มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) เดินหน้าพัฒนามหาวิทยาลัยให้เกิดงานวิจัยระดับแนวหน้าของโลก หรือการเป็นมหาวิทยาลัยกลุ่ม 1 ตามแนวทางของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยการปรับโครงสร้างให้สอดรับกับสิ่งใหม่ๆ เช่น ด้านดิจิทัล รวมถึงการนำคนหลากหลายกลุ่มเข้ามาทำงานร่วมกันมากขึ้น
จากการร่วมโครงการ Reinventing กับ อว. โครงการแรกที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำคือ การสร้างความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัย เพื่อยกระดับความเป็นสากลมากขึ้น ผ่านการพัฒนาหลักสูตรใหม่ๆ ที่รองรับนักศึกษารุ่นใหม่ พัฒนาบุคลากร รวมถึงการสร้างงานวิจัยผ่านความร่วมมือของนักวิจัยไทยและต่างประเทศอีกด้วย
–CMMU ชี้เทรนด์การตลาดใหม่ “NOSTALVERSE” แบรนด์เก่าได้เปรียบจากผลพวงความเครียดโควิดนานเกินไป
–WIRTUAL อนาคตของการออกกำลังกายที่มีแต่ได้ “Exercise to Earn”
โฟกัส 5 เรื่องจาก 5 วิทยาเขต
ผศ.ดร.เถกิง วงศ์ศิริโชติ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สอนทุกอย่างและสอนทุกเรื่อง แต่ก็มีโฟกัสเป็นของตัวเอง ถ้ามองในเชิงพื้นที่ มอ. อยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัด ตั้งแต่ สงขลา ปัตตานี ตรัง ภูเก็ต และ สุราษฎร์ธานี ซึ่งแต่ละวิทยาเขต มียุทธศาสตร์ ที่แตกต่างกันไป เช่น
-ภูเก็ต โฟกัสเรื่อง Hospitality Management โครงการภูเก็ต Sandbox ที่นำเสนอรัฐบาลก็มาจากการที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เข้าไปวิเคราะห์ข้อมูลเก่าๆ ที่คนพูดถึงภูเก็ต ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือการเพิ่มคุณภาพของการท่องเที่ยว
-สุราษฎร์ธานี มีโครงการเรื่อง Digital Science for Agriculture เริ่มต้นจากการปลูกปาล์มพันธุ์ใหม่ๆ แต่เมื่อมีการพูดถึงสินค้าที่เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย จึงหันมาทำเรื่องปลากระพงขาวที่ประเทศไทยส่งออกมาก แต่ก็มีขยะที่เกิดจากการเลี้ยงมากเช่นกัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงทำเป็นโครงการ Zero Waste โดยใช้ระบบ IoT ทำ Smart Farming ซึ่งปลามีอัตราการรอดมากกว่า 85% ทำให้ประเทศญี่ปุ่นอยากเข้ามาดูงานในประเทศไทย เข้ามาแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี
-สงขลา จะดูเรื่อง Medical Science คนที่ลงเรียนวิชา Data Science ก็จะได้เรียนการวิจัยด้าน Medical กับ Data Analytic
-ตรัง ดูเรื่อง Management เรียนการท่องเที่ยวที่เป็น Multicultural
-ปัตตานี จะเป็นด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ที่ปัตตานีมีหลักสูตรที่เรียนเรื่องอิสลาม มีนักเรียนที่มาจากแอฟริกามาเรียน เพราะอิสลามนั้นมีหลายแบบ ซึ่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์พยายามทำให้คนเข้าใจในหลักที่ถูกต้องที่สุด
“ซึ่งการโฟกัส ทั้ง 5 เรื่องนี้เกิดจากความร่วมมือของอาจารย์จากทุกวิทยาเขต จะเห็นว่าเราไม่ต้องการให้ 5 วิทยาเขตแข่งกันเอง แต่ต้องการให้ทำงานร่วมกัน“
ตั้งโจทย์จากการแก้ปัญหาพื้นที่
ผศ.ดร.เถกิง กล่าวว่า การที่ มอ. เป็นมหาวิทยาลัยภูมิภาค จะมีข้อด้อยกว่ามหาวิทยาลัยส่วนกลาง มีสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างจากมหาวิทยาลัยในเมือง มีโจทย์วิจัยในการแก้ปัญหาพื้นที่มาก เพราะฉะนั้นต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้บุคลากรพัฒนาตนเองได้ มี Soft Power ในความเป็นนานาชาติ เพื่อผลักดันมหาวิทยาลัยไปสู่ระดับสากลมากขึ้น
เช่น เรื่องการท่องเที่ยว ในเขตพื้นที่ของตรังและปัตตานี ถ้าคนจะเรียนการท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Multicultural) ก็จะต้องมาเรียนที่นี่ ซึ่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กำลังบูรณาการหลักสูตรในการเรียนข้ามวิทยาเขต เช่นนักศึกษาที่เรียนท่องเที่ยวที่ภูเก็ต สามารถข้ามไปเรียนที่ปัตตานี 1 เทอม
