TOD เพิ่มความปลอดภัย ยกระดับคุณภาพชีวิตเด็กนักเรียนได้อย่างไร

TOD เพิ่มความปลอดภัย ยกระดับคุณภาพชีวิตเด็กนักเรียนได้อย่างไร

ในช่วงเวลาโรงเรียนเปิดเทอมของทุกปี เรามักพบเห็นสภาพการจราจรติดขัดในช่วงเช้าและเย็น โดยเฉพาะบริเวณหน้าโรงเรียนที่ผู้ปกครองขับรถมารับ-ส่ง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย หลายๆ ประเทศในแถบเอเชียก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน แต่ไม่ใช่กับประเทศญี่ปุ่น ที่ขึ้นชื่อเรื่องการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ และนำแนวทางการพัฒนาในรูปแบบ TOD (Transit-Oriented Development) การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะ มาใช้ในการพัฒนาเมือง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กชาวญี่ปุ่นให้ดีขึ้น

ตั้งโรงเรียนใกล้บ้าน

ประเทศญี่ปุ่นมีการวางผังเมืองอย่างเป็นระบบ ในเรื่องการศึกษามีการกำหนดให้มีโรงเรียนในรัศมีทุก 4 กม. ที่มีพื้นที่ชุมชนอยู่อาศัย และกำหนดให้เด็กทุกคนในระดับอนุบาล-มัธยม เข้าเรียนในโรงเรียนใกล้บ้านเท่านั้น ไม่มีการเลือกโรงเรียนหรือเข้าสอบในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กชาวญี่ปุ่น สามารถเดินไปโรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้านที่สุดได้

สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนา TOD ก็มีการกำหนดรูปแบบการพัฒนาพื้นที่แบบผสมผสาน (Mix) ในรัศมี 600 เมตรรอบสถานีขนส่งสาธารณะ ให้มีสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิตในพื้นที่อยู่อาศัยอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นตลาดสด ร้านขายยา คลินิกรักษาโรค ศูนย์การค้า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สวนสาธารณะ ให้อยู่ใกล้พื้นที่ชุมชนมากที่สุด เพื่อลดการเดินทางด้วยรถยนต์ ดึงดูดให้ประชาชนเลือกการเดินทางด้วยวิธีปั่นจักรยานหรือเดินเท้า เพื่อเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ แต่ในกรณีของการตั้งสถาบันการศึกษา และโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เป็นกรณีที่ได้รับการยกเว้น เพราะเป็นสถานที่ ที่ต้องใช้เงินลงทุนและงบประมาณค่อนข้างสูง จึงจำเป็นต้องขยายรัศมีออกไป เพื่อให้ครอบคลุมมากที่สุด แต่ยังอยู่ในพื้นที่ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงด้วยระบบขนส่งสาธารณะได้เหมือนเดิม

TOD เพื่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

นอกจากเรื่องการพัฒนาพื้นที่ให้มีโรงเรียนใกล้บ้านแล้ว อีกสิ่งที่เด็กนักเรียนจะได้ประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่แบบผสมผสานก็คือ การมีร้านค้าริมทางเดินที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัย เป็นหูเป็นตาช่วยดูแลเด็กๆ ในชุมชนให้เดินทางอย่างปลอดภัย จนกว่าจะไปถึงโรงเรียนของพวกเขา

โครงข่ายทางเดินเท้าที่ปลอดภัยและทั่วถึง

นับตั้งแต่ประเทศญี่ปุ่นมีการนำแนวทางพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะ TOD มาใช้ ได้มีการยกระดับโครงข่ายทางเดินเท้ารอบสถานีขนส่งสาธารณะในรัศมี 600 เมตร (Walk) และขยายโครงข่ายทางเดินเท้าอย่างต่อเนื่องไปยังบริเวณรอบนอกที่อยู่นอกเขตการพัฒนาตามแนวทาง TOD เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ดังนั้นไม่ว่าเด็กนักเรียนจะอาศัยอยู่ในหรือนอกพื้นที่ TOD พวกเขาก็จะได้ใช้โครงข่ายทางเดินเท้าที่มีคุณภาพเดินทางไปโรงเรียนได้อย่างเท่าเทียมกัน เพราะโครงข่ายทางเดินเท้ามีส่วนสำคัญสำหรับการเดินทางของเด็กนักเรียน ที่จะเดินจากบ้านไปถึงโรงเรียนอย่างปลอดภัย

