ซันโทรี่ ประเทศไทย จับมือ TIPMSE สานต่อนโยบาย 3Rs พร้อมขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม

ซันโทรี่ ประเทศไทย จับมือ TIPMSE สานต่อนโยบาย 3Rs พร้อมขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม

ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด (ประเทศไทย)” สานต่อนโยบาย 3Rs (Reduce – Reuse – Recycle) การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ล่าสุดบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับ เครือข่าย PackBack และ TIPMSE ร่วมขับเคลื่อนตามนโยบาย BCG Economy การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ภายใต้ Circular Economy อาศัยหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility (EPR) เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนบรรจุภัณฑ์หลังการใช้งานนำกลับมาเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการ PackBack เก็บกลับบรรจุภัณฑ์…เพื่อวันที่ยั่งยืน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงความรับผิดชอบ ส่งเสริมให้เกิดการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ ด้วยกิจกรรมต่างๆ ตามหลัก EPR ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ซึ่งการสร้างองค์ความรู้และจิตสำนึกในการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างถูกวิธีเป็นกระบวนการหนึ่งใน EPR โดยในสถานศึกษาที่ต้องการดำเนินการรูปแบบธนาคารขยะ จึงมีการจัดกิจกรรมอบรม คุณครูแกนนำและนักเรียนคณะทำงานธนาคารขยะเรื่อง “การคัดแยกขยะและบรรจุภัณฑ์เพื่อรีไซเคิล”

เดอะ ฟอเรสเทียส์ เผยแนวคิด “Smart Campus” ใช้ระบบนิเวศทางเทคโนโลยี สร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน
กลุ่มบางจากฯ ลงนามร่วมกับ โครงการ ‘อาชีวะ พัฒนาพลังงานยั่งยืน’ มอบโอกาสฝึกอาชีพหลากสาขา

มธุวลี สถิตยุทธการ ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจและองค์กรสัมพันธ์ ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทยและอินโดไชน่า กล่าวว่า “ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทย สานต่อนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมจากบริษัทแม่ Suntory Group ด้วยนโยบาย 3Rs (Reduce – Reuse – Recycle) คือ การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ทั้งหมดตั้งแต่การวางแผนและการออกแบบผลิตภัณฑ์ไปจนถึงการขนส่งและการรีไซเคิลหลังการบริโภคมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการผลิตกระเช้าของขวัญที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 100% จากการใช้พลาสติกแบบ PCR (Post-consumer recycled plastics) และ PIR (Post Industrial Resin) ซึ่งเป็นพลาสติกรีไซเคิลแบบ 100% เป็นวัสดุหลักในการผลิตตัวกระเช้า เช่น หูกระเช้า หรือฐานวางผลิตภัณฑ์ เป็นต้น อีกทั้ง ผู้บริโภคยังสามารถนำกระเช้า หรือชิ้นส่วนของกระเช้ากลับไปใช้ซ้ำ (Reuse) ได้ การลดความหนาของขวดผลิตภัณฑ์ “แบรนด์” (BRAND’S) เพื่อลดการใช้วัสดุและช่วยให้น้ำหนักน้อยลง อีกทั้งยังลดการใช้พลาสติกในเซ็ตของขวัญ ปรับมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษมากยิ่งขึ้น”

“ล่าสุด บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือ TIPMSE ขับเคลื่อนตามนโยบาย BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) ภายใต้โครงการ PackBack เก็บกลับบรรจุภัณฑ์…เพื่อวันที่ยั่งยืน ซึ่งเริ่มต้นนำร่องในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ในฐานะที่บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ BRAND’S ที่มีขวดแก้วเป็นบรรจุภัณฑ์ และอยู่ในกลุ่ม High Value ที่สามารถนำกลับมาเป็นวัตถุดิบได้ บริษัทฯ ต้องการ ส่งเสริมให้เกิดการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการสร้างองค์ความรู้และจิตสำนึกในการจัดการบรรจุภัณฑ์ จึงได้ร่วมกับTIPMSE จัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้กับคุณครูแกนนำและนักเรียนคณะทำงานธนาคารขยะในจังหวัดชลบุรีเรื่อง “การคัดแยกขยะและบรรจุภัณฑ์ เพื่อรีไซเคิล” ผ่านหัวข้อการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการนำไปปฎิบัติจริง ตั้งแต่การให้ความรู้ในเรื่อง สถานการณ์ขยะ การคัดแยกขยะบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว เพื่อรีไซเคิล พร้อมมอบถังขยะรีไซเคิลให้กับโรงเรียน เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกให้ทั้งนักเรียนและคุณครูเล็งเห็นถึงความสำคัญของการแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี” มธุวลี กล่าว

