รฟม. ชี้แจงข้อเท็จจริง เรื่อง การดำเนินการคัดเลือกเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
ตามที่ มีนักวิชาการ (อดีตนักการเมือง) ได้ให้ข่าวเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เรื่องการกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้ายื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งใช้ดุลพินิจที่บิดเบือน ไม่เป็นกลาง และใช้ดุลพินิจบนฐานมุมมองของเอกชนรายใดรายหนึ่ง โดยไม่สนใจข้อชี้แจงใดๆ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สร้างความเสียหายต่อ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) นั้น รฟม. ขอชี้แจงดังนี้
- การกำหนดคุณสมบัติทางด้านเทคนิค ประสบการณ์ และผลงานการก่อสร้างงานโยธา โดยกำหนดให้ใช้ผลงานที่แล้วเสร็จและเป็นผลงานที่ดำเนินการในประเทศไทย เนื่องจาก “งานก่อสร้างงานโยธาโครงการเป็นลักษณะที่รัฐให้เอกชนลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธาไปก่อนแล้วจึงชำระคืนภายหลัง ซึ่งเสมือนรัฐเป็นผู้ลงทุนจ้างก่อสร้างเอง” โดยมูลค่าของงานร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ มีมูลค่าสูงถึงประมาณ 128,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงานโยธาถึงประมาณ 96,000 ล้านบาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 75 ของมูลค่างาน ดังนั้น ประกาศเชิญชวนจึงได้กำหนดคุณสมบัติด้านผลงานก่อสร้างของผู้ยื่นข้อเสนอโดยคำนึงถึงความสำเร็จของโครงการโดยเทียบเคียงแนวทาง ระเบียบ และกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับการประกวดราคานานาชาติ (ICB) ที่ รฟม. ใช้ประมูลงานก่อสร้างโยธาล่าสุด คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) “ซึ่งในการยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนมีทางเลือกที่หลากหลายและเปิดกว้างในการรวมกลุ่มนิติบุคคล ซึ่งสามารถจับกลุ่มหรือหาผู้รับจ้างที่มีผลงานเพื่อใช้เป็นผลงานของผู้ยื่นข้อเสนอได้ และไม่ได้กำหนดว่าผู้ยื่นข้อเสนอรายเดียวเท่านั้นที่มีผลงานก่อสร้างงานโยธากับรัฐบาลไทยครบทั้ง 3 ประเภท จึงจะสามารถยื่นข้อเสนอได้” ซึ่งเป็นปกติของการดำเนินโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐที่ย่อมมีผู้ก่อสร้างโครงการหลายรายที่จะเข้าดำเนินการร่วมกันใน 1 โครงการ เพื่อให้แล้วเสร็จตามแผนงาน ซึ่งในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าของ รฟม. ที่ผ่านมา ก็มีผู้รับจ้างก่อสร้างจับกลุ่มในการยื่นข้อเสนอและดำเนินการก่อสร้างหลายราย ดังนั้นการที่กล่าวอ้างว่าการกำหนดคุณสมบัติดังกล่าวเป็นการไม่เปิดกว้าง ทำให้เอกชนบางรายไม่สามารถจับกลุ่มยื่นข้อเสนอได้นั้นจึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้อง
- การกำหนดคุณสมบัติด้านการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงในการคัดเลือกเอกชนครั้งนี้ ได้มีการเปิดโอกาสให้ “เอกชนผู้เดินรถจากทุกประเทศทั่วโลก ให้สามารถที่จะเข้ายื่นข้อเสนอได้ โดยอยู่บนฐานเงื่อนไขในเอกสาร RFP เช่นเดียวกัน” ดังนั้น การที่ระบุว่าบางบริษัทไม่สามารถเข้าร่วมการคัดเลือกในครั้งนี้ได้นั้น รฟม. ขอยืนยันว่า บริษัทสามารถหาพันธมิตรหรือผู้รับจ้างที่จะสามารถเติมเต็มข้อกำหนดตามประกาศเชิญชวนได้
อนึ่ง รฟม. ขอตั้งข้อสังเกต กรณีบุคคลบางท่านนำข้อมูลเพียงบางส่วนในเอกสารประกาศเชิญชวนมาใช้วิจารณ์ และคาดการณ์สถานการณ์ต่างๆ ในการยื่นข้อเสนอของภาคเอกชนนั้น ควรพิจารณานำเสนอข้อเท็จจริงให้ถูกต้องและครบถ้วน เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณชน เนื่องจากการวิจารณ์บนฐานมุมมองของเอกชนรายเดียวที่ผ่านมาตลอดโดยใช้คำว่า “ประโยชน์ของประเทศชาติ” เป็นข้ออ้าง นั้น เป็นที่น่ากังขาเกี่ยวกับความเป็นกลางในการวิจารณ์เป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ รฟม. ขอยืนยันว่า การกำหนดเงื่อนไขการคัดเลือก คุณสมบัติด้านเทคนิค ประสบการณ์ และผลงานของผู้เข้ายื่นข้อเสนอตามประกาศเชิญชวน ได้ดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน เป็นการกำหนดที่เปิดกว้าง ทำให้มีผู้ที่สามารถเข้าร่วมการคัดเลือกได้มากราย เกิดการแข่งขันที่โปร่งใส เป็นธรรม มีกระบวนการตรวจสอบจากภาคเอกชนตามระบบข้อตกลงคุณธรรม ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)