เดอะ อินคิวเบชัน เน็ตเวิร์ค (The Incubation Network) โครงการความร่วมมือระหว่าง SecondMuse และ The Circulate Initiative ที่สนับสนุนการแก้ปัญหามลพิษจากขยะพลาสติกด้วยการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ เปิดตัวพอดแคสต์เฉพาะกิจเพื่อแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับปัญหาขยะพลาสติกในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมให้คำแนะนำในการจัดการปัญหาดังกล่าว
รายการ Changing Tides with The Incubation Network ซึ่งออกอากาศทางพอดแคสต์ภายใต้การดำเนินงานของ SecondMuse มีทั้งหมด 5 ตอน ในแต่ละตอนจะกล่าวถึงปัญหาขยะพลาสติก โอกาสและความท้าทายในการพัฒนาโซลูชัน รวมถึงการทำงานร่วมกันระหว่างสตาร์ตอัป องค์กรธุรกิจ ผู้พัฒนาระบบนิเวศ และแรงงานนอกระบบในการรักษาสภาวะแวดล้อมของมหาสมุทรและแม่น้ำลำคลอง โดยเป็นการสนทนากับแขกรับเชิญ ซึ่งประกอบด้วยผู้ประกอบการสตาร์ตอัปและตัวแทนจากองค์กรขนาดใหญ่
Changing Tides with The Incubation Network ดำเนินรายการโดย นางลอร่า เบนส์ ผู้อำนวยการโครงการ และ นายไททัส โลห์ ผู้จัดการโครงการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนจาก The Incubation Network รายการมีเป้าหมายเพื่อเปิดโอกาสการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกลุ่มคนที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่าที่ดำเนินงานเพื่อลดการรั่วไหลของพลาสติกและเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
–เปิดฉากงาน ‘HUAWEI CONNECT 2022’ มหกรรมเทคโนโลยีระดับโลก ภายใต้แนวคิด ‘ปลดปล่อยพลังแห่งดิจิทัล’
ลอร่า กล่าวว่า “การร่วมสนทนากับแขกรับเชิญเพื่อเจาะลึกถึงความซับซ้อนของปัญหาขยะพลาสติกช่วยสร้างแรงบันดาลใจเป็นอย่างมาก แขกรับเชิญหลาย ๆ ท่านได้หยิบยกตัวอย่างที่น่าสนใจในการเพิ่มคุณค่าให้กับพลาสติกรีไซเคิลเพื่อส่งเสริมระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ดีต่อมนุษย์และโลกของเรา”
“การให้ความรู้แก่ผู้บริโภคคือหัวใจสำคัญในการบริหารจัดการขยะ ดังนั้นเราจึงต้องนำเอาปัจจัยด้านสภาพความเป็นอยู่และความแตกต่างด้านวัฒนธรรม มาประกอบการพิจารณาเพื่อส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมการรีไซเคิลที่ดี เนื่องจากความพยายามในการลดขยะจะต้องเกิดจากคนในชุมชนและขับเคลื่อนโดยชุมชน ซึ่งเป็นการสร้างกลยุทธ์ร่วมกับชุมชนและให้ชุมชนเป็นผู้นำและผลักดันการลดขยะให้เกิดขึ้นในวงกว้างยิ่งขึ้น”
พอดแคสต์แต่ละตอนนำเสนอในรูปแบบเสียงและวิดีโอ (พร้อมคำบรรยายไทย) โดยมีแขกรับเชิญและหัวข้อในการสนทนาดังต่อไปนี้
- ตอนที่ 1 นายอูเมช มาดาวาน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ The Circulate Initiative หัวข้อสนทนา เราแก้จะปัญหาขยะพลาสติกในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไร
- ตอนที่ 2 นายอนุรักษ์ มาลู Head of Partnership for Asia Pacific ของ Seedstars หัวข้อสนทนา เพราะเหตุใดการเติบโตและขยายธุรกิจจึงเป็นความท้าทายสำหรับสตาร์ตอัป
- ตอนที่ 3 นายณัฐภัค อติชาตการ CEO Trash Lucky หัวข้อสนทนา อะไรคือนิยามความสำเร็จของสตาร์ตอัป
- ตอนที่ 4 นางนลินี เชการ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการบริหารของ ฮาสิรุ ดาละ หัวข้อสนทนา เพราะเหตุใดแรงงานนอกระบบจึงมีความสำคัญ
- ตอนที่ 5 ดร.วศิมน เรืองเล็ก Senior Alliances Manager for Climate Impact & Circularity เอสซีจี หัวข้อสนทนา สตาร์ตอัปด้านสิ่งแวดล้อมจะสามารถดึงดูดพันธมิตรระดับองค์กรได้อย่างไร
รายงานของธนาคารโลกพบว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่สร้างขยะพลาสติกในมหาสมุทรขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดย 6 ใน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนสร้างขยะพลาสติกรวมกันมากกว่า 31 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ การลดการรั่วไหลของพลาสติกลงสู่มหาสมุทรในภูมิภาค รวมถึงประเทศไทยขึ้นกับการปรับปรุงวิธีการจัดการขยะและการรีไซเคิล เนื่องจากการเผา การฝังกลบในบ่อขยะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ หรือการปล่อยให้เกิดการรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อม เป็นวิธีการกำจัดขยะที่ใช้อยู่ทั่วไปซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง
