คุยกับ นาว – ภาดารี แห่ง Lightwork กับการพัฒนา RPA ตอบโจทย์ธุรกิจไทย และเป้าหมายขยายตลาดสู่ระดับโลก

คุยกับ นาว - ภาดารี แห่ง Lightwork กับการพัฒนา RPA ตอบโจทย์ธุรกิจไทย และเป้าหมายขยายตลาดสู่ระดับโลก

Lightwork เป็นบริษัทที่ยังเติบโตแม้เกิดวิกฤติโควิด-19 ใน 2 ปีที่ผ่านมา เพราะองค์กรต่างๆ เล็งเห็นถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น และ (Robotic process automation) หรือ RPA เป็นหนึ่งในโซลูชันที่เข้ามาช่วยตอบโจทย์ ในช่วงต้นของโควิด พนักงานที่ติดเชื้อต้องกักตัว ทำให้บริษัทไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้หรือทำงานได้ช้าลง การนำ RPA เข้ามาช่วย จะทำให้บริษัทยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ เพราะระบบสามารถทำงานได้โดยอัตโนมัติ และใช้คนเพียง 1-2 คนเข้ามาช่วยมอนิเตอร์ผ่าน Control Center ที่เป็นระบบออนไลน์

นาว – ภาดารี อุตสาหจิต Co-Founder and CEO แห่ง Lightwork เล่าให้ Biztalk ฟังว่า โดยพื้นฐานของ RPA จะทำงานได้เร็วกว่าคน 2-3 เท่า และยังทำงานได้ 24 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นบริษัทที่นำระบบไปใช้จะทำงานได้เร็วกว่าคู่แข่ง เช่น บริษัทประกัน จะสามารถออกกรมธรรม์ได้เร็วขึ้น เคลมได้เร็วขึ้น หรือแผนกบัญชีในบริษัทใหญ่ๆ ที่ปกติจะต้องรวบรวม Bank Statement ของธนาคารต่างๆ มาทำบัญชีทุกวัน แต่เมื่อต้องกักตัวทั้งแผนก ก็จะทำให้งานช้าไป 1-2 อาทิตย์ เพราะไม่มีคนรวบรวมข้อมูล ตรงนี้ Robot สามารถช่วยรวบรวมข้อมูล และนำมาส่งให้กับพนักงานบัญชีได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งสามารถทำงานจากที่บ้านหรือทำผ่านมือถือก็ได้

นอกจากความรวดเร็วแล้ว RPA ยังสามารถลดต้นทุนได้ และหลายครั้งที่คืนทุนได้ภายใน 6 เดือน การนำระบบไปใช้แทนคน ทำให้ธุรกิจมีต้นทุนที่ต่ำกว่าคู่แข่งในระยะยาว

บริษัทที่ไม่ได้ใช้ RPA จะทำงานช้ากว่าในทุกแง่มุม ทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ความต้องการพัฒนาระบบการจัดการของตัวเองรวดเร็วขึ้น ทำให้ลูกค้าพอใจได้มากขึ้น

“บางงานอาจจะต้องใช้คนถึง 10 คน แต่เมื่อมี RPA ก็อาจจะลดคนเหลือแค่ 2 คน หรืองานที่ต้องใช้เวลานานในการจัดการ ระบบ Automation ที่ทำงานได้ 24 ชั่วโมง ก็จะทำให้คุณทำงานนี้เสร็จได้รวดเร็วมากขึ้น และยังทำให้คนได้ไปทำงานที่เป็นประโยชน์กับองค์กรมากขึ้น เช่น งานที่ใช้สกิล การคิดวิเคราะห์ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ แทนการต้องมานั่งทำงานซ้ำๆ”

คุยกับ นาว - ภาดารี แห่ง Lightwork กับการพัฒนา RPA ตอบโจทย์ธุรกิจไทย และเป้าหมายขยายตลาดสู่ระดับโลก

Lightwork บริษัทคนไทยบริษัทแรกที่พัฒนา RPA

ผู้ให้บริการโซลูชัน RPA ในประเทศไทยส่วนมากมาจากสหรัฐฯ และยุโรป สำหรับ Lightwork ปัจจุบันยังเป็นบริษัทเดียวในประเทศไทยและเป็นของคนไทยที่ให้บริการ RPA

คุณนาว เล่าว่า ส่วนหนึ่งที่เราตัดสินใจเปิดบริษัทมาแข่งขันกับต่างชาติเพราะเราอยากให้คนไทยได้ใช้โซลูชันที่มีราคาดีกว่า ให้ธุรกิจไทยสามารถพัฒนาได้จริงผ่านการนำ Robot ไปใช้

Lightwork เริ่มต้นจากการให้บริการบริษัทขนาดใหญ่ ทำให้บริการของมีราคาสูง ขณะที่องค์กรขนาดเล็กลงมาไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะเขาอาจจะต้องการโซลูชันแค่บางส่วนเพื่อให้บริษัทลดการใช้คนได้ เราจึงปรับโซลูชันให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถเลือกเฉพาะส่วนที่ต้องการได้

