บริษัทฟรีแลนด์คัมปิน่า ร่วมกับ สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล เผยผลสำรวจภาวะโภชนาการในเด็กแบบเจาะลึก จากโครงการ SEANUTS II ชี้เด็กไทยสุขภาพน่าเป็นห่วง เด็กอายุ 7-12 ปี น้ำหนักเกินเกณฑ์และอ้วน มากกว่า 30% ขณะที่เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี เผชิญกับภาวะโลหิตจางสูงถึง 50% ซึ่งมาจากการบริโภคอาหารและปริมาณพลังงาน-สารอาหารที่ได้รับในแต่ละวันไม่สมดุล
จากการตั้งข้อสังเกตด้านพฤติกรรม พบว่า จากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เด็กมีกิจกรรมกลางแจ้งลดลงถึง 32% หันไปใช้ชีวิตกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ด้านพฤติกรรมการกินของเด็ก พบ ทานอาหารแปรรูปมากขึ้น เครื่องดื่มรสหวานมากขึ้น
รศ.ดร.นิภา โรจน์รุ่งวศินกุล ที่ปรึกษาสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการ SEANUTS II ของประเทศไทย กล่าวว่า ภาวะทุพโภชนาการในเด็กยังเป็นปัญหาหลักในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของอาหารและโภชนาการเด็กที่ต้องปรับปรุง ปัจจุบันเด็กไทยช่วง 6 เดือน – 12 ปี ทั้งในเขตเมืองและพื้นที่ห่างไกล ยังคงเผชิญกับภาวะทุพโภชนาการหลากหลายรูปแบบ หลายครั้งพบว่า ในหนึ่งครอบครัวมีสมาชิกที่มีภาวะทุพโภชนาหลายลักษณะ ทั้งขาดสารอาหาร มีน้ำหนักเกินและโรคอ้วน โดยเฉพาะในเด็ก 7-12 ปี ที่มีมากกว่า 30% ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสู่โรคไม่ติดต่อเรื้องรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน
และยังพบว่า เด็กอายุ 6 เดือน – 12 ปี มากกว่า 70% ได้รับแคลเซียมไม่ถึงเกณฑ์ที่แนะนำต่อวัน ขณะที่ เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ถึง 40% พบภาวะโลหิตจาง โดยภาวะดังกล่าวอาจส่งผลถึงพัฒนาการด้านสติปัญญา การเจริญเติบโตของร่างกายและภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ด้านภาวะเตี้ยแคระแกร็นในเด็ก 0-5 ปี พบว่าลดลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เหลือ 4.6% จากในอดีตที่ 10.6%
ปัจจัยหลัก รับสารอาหารไม่เพียงพอ
จากการวิจัยพฤติกรรมการบริโภคอาหารเช้า พบว่า เด็กไทยส่วนใหญ่ทานอาหารเช้า และมากกว่า 55% ทานไข่ไก่เป็นประจำ ประมาณ 4 ฟอง / สัปดาห์ ขณะที่ 88.1% ดื่มนมมากกว่า 4 แก้ว / สัปดาห์ แต่ก็ยังได้รับปริมาณแคลเซียมไม่เพียงพอ เพราะปริมาณที่แนะนำสำหรับเด็กคือ 2-3 แก้ว / วัน
และเมื่อสำรวจลงลึกถึงคุณภาพของสารอาหาร พบว่า เด็กได้รับแคลลอรี่ที่เพียงพอในมื้อเช้า มีสัดส่วนของการขาดสารอาหาร ทั้งในกลุ่มของอาหารหลักและสารรองที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น โปรตีน ธาตุเหล็ก สังกะสี วิตามิน A, C, D, B1, B2, B3 และ B12 ที่ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับแคลลอรี่จากมื้อเช้าต่ำ ซึ่งการบริโภคอาหารเช้าที่เพียงพอจะส่งผลต่อการได้รับสารอาหารที่เพียงพอตลอดทั้งวัน
–อินฟอร์มา เตรียมจัด “CPHI South East Asia 2022” ยก 200 หน่วยงานยาและเวชภัณฑ์ทั่วโลกเข้าร่วม
ขณะที่การบริโภคอาหารแปรรูป เครื่องดื่มรสหวาน และของว่างไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ คือ การเคลื่อนไหวร่างกายกลางแจ้งลดลงอยู่ที่ 32% ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยภาพรวมอยู่ที่ 39% ในเด็ก 10-12 ปี มีการเคลื่อนไหวร่างกายต่ำกว่าเกณฑ์ สวนทางกับการเพิ่มขึ้นของการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาวะโดยรวม หรือนำไปสู่ภาวะการขาดวิตามินดีได้
ทั้งนี้ข้อมูลการสำรวจยังเป็นข้อมูลช่วงแรกของการระบาดโควิด-19 คาดว่าผลการศึกษาจากผลกระทบโควิดใน 3 ปีที่ผ่านมา จะพบตัวเลขที่ส่งผลกระทบมากกว่าเดิมจากปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจ มีพ่อแม่ที่ตกงาน ถึงแม้ปัจจุบันโรคระบาดจะเริ่มคลี่คลายแต่ภาวะโภชนาการจะยังเป็นปัญหาต่อไปในระยะยาว ซึ่งก็จะต้องช่วยกันติดตามและป้องกันต่อไป
สำหรับโครงการสำรวจด้านโภชนาการของ SEANUTS II เป็นการศึกษาและเก็บข้อมูลจาก 4 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กจำนวน 13,933 คน อายุระหว่าง 6 เดือน – 12 ปี คัดเลือกจากโรงเรียนในเมืองและชนบท ในปี พ.ศ. 2562-2564