯ สามารถทำเนื้อวากิวจากพืช โดยใช้ 3D Printing ที่มีลายหินอ่อน มีลายเป็นชั้นไขมันแทรก ซึ่งทาง NIA กำลังจะติดต่อเข้าไปเพื่อดูว่าจะร่วมมือในเรื่องใดกันได้บ้าง

สำหรับปัจจัยด้านราคาของ Plant-based ดร.สุรอรรถ ให้ความเห็นว่า โปรตีนจากพืชนั้นราคาไม่สูง เพราะโปรตีนส่วนมากนั้นถูกสกัดมาจากเห็ด แต่สิ่งที่ทำให้ราคาสูง คือ ค่าการตลาด และต้นทุนการวิจัย

ปัจจุบันราคาเบอร์เกอร์เนื้อจากพีช 1 ชิ้น อยู่ที่ประมาณ 50 บาท ซึ่งอาจจะมองว่าสูงไปเล็กน้อย แต่ถ้าสตาร์ทอัพที่พัฒนา Plant-based มีบริษัทยักษ์ใหญ่เข้ามาลงทุนมากขึ้น จนเกิดการขยาย Economies of scale ซึ่งในตลาดนี้เมื่อเทียบตลาดต่างประเทศแล้ว ประเทศไทยมีรสชาติที่ดีกว่าและราคาถูกกว่า

ส่วนโปรตีนทางเลือกจากแมลง ปัจจุบันจิ้งหรีดเป็นแมลงที่ถูกพูดถึงมาก แต่ก็ยังมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งจิ้งหรีดสามารถเปลี่ยนเป็นขนมขบเคี้ยวได้ แต่อีกรูปแบบหนึ่ง คือ การนำไปอบแห้งและนำไปบดเพื่อให้ได้โปรตีนมา แต่การทำรูปแบบนี้จะมีสารแพ้ตัวอื่นที่อยู่ในผงที่ถูกบดออกมา ซึ่งคนที่แพ้สัตว์มีเปลือกอย่างกุ้งก็อาจจะแพ้จิ้งหรีดไปด้วย

NIA เดินหน้าดันไทยสู่ “ฟู้ดเทคซิลิคอนวัลเลย์” พร้อมเผย 3 นวัตกรรมต่อยอดวงการอาหาร

“การทำโปรตีนทางเลือกชนิดนี้ มีอยู่ไม่กี่บริษัทที่สามารถสกัดโปรตีนเข้มข้นออกมาได้ และขายให้กับบริษัทที่ทำเวย์โปรตีน ซึ่งยังมีราคาสูงอยู่”

ดร.สุรอรรถ กล่าวต่อว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า การสร้างโปรตีนจากเซลล์สัตว์ โดยที่ไม่ต้องเลี้ยงสัตว์ จะได้รับการสนใจมากขึ้น คนจะสามารถทำเนื้อกุ้งโดยใช้ถาดเพาะเชื้อสร้างเนื้อกุ้งขึ้นมาได้ ซึ่งปัจจุบันโปรตีนที่ผลิตมาจากเซลล์หมูหรือเซลล์กุ้ง มีบริษัทที่สิงคโปร์และฮ่องกงทำการทดลองอยู่

NIA เดินหน้าสร้างระบบนิเวศ เชื่อมโยงทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน ดันไทยสู่ฟู้ดเทคซิลิคอนวัลเลย์

จากนวัตกรรมด้านอาหารที่น่าสนใจ และมีแนวโน้มเติบโตได้ในอนาคต จะเกิดขึ้นและเป็นจริงได้นั้นจะต้องมีผู้ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงนักพัฒนาเข้ามาเจอกับนักลงทุน ซึ่ง NIA เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่พาผู้ประกอบการในโครงการ SPACE-F ไปให้ถึงฝั่งฝัน ผ่านการสร้างระบบนิเวศ สร้างเครื่องมือให้นักลงทุนที่เป็น Venture Capital (VC), Corporate Venture Capital (CVC) หรือ Angel Investor เชื่อมต่อกับนักลงทุนได้

“เรากำลังเดินหน้าสร้างเครื่องมือในการเชื่อมต่อเครือข่าย เชื่อมความสัมพันธ์ ระหว่างนักลงทุนและสตาร์ทอัพ เราเป็นสะพานเชื่อมที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเราเข้ามาช่วยเตรียมความพร้อมให้กับทั้งสองฝ่าย เรามีหลายๆ โปรแกรมเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับคนกลุ่มนี้ ทั้งในเรื่องเอกสาร การเตรียมผู้ประกอบการ เพราะไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะมีความพร้อมในการเข้าไปพูดคุย หน้าที่ของเราคือการเตรียมความพร้อมให้คนเข้าไปคุยกับนักลงทุน ผ่านโปรแกรมต่างๆ เช่น Growth Program for Startup”

ดร.สุรอรรถ เชื่อมั่นว่า ประเทศไทยเป็นเบอร์ 1 ด้านการสร้างเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ ฟู้ดเทคซิลิคอนวัลเลย์ เพราะประเทศไทยมีเสน่ห์ มีเครือข่ายและพาร์ทเนอร์ต่างๆ พร้อมเข้ามาช่วยสตาร์ทอัพขยายตัวไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ ไปจนถึงเอเชียแปซิฟิก

ภาพประกอบจาก https://unsplash.com/

Scroll to Top