ส่องพื้นที่ 2,300 ไร่ รอบสถานีกลางบางซื่อ กับแผนการพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะ

ส่องพื้นที่ 2,300 ไร่ รอบสถานีกลางบางซื่อ กับแผนการพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะ

การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟในรูปแบบการสร้างชุมชนเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ในประเทศไทยนั้นมีพื้นที่อยู่หลายพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่รอบสถานีกลางบางซื่อที่มีขนาดใหญ่ถึง 2,300 ไร่ ที่ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด มีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในอนาคต สามารถเชื่อมต่อการเดินทางทั้งในกรุงเทพฯ และการเดินทางออกไปต่างจังหวัด นอกจากนี้การเดินทางในพื้นที่ยังสามารถเชื่อมต่อกับที่อยู่อาศัย สำนักงาน คอมมูนิตี้มอลล์ หน่วยงานภาครัฐ ศูนย์การดูแลสุขภาพ โรงเรียน และพื้นที่สีเขียว ได้อย่างไร้รอยต่อ

ไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล กรรมการบริษัทและรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด กล่าวกับ BiztalkNews ว่า สถานีกลางบางซื่อถือว่าเป็นจุดศูนย์กลางขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ที่เชื่อมต่อการเดินทางไปในที่ต่างๆ ทั้งรถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟเชื่อมสนามบิน รถไฟความเร็วสูง หรือมองว่าเป็นการเชื่อมต่อการเดินทางในระยะใกล้และไกล นอกจากนี้ยังเชื่อมต่อกับหัวลำโพงที่เป็นศูนย์กลางการเดินทางระยะสั้นในกรุงเทพฯ

ในอนาคตคนที่จะเดินทางจะต้องมาเริ่มต้นที่นี่ เป็นศูนย์กลางการเดินทางของคนกรุงเทพฯ และคนต่างจังหวัด พื้นที่รอบๆ บริเวณนี้จะต้องรองรับการเดินทางของคนมากขึ้น คาดว่าจะมีคนเดินทางผ่านในแต่ละวันไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นคน

ส่องพื้นที่ 2,300 ไร่ รอบสถานีกลางบางซื่อ กับแผนการพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะ

สร้างระบบนิเวศ สู่เมืองอัจฉริยะ

สำหรับแผนการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีกลางบางซื่อทั้ง 2,300 ไร่ นั้นเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่น โดยร่วมกันศึกษาการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ สร้างให้เป็นชุมชนมากขึ้น โดยมีองค์ประกอบตั้งแต่ อาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย โครงการมิกซ์ยูส หน่วยงานรัฐ โรงพยาบาล โรงเรียน ขณะเดียวกันจะต้องมีพื้นที่สีเขียว

ไตรทิพย์ กล่าวว่า การวางระบบให้ตอบโจทย์การสร้างเมืองอัจฉริยะ ต้องเข้าใจไลฟ์สไตล์และความต้องการของคนบริเวณนั้น เข้าใจจุดเด่นและจุดด้อยของพื้นที่ว่าเหมาะสมกับอะไร จากนั้นถึงจะลงมือวางแผนพัฒนาเพื่อตอบโจทย์คนในพื้นที่ ขณะเดียวกันจะต้องดึงดูดคนจากพื้นที่อื่นให้อยากเดินทางมาในพื้นที่นี้ด้วย

ซึ่งการออกแบบในแต่ละพื้นที่จะต้องมีจุดเด่นที่แตกต่างกันเพื่อไม่ให้เกิดการทับซ้อนและแข่งขันกันเอง นอกจากนี้ ยังต้องทำงานโดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ตั้งแต่ต้น จะช่วยทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น

“เอสอาร์ที แอสเสท” ปรับโฉมรัฐวิสาหกิจ สู่การทำงานแบบ Smart Office

“เราจะต้องวางผังของพื้นที่กันใหม่หมด เพื่อให้สอดรับกับการเดินทางภายในพื้นที่ แต่ด้วยความที่พื้นที่รอบสถานีกลางบางซื่อมีขนาดใหญ่มาก จึงต้องวางแผนพัฒนาออกเป็นเฟส โดยเริ่มจากพื้นที่ใกล้กับตัวสถานีกลางบางซื่อก่อนและค่อยๆ ขยายออกไป ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว”

พัฒนาพื้นที่รอบสถานี สร้างเศรษฐกิจประเทศ

การเดินทางทางรางนั้นเป็นวิธีที่ค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด โดยเฉพาะภาคการขนส่งนั้นถือว่าเป็นประโยชน์สูงสุดกับการทำธุรกิจ สำหรับการขนส่งคนถือว่าได้เปรียบกว่าการขับรถบนถนน แต่การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีนั้นหลายคนคงสงสัยว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ในมิติใดบ้าง

ไตรทิพย์ ตอบในประเด็นนี้ว่า ในเชิงเศรษฐกิจจะเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับประชาชน เกิดการจับจ่ายในพื้นที่ และยังรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ที่ต้องการเดินทางต่อไปยังจุดอื่นๆ ของกรุงเทพฯ ได้อย่างสะดวก

นอกจากนี้ยังสร้างความสะดวกสบายในการเดินทางกับประชาชน รวมถึงสร้างความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งในคอนเซ็ปต์ที่ออกแบบจะเน้นการสร้างพื้นที่สีเขียว เน้นการใช้พลังงานสะอาด ทำให้คนในชุมชนบริเวณนี้จะมีพื้นที่ใหม่ๆ ที่ไม่สร้างมลภาวะ

ซึ่งการพัฒนาพื้นที่เพื่อให้สอดคล้องกับการเดินทาง มีศูนย์กลางการเดินทาง (Hub) หลายๆ จุดทั่วประเทศไทย ให้คนสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก ขณะเดียวกันในแต่ละจุดก็มีที่พัก ก็จะสร้างเศรษฐกิจให้คนในพื้นที่มีอาชีพ มีรายได้

“ทั้งหมดนี้เกิดจากการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้เกิดประโยชน์ ซึ่งเรามั่นใจในศักยภาพของพื้นที่ของการรถไฟ เราเชื่อว่าพื้นที่มีศักยภาพมากพอจะสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนในบริเวณนั้นๆ ได้” ไตรทิพย์ กล่าวปิดท้าย

Scroll to Top