สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จับมือ สมาคมศิษย์เก่า สจล. และ บริษัท ธัญเทพ ฟู้ดส์ จำกัด ดึงมือนักวิชาการ 3 สาขา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการเกษตร และอุตสาหกรรมอาหาร รุดยกระดับ “ธุรกิจกัญชง” ให้ได้คุณภาพและถูกกฎหมาย ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ดีต่อสุขภาพ ครอบคลุมอาหาร เครื่องดื่ม และนวัตกรรมยารักษาโรค
พร้อมเตรียมเปิด “แซนด์บ็อกซ์” เพื่อการวิจัยและพัฒนาพืชกัญชงที่เกิดประโยชน์ต่อสังคม เปิดโอกาสให้นักศึกษา-ศิษย์เก่าเข้ามาเรียนรู้และต่อยอดเป็นธุรกิจ ฯลฯ สู่การผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางพืชเศรษฐกิจใหม่ นับเป็นการตอกย้ำความเป็นเจ้าแห่งนวัตกรรมอย่างแท้จริง
–ดีพร้อม จับมือ GC ปั้นไบโอพลาสติกสู่เชิงพาณิชย์ ผลิตงานวิจัยใช้กากกัญชง ลดขยะอุตสาหกรรม
–TIHTA เตรียมจัดงาน “กัญชง – กัญชานานาชาติ 2022” ปูทางสู่ฮับ – บุกตลาดโลก
รองศาสตราจารย์ อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ รักษาการแทนอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เผยว่า สจล. พร้อมด้วยสมาคมศิษย์เก่า สจล. และ บริษัท ธัญเทพ ฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสารสกัดจากพืชสมุนไพรทุกชนิด ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อยกระดับ ‘ผลิตภัณฑ์กัญชง’ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ผ่านการสนับสนุนองค์ความรู้ทางวิชาการจากนักวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านพืชกัญชง 3 คณะ ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร และคณะอุตสาหกรรมอาหาร สู่การผลักดันให้เกิดทรัพย์สินทางปัญญาใหม่ขึ้น อันจะสร้างรายได้ให้แก่วิสาหกิจชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ในอนาคต หลังจากประกาศปลดล็อกกัญชา-กัญชง จากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา มีผลให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชา กัญชงได้ในครัวเรือนและในเชิงพาณิชย์ ขณะที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสุขภาพเพื่อจำหน่ายจะต้องผ่านการขออนุญาตเท่านั้น
อย่างไรก็ดี การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาด้านงานวิจัย และสะท้อนถึงความเชี่ยวชาญของนักวิจัย สจล. ในหลากมิติ ที่พร้อมสนับสนุนการพัฒนาและถ่ายทอดทุกองค์ความรู้แก่หน่วยงานภายนอก ทั้งภาครัฐหรือเอกชน อันนำไปสู่การพัฒนางานวิจัยที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย พร้อมทั้งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน นับเป็นตอกย้ำวิสัยทัศน์ของการเป็น The World Master of Innovation ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังอย่างแท้จริง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กฤษฎา บุศรา อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ สจล. และผู้แทนโครงการฯ ได้กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า จากจุดแข็งของ สจล. ที่มีพร้อมด้วยนักวิชาการ นักวิจัย รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญที่สนใจศึกษาวิจัยถึงคุณสมบัติของพืชกัญชง ซึ่งพร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับนักศึกษา และภาคอุตสาหกรรมเพื่อนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ แต่ทั้งนี้กลับพบว่ายังขาดการเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอกที่พร้อมให้การนับสนุนพื้นที่ทดสอบงานวิจัย (R&D Sandbox)
ดังนั้น การลงนามความร่วมมือกับ บริษัท ธัญเทพ ฟู้ดส์ จำกัด โดยมี สมาคมศิษย์เก่า สจล. เป็นผู้ประสานงานกลาง นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนา “ผลิตภัณฑ์กัญชง” ให้ได้คุณภาพ และถูกกฎหมาย ผ่านการใช้ประโยชน์จากห้องแล็บของบริษัทฯ ในการพัฒนางานวิจัย ที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังเปิดพื้นที่ให้พื้นที่ศิษย์เก่าที่สนใจแต่ขาดเครือข่ายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาได้ โดยมุ่งหวังให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นศูนย์กลางวิจัยพืชเศรษฐกิจใหม่ อย่างไรก็ตาม สจล. ยังได้พัฒนาบิ๊กเดต้า (Big Data) เพื่อเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถออกใบรับรองและสะดวกต่อการสืบค้นข้อมูลงานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน สุธี ธนนันท์ศิริ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ธัญเทพ ฟู้ดส์ จำกัด ได้กล่าวถึงการลงนามความร่วมมือในครั้งไว้ว่า บริษัท ธัญเทพ ฟู้ดส์ จำกัด เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจด้านอาหาร เครื่องดื่ม และยาที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากสมุนไพร มีความตั้งใจในการต่อยอดพืชกัญชงให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ได้คุณภาพตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้ให้การสนับสนุนสถานที่ อุปกรณ์ รวมถึงบุคลากรที่บริษัทฯ ในการพัฒนากระบวนการทั้งหมดในเชิงวิชาการ การวิเคราะห์ วิจัยและพัฒนาให้สมบูรณ์ นับตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ด้วยการนำกัญชงที่ผ่านกระบวนการสกัดสารแคนนาบินอยด์ (CBD) ที่มีคุณภาพจากโรงงาน มาต่อยอดในผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม และยา
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมุ่งขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตของเกษตรกรภายในชุมชนโดยรอบ ด้วยการจับมือ สจล. ลงพื้นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่วิสาหกิจชุมชน นับตั้งแต่การปลูกและสกัดกัญชงที่มีคุณภาพ การใช้กัญชงอย่างถูกกฎหมาย ฯลฯ เพื่อสร้างเป็นรายได้ให้ชุมชนและชาวบ้าน ตลอดจนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ในอนาคต