นอกจากค่าบริการที่ยืดหยุ่นแล้ว ฟังก์ชันต่างๆ ยังถูกพัฒนาให้เหมาะสมกับ Localization คือ สามารถจัดการข้อมูลที่เป็นภาษาไทย หรือเชื่อมต่อจากแอปพลิเคชันที่พัฒนาโดยคนไทย รวมถึงทีมพัฒนาของเราก็อยู่ในประเทศไทยทั้งหมด ทำให้ลูกค้าสามารถติดต่อได้ง่ายโดยไม่ต้องผ่านตัวแทน และรองรับการแก้ไขปัญหาได้ตามที่ลูกค้าต้องการ

สามารถใช้ร่วมได้กับแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ องค์กรในไทยเลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็น SAP, SAP B1, Oracle หรือ Express ซึ่งบริษัทได้พัฒนาฟังก์ชันเพื่อให้เชื่อมต่อกับโปรแกรมเหล่านี้ให้ทำงานได้โดยอัตโนมัติ

สำหรับการทำ Implementation กับธุรกิจต่างๆ เพื่อลดเวลาการดำเนินงานบริษัทแก้ปัญหาโดยการทำแคตตาล็อก ที่เหมาะสมกับแต่ละอุตสาหกรรมขึ้นมาให้ลูกค้าเลือก ทำให้ลูกค้าสามารถติดตั้งระบบได้เร็วขึ้น ไม่ต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่ต้น

“การที่เราทำแบบนี้ได้ เพราะเรามีโอกาสได้ทำงานร่วมกับบริษัทในหลายอุตสาหกรรม ได้เห็นภาพใหญ่ และเห็นโครงสร้างของการบริหารข้อมูลที่แตกต่างกันในแต่ละอุตสาหกรรม”

ด้านภาครัฐเองก็หันมาใช้ RPA กันมากขึ้น ต้องการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้มากขึ้น ซึ่งก็มีหลายโครงการที่ต้องการนำ RPA เข้าไปช่วยให้บริการประชาชนรวมถึงทำงานภายในได้รวดเร็วมากขึ้น

คุยกับ นาว - ภาดารี แห่ง Lightwork กับการพัฒนา RPA ตอบโจทย์ธุรกิจไทย และเป้าหมายขยายตลาดสู่ระดับโลก

เดินหน้าขยายธุรกิจในไทย และต่างประเทศ

“เราเป็นสตาร์ทอัพที่ต้องการ Funding เรายังอยู่ในช่วงของการสร้างฐานลูกค้า แต่ก็มีแผนชัดเจนว่าจะไปถึงวันที่เราสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง บริษัทมีกำไร” นาว – ภาดารี อุตสาหจิต กล่าว

ปี 2021 ที่ผ่านมาได้ระดมทุนในรอบ Seed และในปีนี้กำลังจะระดมทุนในรอบ Pre Series A แต่ยังอยู่ในช่วงรวบรวมข้อมูลเพื่อพิจารณาว่าจะต้องใช้เงินลงทุนเท่าไรเพื่อให้เพียงพอกับการขยายธุรกิจ

คุณนาว เล่าต่อว่า ที่ผ่านมาเราพยายามอยู่ใกล้ชิดลูกค้า เป็นทั้ง Implementer และพัฒนา Product เพื่อศึกษาว่าลูกค้าต้องการโซลูชันรูปแบบใด แต่เมื่อบริษัทเติบโตก็มีปัญหาขยายทีมไม่ทัน เราจึงมองหาพาร์ทเนอร์มาเข้า Partnership Program หมายความว่า เราจะเป็นผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างเดียว และให้ System integrator (SI) ที่สนใจเข้ามานำผลิตภัณฑ์ของเราไปขายลูกค้าได้

จากความยืดหยุ่นด้านราคาและการใช้โซลูชัน ทำให้พาร์ทเนอร์สามารถเข้าถึงบริษัทได้ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็ก กลาง หรือใหญ่ รวมถึงหน่วยงานรัฐ โดยเรามีทีมสนับสนุนที่จะช่วยเทรนให้พาร์ทเนอร์เข้าใจในผลิตภัณฑ์ และสามารถไปอธิบายลูกค้าได้ รวมถึงเชื่อมต่อโซลูชันให้กับลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้เราสามารถโฟกัสกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำให้มันเก่งขึ้น โดยไม่ต้องมากังวลกับการดูแลลูกค้ามาก

สำหรับลูกค้าปัจจุบันของ Lightwork มีอยู่ 3 ประเทศ คือ ประเทศไทย สหรัฐฯ และ เวียดนาม

ซึ่งแผนในปีนี้ คุณนาว ยังตั้งเป้าขยายตลาดในประเทศไทยเป็นหลัก และวางแผนในปีหน้าจะขยายธุรกิจไปที่อินโดนีเซีย เพราะเป็นประเทศที่มีธุรกิจและประชากรมากที่สุดในอาเซียน

“เรามองว่าโซลูชัน RPA จากสหรัฐฯ หรือ ยุโรป ยังมีช่องว่างอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบริการหรือความเข้าใจในตลาดเอเชีย การที่เราเป็นบริษัทคนไทย เรามีความคุ้นเคยกับตลาดในโซนนี้มากกว่า เราสามารถตอบโจทย์ได้ดีกว่า และหากแผนขยายพาร์ทเนอร์ในประเทศไทยประสบความสำเร็จ เราก็จะนำโมเดลนี้ไปใช้ในต่างประเทศต่อไป”

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

More Meat นวัตกรรมอาหารฝีมือคนไทย เดินหน้าส่ง Plant-based Meat สู่ตลาดโลก

Scroll to Top