นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในครึ่งปีแรก ปตท. และบริษัทในกลุ่มทั้งในและต่างประเทศ มีรายได้ 1,685,419 ล้านบาทและมีกำไรสุทธิจำนวน 64,419 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิที่ 5% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2564 เนื่องจากราคาต้นทุนราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้น
โดยกำไรสุทธิจำนวน 64,419 ล้านบาท มาจากผลการดำเนินงานของ ปตท. คิดเป็น 24% ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลการดำเนินงานของธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ที่ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติปรับสูงขึ้นมาก และอีก 76% มาจากผลการดำเนินงานของบริษัทในเครือ ปตท. ซึ่งประกอบด้วย ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 31% ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน และบริษัทย่อยอื่นๆ 17% ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น 16% สำหรับกลุ่มธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกมีสัดส่วนเพียง 12% ซึ่งมีกำไรจากการดำเนินงานตามส่วนงานคิดเป็น 4% จากรายได้ของธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก
ที่ผ่านมา ปตท. ได้ร่วมแบ่งเบาภาระต้นทุนค่าครองชีพด้านพลังงานกว่า 17,800 ล้านบาท อาทิ สนับสนุนเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกรณีพิเศษจำนวนเงินรวม 3,000 ล้านบาท รวมถึงให้ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม (LPG) แก่ผู้มีรายได้น้อยที่เป็นร้านค้าหาบเร่ แผงลอยอาหาร ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การตรึงราคาขายปลีกช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้รถ NGV ส่วนบุคคล และผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถแท็กซี่ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จัดหาน้ำมันดิบเพื่อเพิ่มปริมาณสำรอง บรรเทาภาระต้นทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นอกจากนั้น ในภาคสังคม โครงการลมหายใจเดียวกัน กลุ่ม ปตท. ได้ให้บริการตรวจคัดกรองเชื้อโควิดไปแล้ว 138,284 คน ดูแลรักษาผู้ป่วย 13,318 คน รวมงบประมาณ 1,046 ล้านบาท โครงการลมหายใจเพื่อน้อง ช่วยเหลือเยาวชนกว่า 60,000 คน ที่เสี่ยงต่อการหลุดจากระบบการศึกษาและจัดตั้งกองทุน รวมงบประมาณ 171 ล้านบาท และโครงการลมหายใจเพื่อเมือง สนับสนุนเป้าหมายของกรุงเทพมหานคร ในการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น โดย ปตท. จะร่วมปลูกต้นไม้ 100,000 ต้น ในพื้นที่ของ ปตท. และพื้นที่ของ กทม.
นอกจากนี้ ในปี 2565 ปตท. ยังมีแผนลงทุนจำนวน 91,000 ล้านบาท เพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศและเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต ผ่านการลงทุนในธุรกิจ LNG ธุรกิจก๊าซฯและ ท่อส่งก๊าซฯ รวมทั้งการลงทุนในธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าตลอดห่วงโซ่คุณค่า การลงทุนในธุรกิจด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life science : ธุรกิจยา ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ ธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์และการวินิจฉัยทางการแพทย์) ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถเข้าถึงยาสามัญได้มากขึ้น การลงทุนในธุรกิจดังกล่าวข้างต้น นอกจากจะสร้างการเติบโตทางธุรกิจในกลุ่ม ปตท. แล้ว ยังสนับสนุนให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนสร้างงานและเพิ่มรายได้ภาคครัวเรือนในประเทศอย่างยั่งยืน