สกสว. เปิดเวทีแจงงบสนับสนุนงานวิจัยปี 67 เร่งเครื่องยกระดับไทยพร้อมแข่งขัน

สกสว. เปิดเวทีแจงงบสนับสนุนงานวิจัยปี 67 เร่งเครื่องยกระดับไทยพร้อมแข่งขัน

สกสว. เปิดเวทีชี้แจงแนวทางการจัดทำคำของบ ววน. ปี 67 เชิญชวนประชาคมวิจัยสร้างความเข้าใจร่วมกัน พร้อมเปิดรับคำขอของหน่วยงาน เดินหน้าพลิกโฉมประเทศ ยกระดับการแข่งขันทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม วางเป้าดันไทยเป็นผู้นำเทคโนโลยี ติดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลกและดัชนีความยั่งยืน 35 อันดับแรกของโลก พร้อมโชว์ผลงานวิจัยแก้ปัญหาวิกฤติชาติ

ศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุมชี้แจงเป้าหมายการสนับสนุนงานมูลฐาน และแนวทางการจัดทำคำของบประมาณของหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยแนวทางกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) พ.ศ. 2566 – 2570 ได้กำหนดทิศทางในการพัฒนาให้สอดคล้องกับเป้าหมายพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นนโยบายที่เป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของประเทศ มีเป้าหมายที่ชัดเจน เก่งในบางเรื่องที่สำคัญ โดยใช้การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นเครื่องมือในการพัฒนา ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและความสามารถในการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน พร้อมกับการบูรณาการข้ามศาสตร์ ข้ามกระทรวง และการพลิกโฉมระบบที่สำคัญ

ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังเศรษฐกิจเริ่มผ่อนคลาย

ทั้งนี้ แผนดังกล่าวยังให้ความสำคัญกับการนำวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้มีศักยภาพต่อการเปลี่ยนแปลง โดยมุ่งเน้นให้คนไทยมีสมรรถนะและทักษะสูง เพื่อให้เพียงพอต่อการยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่มีคุณค่าและสร้างสรรค์ รวมถึงสามารถพัฒนาสังคม เพิ่มความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานรากและการพึ่งพา สามารถแก้ปัญหาท้าทาย และปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างยั่งยืน

“อย่างไรก็ดี ตลอดการจัดสรรงบประมาณมีงานวิจัยที่สามารถนำมาต่อยอด สร้างศักยภาพประเทศอย่างมากมาย ได้แก่ ด้านการแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศ: กรณีโควิด-19 อาทิ

1) ชุดตรวจ “COVITECT-1” ด้วยวิธี Real-Time RT-PCR
2) เครื่องช่วยหายใจอัตราไหลสูง (High Flow Nasal Cannula – HFNC)
3)
ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสารสกัดกระชายขาว
4) ชุดตรวจ SARS-CoV-2 ด้วยวิธีแลมป์เปลี่ยนสี (RT-LAMP)

ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์แล้วกว่า 300 ล้านบาท และมูลค่าเชิงสังคมที่สร้างผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 5 เท่า ในช่วงปี 2564-2565 ที่ผ่านมา ด้านการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำ และการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม อาทิ

1) การยกระดับศักยภาพและขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจของวิสาหกิจชุมชน ด้วยการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสม สามารถสร้างรายได้ในปี 2564 ให้แก่โรงงานชุมชนเฉลี่ย 13,625 บาทต่อเดือน หรือประมาณ 170,000 บาทต่อปี โดยนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่กว่า 33 จังหวัด
2) พลังเกษียณสร้างชาติ: ระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาทักษะงานในยุคดิจิทัลสำหรับผู้สูงวัยและระบบสนับสนุนเชิงเทคนิคของคนรุ่นใหม่สู่การนำไปใช้ที่ยั่งยืน มีผู้สูงอายุเข้าร่วมโครงการฯ รวมทั้งสิ้น 6,688 คน จาก 17 พื้นที่ในภาคเหนือ สามารถเพิ่มทักษะดิจิทัลในการสร้างช่องทางขายออนไลน์ประมาณ 3,000 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน
3) การศึกษาการกระจายตัวและแหล่งปนเปื้อนเชื้อก่อโรคและเชื้อดื้อยาในแหล่งน้ำ ช่วยประหยัดงบประมาณในการจัดการคุณภาพน้ำและน้ำเสียได้ประมาณร้อยละ 10 หรือคิดเป็นมูลค่า 215 ล้านบาทต่อปี เป็นต้น

ด้านการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเน้นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมทั้งยกระดับการพึ่งพาตนเองในระดับประเทศ อาทิ

1) เทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตมะม่วง ตลอดจนการแปรรูป ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกด้วยเครื่องขุดเจาะหลุมปลูกแทนการใช้แรงงาน สามารถลดต้นทุนได้ถึงหลุมละ 15 บาท
2) การปรับปรุงและคัดเลือกพันธุ์กัญชงเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และผลิตสินค้าจากเส้นใยกัญชง สามารถสร้างรายได้จากการปลูกกัญชงประมาณ 10,000 – 15,000 บาทต่อไร่
3) การพัฒนานวัตกรรมเพื่อการผลิตและเพิ่มมูลค่ามังคุดเชิงพาณิชย์ ช่วยลดระยะเวลาในการดูแลสวนของเกษตรกรจากเดิมใช้เวลา 7 วันในแต่ละแปลง เหลือเพียง 30 นาที

ด้านการพัฒนากำลังคน ยกระดับสถาบันความรู้ และระบบนิเวศด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อาทิ

1) การพัฒนาเซ็นเซอร์เคมีไฟฟ้าแบบใหม่เพื่อประเมินการรักษาโรค รูมาตอยด์ด้วยยาซัลฟาซาลาซีน ช่วยลดข้อจำกัดในการเข้าถึงการตรวจวิเคราะห์ปริมาณยาซัลฟาซาลาซีนในเลือดของผู้ป่วย ซึ่งคาดว่ามีอยู่ประมาณ 180,000 คนทั่วประเทศ
2) การขยายผลจัดสร้างกำแพงกันกระสุนด้วยบล็อกประสานเพื่อใช้ในฐานปฏิบัติการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรูปแบบเว็บแอปพลิเคชัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้แจ้งเหตุฉุกเฉินหรือเตือนภัยต่าง ๆ ในพื้นที่ได้อย่างสะดวกมากขึ้น

รองศาสตราจารย์ ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า งานประชุมชี้แจงปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจในการยื่นคำของบประมาณของหน่วยงานในระบบ ววน. ให้พร้อมก้าวสู่อนาคต โดยร่วมระดมพลังสมองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเสนอคำของบประมาณ เพื่อมุ่งพลิกโฉมให้ประเทศยกระดับความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ด้วยกำลังคนที่มีผลิตภาพและศักยภาพสูง ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม โดยตั้งเป้าผลักดันให้ประเทศไทยมีอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index) อยู่ใน 35 อันดับ และมีอันดับดัชนีความยั่งยืน (SDG Index) ที่สูงขึ้น อยู่ใน 35 อันดับแรกของโลก

Scroll to Top