กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผนึกความร่วมมือกับ โตโยต้า ประเทศไทย ร่วมฝึกอบรมการใช้ระบบคาราคุริ ไคเซ็น ซึ่งเป็นระบบอัตโนมัติต้นทุนต่ำในภาคการผลิต เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการในการลดต้นทุนด้วยนวัตกรรมที่สามารถปรับใช้ได้งานในองค์กร สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยจัดอบรมในรูปแบบ Metaverse ซึ่งช่วยให้ผู้เข้าอบรมสามารถทดลองปฏิบัติภายใต้เทคโนโลยีเสมือนจริง ทั้งยังสามารถลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
เจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า แรงสะท้อนจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ประกอบกับมาตรการล็อคดาวน์ในจีน กระทบต่อภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับเศรษฐกิจในไทย ที่ประสบกับวิกฤตต้นทุนภาคการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงพลังงาน และต้นทุนวัตถุดิบในภาคการผลิตที่สูงขึ้น และปรากฎการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวต่ำสุดในรอบ 16 ปี ซึ่งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เฝ้าติดตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งหาแนวทางเพื่อช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ
–พาณิชย์ – DITP เปิดความสำเร็จการพัฒนาผู้ประกอบการสมุนไพรไทยด้วยโมเดล BCG
ดีพร้อม จึงร่วมมือกับ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับระบบอัตโนมัติต้นทุนต่ำของประเทศญี่ปุ่น หรือ ระบบคาราคุริ ไคเซ็น (Karakuri Kaizen) ซึ่งเป็นระบบอัตโนมัติที่ปราศจากการใช้พลังงานการเคลื่อนที่โดยปราศจากการใช้พลังงานไฟฟ้า นำมาผสานเข้ากับความรู้การปรับปรุงกระบวนการผลิตตามแนวทางของ Toyota Production System (TPS) มาใช้กับสถานประกอบการไทยผ่านเทคโนโลยี Metaverse ที่มองว่าเป็นเทคโนโลยีที่สามารถเสริมสร้างแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของวิทยากรและผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งภาคการบรรยายและภาคปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจแบบ BCG ที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน ทั้งยังเป็นการพัฒนานวัตกรรมในภาคการผลิตที่สามารถลดต้นทุนด้านพลังงาน ลดต้นทุนในการจัดซื้อนวัตกรรม รวมทั้งเป็นการฝึกฝนทักษะการแก้ปัญหาของบุคลากร ซึ่งจะช่วยพัฒนากระบวนการผลิตให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น
การอบรมดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านระบบ Metaverse โดยผู้เข้าสัมมนาสามารถฝึกปฏิบัติได้ทันทีผ่านเทคโนโลยีเสมือนจริงทั้ง 9 ฐานกิจกรรม อีกทั้งวิทยากรยังสามารถดูแลและตอบข้อซักถามของผู้เข้าร่วมอบรมได้ใกล้ชิด โดยผู้ที่เข้าร่วมสัมมนาและคณะวิทยากรสามารถอยู่ในที่ตั้งของตนเองได้ เป็นการหลีกเลี่ยงการแออัดในสถานที่ฝึกอบรมมีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้ากิจกรรมมากกว่า 50 คน