เข้าสู่ปี 2565 วิกฤติโควิด-19 ยังไม่จากไปไหน แต่คนก็เริ่มปรับตัวได้มากขึ้น ออกมาใช้ชีวิตปกติมากขึ้น จนมีทีท่าว่าทุกอย่างจะค่อยๆ กลับคืนมา แต่ในระหว่างที่ทุกเหมือนกำลังจะฟื้นตัว กลับมีสงครามระหว่าง รัสเซีย – ยูเครน เข้ามา ทำให้ธุรกิจต่างๆ ต้องกลับมาวางแผนกันใหม่อีกรอบ เพราะไม่มั่นใจว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้จะลากยาวหรือไม่
และหนึ่งในบุคคลสำคัญขององค์กร คงหนีไม่พ้น ผู้นำ ที่มีภาวะผู้นำ (Leadership) พร้อมจะพาองค์กรเดินหน้าไปได้ในทุกวิกฤติ
ในมุมมองของ “สลิงชอท กรุ๊ป” ที่ได้ทำแบบสอบถามกับผู้นำองค์กรในช่วงไตรมาส 1 ปี 2565 พบว่า ผู้นำแต่ละองค์กรมีมุมมองไม่เหมือนกันในเรื่องวิกฤติสงครามยูเครน บางคนคาดว่าอาจจะไม่ยาว บางคนคาดว่าอาจจะยาว แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้นำเห็นตรงกัน คือ จะต้องปรับตัว ต้องจำลองสถานการณ์ ทำแผน และสิ่งที่สำคัญมากที่สุด คือ จะต้องจริงจังกับการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น
จากสถานกาณณ์ความขัดแย้งส่งผลให้น้ำมันแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว ยังไม่รวมกับภาวะเงินเฟ้อในอนาคตที่จะกระทบกับธุรกิจอย่างแน่นอน ซึ่งการที่ต้นทุนมากขึ้นจะทำให้กำไรน้อยลง
ขณะที่แรงงานหลายคนที่กลับบ้านเพราะถูกเลิกจ้างไปในช่วงโควิด-19 เลือกจะไม่กลับมาทำงานเดิมอีก
สิ่งที่ผู้นำทำได้ คือ จะต้องทำงานให้มีประสิทธิผลมากขึ้น หาช่องทางการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพิ่มระบบการทำงานให้เป็นอัตโนมัติ และให้คนเข้ามาทำงานในด้านกระบวนการคิด เข้ามาสร้างความแตกต่างมากขึ้น
เช่นเดียวกับ สลิงชอท ที่ได้ปรับโครงสร้างขยายธุรกิจเชิงรุกในแนวดิ่ง แตกไลน์ออกเป็น 3 ธุรกิจ ได้แก่
1.บริษัท จูปิเตอร์ (Jupiter) ดูแลบริการในภาพใหญ่ทั้งโครงสร้าง ระบบบริหารจัดการ และกระบวนการทำงานให้กับองค์กร
2.บริษัท สลิงชอท ลีดเดอร์ชิพ (Slingshot Leadership) เป็นธุรกิจในปัจจุบัน จะดูแลการพัฒนากลุ่มผู้นำ
3.บริษัท วีวัน (V-One) ดูแลบริการในกลุ่มคนทำงาน
โดยทั้ง 3 บริษัทจะเข้ามาตอบโจทย์ผู้นำและพนักงานในองค์กร ให้สามารถขับเคลื่อนไปได้เร็วขึ้นในความไม่ชัดเจนและความไม่แน่นอนในอนาคต
“เพราะอนาคตมันไม่แน่นอนและไม่ชัดเจน นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องแตกสายธุรกิจออกเป็น 3 ธุรกิจ โดยที่เราไม่ได้พึ่งพิงธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง ซึ่งการที่แต่ละธุรกิจจะอยู่รอดได้ จะต้องตอบสนองลูกค้าให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี” ดร.สุทธิโสพรรณ ช่วยวงศ์ญาติ หุ้นส่วนและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มสลิงชอท กล่าว
นอกจากนี้กลุ่มสลิงชอท ยังแนะนำเทรนด์ ที่ผู้บริหารให้ความสนใจเพื่อการพัฒนาบุคลากร โดย 3 เทรนด์ ที่น่าจับตามองมีดังนี้
1.การพัฒนาภาวะผู้นำ
เรื่องแรก คือ การโน้มน้าวและจูงใจคน ไม่เฉพาะเจาะจงกับคนที่มีลูกน้อง เพราะปัจจุบันพนักงานต้องทำงานแบบรีโมทมากขึ้น องค์กรจะต้องพยายามหาเครื่องมือที่เข้ามาช่วยกระตุ้นและจูงใจคนให้รู้สึกอยากทำงานมากขึ้น
เรื่องที่ 2 คือ สกิลการเป็นผู้นำร่วม คือ ดึงให้ทุกคนในองค์กรมาร่วมเป็นผู้นำ ซึ่งพบว่าปัจจุบัน หลายองค์กรเริ่มสอนให้พนักงานมีภาวะผู้นำตั้งแต่พนักงานระดับล่าง
เรื่องที่ 3 คือ กลยุทธ์การปรับเปลี่ยนที่รวดเร็ว คือ จะทำอย่างไรให้คนในองค์กรช่วยกันหาสิ่งใหม่ๆ บริการใหม่ๆ เข้ามาเสริมหรือทดแทนธุรกิจที่ทำอยู่ได้
2.การมีสุขภาพที่ดี
Emotional Wellness เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและสัมพันธ์กับ Physical Wellness เพราะเมื่อพนักงานพักผ่อนน้อย ก็จะทำให้วันต่อไปทำงานได้น้อยลง
หลายองค์กรอยากให้คนมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น จากการทำงานแบบรีโมท ทำให้เกิด Human Moment น้อยลง พนักงานมีความเครียดมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในการพัฒนา Leadership Sustainability องค์กรต้องสร้างให้ผู้นำแข็งแรง ซึ่งสลิงชอท เรียกว่า Leadership wellness
“หมดยุคแล้วที่จะให้พนักงานทำงานแบบไม่ได้พักผ่อน เพราะองค์กรรู้ว่าถ้าพนักงานแข็งแรง องค์กรก็จะผ่านวิกฤตไปได้”
3.สร้างจุดแข็งให้พนักงาน
หลายองค์กรพยายามที่จะค้นหาจุดแข็งของพนักงาน และมองว่าคนเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุด แต่ยังใช้ได้ไม่เต็มศักยภาพ
ซึ่งการใช้จุดแข็งเข้ามาช่วยการทำงาน จะทำให้พนักงานอยากมีส่วนร่วมกับงานมากขึ้น และยังลดอัตราการหมดไฟ ถอดใจ หรือไม่กล้าที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายที่ยากขึ้นขององค์กร
ภาพประกอบจาก unsplash