ทางเท้าที่มีการเชื่อมต่ออย่างมีประสิทธิภาพ คือ ทางเดินเท้าที่กว้างขวาง เดินสะดวก ไม่มีเส้นทางเดินขรุขระ ไม่มีสิ่งกีดขวางทางเดินเท้า เช่น รั้วกั้นขอบถนน หาบเร่ แผงลอย หรือการรุกล้ำพื้นที่ทางเดินเท้าจากร้านค้าริมทาง ทำให้เด็กนักเรียนต้องลงมาเดินบนถนนเสี่ยงอันตราย มีทางม้าลายและสัญญาณไฟจราจร เพิ่มความปลอดภัยให้กับเด็กนักเรียน ที่ต้องเดินเท้าวันละประมาณ 1-3 กม. ต่อวัน

กฎหมายเพิ่มความปลอดภัย

นอกจากการมีโครงข่ายทางเดินเท้าที่ดีตามแนวทาง TOD ที่ดีแล้ว การมีกฎหมายที่เอื้อต่อการใช้โครงข่ายทางเดินเท้า ก็มีส่วนเพิ่มความปลอดภัยให้กับเด็กนักเรียน ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายจราจรของประเทศญี่ปุ่น ที่กำหนดระดับความสำคัญของการใช้ถนน โดยกำหนดให้คนเดินเท้ามีความสำคัญมากกว่าคนขี่จักรยาน และคนขี่จักรยานมีความสำคัญมากกว่าคนใช้รถยนต์ส่วนบุคคล

หมายความว่า ทุกครั้งที่คนขับรถเห็นคนเดินเท้ากำลังจะข้ามถนน ที่ไม่มีไฟสัญญาณจราจร ผู้ขับรถยนต์ และผู้ขี่จักรยาน จะต้องหยุดให้คนเดินเท้าข้ามถนนให้เสร็จก่อนถึงจะขับต่อไปได้ ในขณะที่ประเทศไทยคนเดินเท้าต้องหยุดให้รถขับผ่านไปก่อนถึงจะเดินข้ามถนนได้

มีข้อกำหนดเรื่องเครื่องแต่งกายให้เด็กเล็กในระดับประถม ใส่หมวกสีเหลือง และใช้กระเป๋าสะพายที่แถบสะท้อนแสงในการเดินทางไป-กลับโรงเรียน เป็นการเพิ่มจุดสังเกต ทำให้คนขับรถเมื่อเห็นหมวกเด็กนักเรียนกำลังเดินริมถนน จะต้องลดความเร็ว เพิ่มความระมัดระวัง และต้องให้เด็กเดินข้ามถนนอย่างปลอดภัยก่อน หากฝ่าฝืนหรือมีปัญหาขับรถชนเด็กนักเรียนที่กำลังข้ามถนน จะมีโทษปรับสูงและอาจถูกริบใบขับขี่ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าใบขับขี่ของชาวญี่ปุ่นนั้นได้มายากแค่ไหน

ที่สำคัญที่สุดนอกเหนือจากการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทาง TOD และการสนับสนุนจากภาครัฐในด้านกฎหมายเพิ่มความปลอดภัยแล้ว คือ การปลูกฝังความเป็นระเบียบวินัย และการพัฒนาระบบการศึกษาอย่างเท่าเทียม เพื่อเป็นตัวเลือกให้ผู้ปกครองสามารถเลือกโรงเรียนใกล้บ้าน เพื่อให้ทุกคนหันมาใช้โครงข่ายทางเดินเท้า จักรยาน และระบบขนส่งสาธารณะ ตามเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาตามแนวทาง TOD เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กนักเรียนและผู้ปกครองให้ดีขึ้น

Scroll to Top