ไททัส กล่าวว่า “ปัญหาขยะพลาสติกมีความซับซ้อนและมีหลายมิติ ผู้ให้บริการโซลูชันควรให้ความสำคัญกับความร่วมมือมากกว่าการแข่งขัน รวมทั้งคำนึงถึงความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียหลากหลายกลุ่มที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมและสังคมที่แตกต่างกัน
รวมไปถึงการเสริมสร้างความร่วมมือและสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นภายในระบบนิเวศท้องถิ่นจะนำไปสู่การริเริ่มโครงการเพื่อลดมลพิษพลาสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้รายการพอดแคสต์ของเราจึงให้ความสำคัญกับการสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลเชิงลึกกับผู้ที่ทำงานในภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง”
นอกจากนี้ พอดแคสต์ยังกล่าวถึงความท้าทายของผู้ประกอบการสตาร์ตอัปในการขยายธุรกิจหรือยกระดับความสามารถของโซลูชันเพื่อก่อให้เกิดผลลัพธ์ในวงกว้าง
ดร.วศิมน หนึ่งในแขกรับเชิญ กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ว่า “เรามองหาสตาร์ตอัปที่มีเอกลักษณ์ มีความสามารถในการแข่งขัน และมีโซลูชันที่ช่วยแก้จุดอ่อนให้กับอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนหรือช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น สตาร์ตอัปบางรายเก่งเรื่องเทคนิคและมีโซลูชันที่ดี แต่หากจะทำธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ สตาร์ตอัปต้องมีความพร้อมในการขยายขนาดของกิจการและมีตลาดรองรับ ดังนั้น สตาร์ตอัปจึงจำเป็นต้องพิจารณาธุรกิจของตนเองด้วยมุมมองที่หลากหลาย”
สำหรับการสนทนากับ นายอูเมช เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองในเชิงบวกเพื่อต่อสู้กับวิกฤตมลพิษพลาสติก อูเมซกล่าวว่า “แม้ปัญหามลพิษพลาสติกจะขยายจากภูมิภาคสู่ระดับโลกแต่ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ เพียงต้องรีบลงมือทำ ผมตื่นเต้นกับความก้าวหน้าที่เกิดขึ้น และประทับใจในความกระตือรือร้นและการดำเนินการของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อการแก้ไขปัญหานี้”
The Incubation Network เริ่มเข้ามามีบทบาทในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ปี 2562 ปัจจุบัน The Incubation Network ให้การสนับสนุนสตาร์ตอัปรวมกว่า 200 ราย ใช้เวลากว่า 1,110 ชั่วโมงในการให้คำปรึกษา โดยผู้เชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรมเกือบ 200 คน อีกทั้งให้เงินสนับสนุนโดยตรงแก่สตาร์ตอัปและองค์กรที่สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาสตาร์ตอัปเป็นมูลค่ารวมกว่า 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 54 ล้านบาท) ทั้งนี้ผลลัพธ์จากการสนับสนุนดังกล่าวข้างต้น สามารถยับยั้งขยะพลาสติกจำนวน 41,672 ตัน ไม่ให้ไหลลงสู่มหาสมุทร
สำหรับประเทศไทย The Incubation Network จัดสรรเงินลงทุนจำนวน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 72 ล้านบาท) จาก ECCA Family Foundation เพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยจัดการปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทย ด้วยการลดการใช้ การใช้ซ้ำ หรือนำไปรีไซเคิล ผ่านโครงการซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง The Incubation Network และสตาร์ตอัปและสถาบันต่าง ๆ อาทิ โครงการ Thailand Waste Management & Recycling Academy โดยร่วมมือกับ Seedstars โครงการ Thailand Plastics Circularity Accelerator ร่วมมือกับ the Alliance to End Plastic Waste โครงการ Thailand SME Scale Up Program for Plastics Circularity ร่วมมือกับ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ และโครงการ Waste Action Network ร่วมมือกับ STEAM Platform