พรรรัตน์ เพชรภักดี รองผู้อำนวยการใหญ่ และรักษาการผู้อำนวยการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ TIPMSE กล่าวว่า “โครงการ PackBack : Chonburi CE City Model เป็นโครงการนำร่องที่ TIPMSE ร่วมกับภาคีเครือข่ายกว่า 50 องค์กรนำหลักการ Extended Producer Responsibility (EPR) เข้ามาใช้ในการดำเนินโครงการฯ โดยกำหนดพื้นที่จังหวัดชลบุรีเป็นจังหวัดนำร่อง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีศูนย์รวบรวมบรรจุภัณฑ์ และมีความเป็นทั้งเมืองและชนบท โดยกำหนดบรรจุภัณฑ์เป้าหมายเพื่อดำเนินการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ ประกอบด้วย บรรจุภัณฑ์กลุ่ม High Value คือ บรรจุภัณฑ์ที่มีการซื้อขายทั่วไปในท้องตลาด ได้แก่ ขวดแก้ว กระดาษลัง ขวดพลาสติก (PET และ HDPE) และกระป๋องอลูมิเนียมบรรจุเครื่องดื่ม

กลุ่ม Middle Value คือ บรรจุภัณฑ์ที่มีศักยภาพในการรีไซเคิลแต่มีการซื้อขายในท้องตลาดจำกัด เช่น กล่องเครื่องดื่ม และกลุ่ม Low Value คือ บรรจุภัณฑ์ที่ยังไม่มีศักยภาพในการรีไซเคิล และไม่มีระบบการซื้อ ขายในท้องตลาดพื้นที่ เช่น Multilayer Flexible Packaging ทาง TIPMSE ได้ดำเนินกิจกรรมโครงการ Pack Back เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการสร้างองค์ความรู้และจิตสำนึกในการจัดการบรรจุภัณฑ์ทั้ง การทดลองใช้ระบบการจัดการบรรจุภัณฑ์ ที่มีการดำเนินการร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การสร้างองค์ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เพื่อให้เกิดการคัดแยกที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นทาง รวมไปถึงการสร้างระบบการจัดการ เพื่อให้เกิดการนำบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วกลับไปเป็นวัตถุดิบได้อย่างมีคุณภาพ เป็นแนวทางในการดำเนินการเพื่อเป็นต้นแบบการนำระบบ EPR ในระดับพื้นที่ขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ”

ดวงสมร ราวุธกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลวัดกลางดอนเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า “ขยะเป็นปัญหาสำคัญของจังหวัดชลบุรีที่ทางโรงเรียนก็ตระหนักถึง และมีแนวทางการแก้ปัญหาด้วยการคัดแยกขยะอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้ริเริ่มโครงการอย่างเป็นรูปธรรมประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่สามารถมารวมตัวกันทำกิจกรรมต่างๆ ได้ ครั้งนี้รู้สึกดีใจมากที่ได้เข้าร่วมโครงการ PackBack โดยมีการให้ความรู้ ปลูกจิตสำนึกให้กับเด็กๆ เห็นคุณค่าของการคัดแยกขยะและนำความรู้ที่ได้รับเป็นแนวทางไปส่งเสริมขยายผลต่อเด็กคนอื่น ซึ่งทางโรงเรียนจะนำความรู้ไปต่อยอดภายใต้กิจกรรม “ธนาคารขยะ” โดยเริ่มจากการที่ให้เด็กรู้จักประเภทของขยะและการแยกขยะที่ถูกต้อง ทำให้เด็กๆ มองเห็นมูลค่าของขยะชิ้นนั้นๆ ซึ่งเป็นการสอนเด็กทั้งในเรื่องของสิ่งแวดล้อม การออม และคุณธรรมความรับผิดชอบ

ซึ่งการส่งเสริมให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมภายใต้กิจกรรมนี้ เด็กจะได้เรียนรู้และเห็นผลการเปลี่ยนแปลงผ่านการลงมือปฎิบัติจริง ช่วยให้พวกเขานำความรู้ที่ได้รับไปสานต่อได้ง่ายขึ้น ทั้งยังสามารถส่งต่อความรู้ให้กับครอบครัว เพื่อน คนรอบข้าง และชุมชนได้อีกด้วย ก่อนหน้านี้เด็กๆ อาจจะมองไม่เห็นคุณค่าของการแยกขยะ แต่หลังจากที่ได้ทำกิจกรรมและได้เห็นว่าสมุดบัญชีมียอดเงินฝากที่มาจากขยะที่เขาแยก มันจะขยายผลต่อไปได้โดยอัตโนมัติ ในปีนี้โรงเรียนก็จะเริ่มในกิจกรรมที่เป็นชุมนุมก่อนแล้วค่อยๆ ขยายผลต่อไปยังห้องเรียน ให้เริ่มเห็นประโยชน์ของการแยกขยะมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจัดการขยะที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืนยิ่งขึ้น”

Scroll to Top