มูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ในพระสังฆราชูปถัมภ์ เผยความสำเร็จการผลิตเครื่องจ่ายออกซิเจน KMITL High Flow ครั้งแรกที่ผลิตโดยคนไทยทุกขั้นตอน ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ระดับสีเหลืองอย่างเร่งด่วนในปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเครื่องจ่ายออกซิเจน KMITL High Flow ได้รับการบริจาคจากพี่น้องคนไทยในโครงการ “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยรอด” เป็นการส่งต่อน้ำใจคนไทยสู่คนไทย ล่าสุด มูลนิธิรพ. พระจอมเกล้าฯ ร่วมมือกับ มูลนิธิเส้นด้าย ลงพื้นที่จังหวัดพะเยา มอบเครื่องจ่ายออกซิเจน KMITL High Flow จำนวน 20 เครื่อง แก่ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพตำบลจำนวน 19 ศูนย์ในจังหวัดพะเยา และ 2 เครื่อง ให้โรงพยาบาลบริเวณชายแดน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ต่อลมหายใจให้ผู้สูงอายุผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ พร้อมประกาศเร่งระดมทุนก่อสร้างโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร เพื่อต่อยอดนวัตกรรมส่งมอบโอกาสการเข้าถึงบริการทางการแพทย์กลับคืนสู่คนไทยทุกคน
–สจล. ครบรอบ 62 ปี มอบรางวัลศิษย์เก่าเกียรติยศ พร้อมเดินหน้านโยบาย The World Master of Innovation
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธาน มูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ในพระสังฆราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ นับเป็นปัญหาสำคัญของระบบสาธารณสุขไทย โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์เฉพาะทางที่มีไม่เพียงต่อความต้องการ เนื่องจากต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงมีต้นทุนสูง ส่งผลให้โรงพยาบาลและหน่วยขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลหลายแห่งขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ในการรักษา มูลนิธิรพ. พระจอมเกล้าฯ เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงมีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหา โดยให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์โดยคนไทย เพื่อให้คนไทยได้ใช้นวัตกรรมของไทย ลดการพึ่งพาต่างประเทศ เพิ่มโอกาสทางการรักษาของคนไทยทุกคน
เมื่อต้นปี 2564 ทั่วโลกเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยเอง มีผู้ป่วยโควิดระดับสีเหลืองที่มีภาวการณ์หายใจบกพร่อง และปอดอักเสบจำนวนมากกว่าสถานการณ์ปกติ ทำให้เครื่องจ่ายออกซิเจนไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือผู้ป่วย ทางมูลนิธิฯ จึงเร่งระดมทุนเพื่อผลิต “เครื่องจ่ายออกซิเจน KMITL High Flow” แจกจ่ายให้กับโรงพยาบาลสนามและโรงพยาบาลที่ขาดแคลนทั่วประเทศไปแล้วกว่า 400 เครื่อง เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 อย่างเร่งด่วน “เครื่องจ่ายออกซิเจน KMITL High Flow” เป็นเครื่องจ่ายออกซิเจนในอัตราการไหลสูง มาพร้อมระบบมอนิเตอร์ทางไกล เป็นตัวอย่างความสำเร็จในการศึกษาวิจัยพัฒนาเครื่องมือแพทย์ และเป็นครั้งแรกที่ไทยสามารถผลิตเครื่องจ่ายออกซิเจนโดยคนไทยทุกขั้นตอน ทำให้มีราคาถูกกว่าการนำเข้าถึง 3-4 เท่า เป็นประโยชน์กลับคืนสู่พี่น้องคนไทยทั่วประเทศ
“เมื่อไม่นานมานี้ มูลนิธิรพ. พระจอมเกล้าฯ ได้ร่วมมือกับ มูลนิธิเส้นด้าย ลงพื้นที่จังหวัดพะเยา บูรณาการการทำงานกับสาธารณสุขในพื้นที่ พบว่าประชาชนในจังหวัดพะเยาส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับระบบหายใจ จำเป็นต้องใช้เครื่องจ่ายออกซิเจนในการรักษา แต่หน่วยงานให้บริการทางแพทย์ในจังหวัดไม่มีเครื่องจ่ายออกซิเจนให้บริการ ดังนั้น มูลนิธิรพ. พระจอมเกล้าฯ จึงนำเครื่องจ่ายออกซิเจน KMITL High Flow มอบให้กับศูนย์ส่งเสริมสุขภาพตำบลจำนวน 19 ศูนย์ในจังหวัดพะเยา จำนวนทั้งหมด 20 เครื่อง และมอบให้โรงพยาบาลบริเวณชายแดน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน 2 เครื่อง ซึ่งเครื่องจ่ายออกซิเจน KMITL High Flow นี้ ได้รับทุนการผลิตจากการบริจาคของพี่น้องประชาชนคนไทย ภายใต้โครงการ “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยรอด” เป็นการส่งต่อน้ำใจของคนไทยสู่คนไทยทุกคน
ก้าวต่อไปของมูลนิธิรพ. พระจอมเกล้าฯ คือ การเร่งก่อสร้างโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ซึ่งจะเป็นโรงพยาบาลวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์แห่งแรกของไทยที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยี เพื่อวิจัยพัฒนานวัตกรรม และผลิตเครื่องมือแพทย์ รองรับทุกวิกฤตทางการแพทย์ของไทย พร้อมส่งมอบนวัตกรรมกลับคืนสู่คนไทยทุกคนให้เข้าถึงบริการทางการแพทย์อย่างเท่าเทียม ทั้งนี้ มูลนิธิฯ ยังต้องการทุนอีกมากในการก่อสร้างโรงพยาบาลฯ และเป็นทุนในการวิจัยพัฒนานวัตกรรม และผลิตเครื่องมือแพทย์เพื่อขยายความช่วยเหลือคนไทยในวงกว้าง จึงเชิญชวนคนไทยทั่วประเทศร่วมบริจาคก่อสร้างโรงพยาบาลฯ เพื่อประโยชน์กลับคืนสู่พี่น้องคนไทยทุกคน” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวสรุป
สำหรับผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบริจาคเงินสมทบทุนสร้างโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร โดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี มูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ในพระสังฆราชูปถัมภ์ หมายเลขบัญชี 693-0-32393-4 หากประสงค์ขอรับใบเสร็จรับเงินโปรดแจ้งและส่งหลักฐานการโอนเงินมาที่ไลน์ไอดี @kmitlhospital หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 092-454-8160 , 092-548-2640 และ 02-329-8000 ต่อ 3146 และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร พร้อมความเคลื่อนไหวกิจกรรมต่างๆ ของโรงพยาบาลได้ที่เว็บไซต์ www.kmchf-pp.org และเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/KMCHospitalbyKMITL