ด้านหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ที่สนับสนุนด้านฮาลาล จะต้องทำให้คนเชื่อมั่นว่าการพยาบาลนั้นถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม สามารถเรียนได้ที่หาดใหญ่และปัตตานี ซึ่งที่ปัตตานีนั้นจะมีความพิเศษ คือเด็กจะต้องเรียนภาษาอาหรับ
“ภาคใต้มีความแข็งแกร่งเรื่อง Multicultural เพราะฉะนั้นหลักสูตรจึงปรับให้มีอัตลักษณ์เหล่านี้เข้าไป”
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนสนใจเข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คือ การสร้าง International Standard ที่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ใช้ช่องทางในการจับมือกับพาร์ทเนอร์ต่างประเทศที่มีมาตรฐานอยู่แล้ว และทำหลักสูตรร่วมกัน นักศึกษาก็จะได้ปริญญาจาก มอ. และได้ใบรับรอง (Certificate) จากหลักสูตรต่างประเทศด้วย เป็น Double Degree
ซึ่งมีหลักสูตรหนึ่งที่เริ่มทำแล้ว คือด้านเกษตรกรรมที่จับมือกับมหาวิทยาลัยปราก สาธารณรัฐเช็ก เป็นหลักสูตรปริญญาโท ซึ่งนักศึกษาก็จัดเรียงที่ไทย 1 ปีและไปเรียนที่ปราก 1 ปี
ใช้ “นานาชาติ” เป็นแกนกลางพัฒนางานวิจัย การเรียนการสอน
ผศ.ดร.เถกิง กล่าวว่า ในสมัยก่อนมหาวิทยาลัยจะมองว่า “งานวิจัย กับ วิชาการ” เป็นแกนกลาง แต่ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเปลี่ยนให้ความ “นานาชาติ” เป็นแกนกลาง และนำเรื่องวิจัยกับวิชาการมาประกอบร่าง และลงเงื่อนไขเพิ่มไว้ในโครงการ Reinventing ว่า ถ้าจะทำวิจัยจะต้องมีผู้ร่วมวิจัยเป็นชาวต่างชาติด้วย
“เราคงจะได้ยินคำว่างานวิจัยขึ้นหิ้ง ไม่เคยได้นำเอาไปใช้ ซึ่งวิธีการที่จะถูกนำออกไปใช้คือ การมีคนนอกเข้ามาร่วมด้วยตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้นตอนที่เราเริ่มโครงการนี้ เราจึงตั้งเงื่อนไขว่าให้มีนักวิจัยต่างชาติเข้ามาร่วมด้วยกับทุกงานวิจัย หลังจากตั้งโครงการนี้ไป ปัจจุบันมีโครงการงานวิจัยถึง 50 งานวิจัยในปีเดียว”
จุดที่น่าสนใจ คือ เมื่อมีคนต่างชาติเข้ามา มหาวิทยาลัยก็ต้องปรับระบบ เพราะก่อนหน้านี้การจ้างนักววิจัยจากต่างประเทศมีความยุ่งยากเพราะมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นระบบราชการ
มหาวิทยาลัยแก้ปัญหาด้วยการปรับเป็นการเซ็นสัญญาแบบเอกชน โดยให้ทำงานแบบ Double Appointment คือให้อาจารย์ต่างชาติทำงานอยู่ที่เดิม และทำงานกับเราด้วย สำหรับค่าจ้างนั้นให้อาจารย์ต่างชาติ ไปตกลงกับทางหัวหน้าโครงการ โดยมีเงื่อนไขว่างานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ออกมาจะต้องมีชื่อของอาจารย์จากประเทศไทย และอาจารย์จากต่างประเทศคู่กัน
“เมื่อนักวิชาการเข้ามาอ่านงานวิจัยก็จะเห็นว่าโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ”
สำหรับด้านการเรียนการสอน เมื่อนำความเป็น “นานาชาติ” เป็นแกนกลาง การเรียนการสอนทั่วไปก็จะเข้ามาเชื่อมต่อ สิ่งที่เพิ่มขึ้นมา คือ เมื่อนักศึกษาเรียน Coursera (แพลตฟอร์มรวมคอร์สเรียนออนไลน์) จบหลักสูตรจะต้องเทียบเกรดได้ เพราะได้เรียนกับอาจารย์ระดับโลก ซึ่งบางคอร์สที่เด็กทั้งคณะลงเรียนก็มีอาจารย์ร่วมเรียนด้วย
ซึ่งจะทำให้อาจารย์ทำงานหนักขึ้น เพราะเนื้อหาที่ประเด็นที่สอนในคอร์สออนไลน์อาจจะแตกต่างกับที่สอนในมหาวิทยาลัย ทำให้เกิดการพัฒนาในเชิงคุณภาพของนักศึกษาและผู้สอน
เดินหน้าสู่ความเป็นสากล
ผศ.ดร.เถกิง กล่าวว่า มอ. ยังเดินหน้าเรื่องการเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ เพราะถูกตั้งเป็นมหาวิทยาลัยกลุ่ม 1 ซึ่งจะต้องก้าวสู่ความเป็นสากลมากขึ้น โดยมีแผนสนับสนุนด้วยงบประมาณของมหาวิทยาลัย รวมกับงบประมาณของ อว.
สำหรับการเรียนออนไลน์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สนับสนุนให้คนเรียนออนไลน์ทั้งนักศึกษาและบุคลากร ปัจจุบันมีคนเเรียนออนไลน์อยู่ในระบบประมาณ 500 คน
โครงการที่จะเดินหน้าในปีถัดไป คือ โครงการ Visiting Professor ที่จะทำในรูปแบบ Hybrid คือมีทั้ง Onsite และ Online ส่วนที่ 2 คือการจัดสัมมนาระดับโลกให้เกิดการยอมรับจากต่างประเทศ นอกจากนี้จะยังมีการจัดการเรียนการสอนกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก
“เราโชคดีที่บุคลากรของเรารับไอเดียกับสิ่งที่เราต้องการจะทำ คนของเรามีแนวความคิดที่เป็นนานาชาติ”