สดช. เตรียม 8 โครงการเด่นปี 66 นำประเทศไทยก้าวเข้าสู่ Full Digital Transformation

สดช. เตรียม 8 โครงการเด่นปี 66 นำประเทศไทยก้าวเข้าสู่ Full Digital Transformation

ภาพรวมการดำเนินงานของ สดช. ตลอดปี 2565 ได้ขับเคลื่อนโครงการสำคัญๆ เพื่อเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ครอบคลุมทุกมิติ ผลักดันคนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งจะสนับสนุนการขยายผลสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ให้ประเทศไทยเกาะติดโอกาสใหม่ๆ ในการเติบโตทางเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและสังคม สอดรับกับบริบทที่มีการเปลี่ยนแปลงไปของโลกยุคใหม่

โดยที่ผ่านมา สดช. ได้ดำเนินโครงการที่ส่งเสริมและสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลหลากหลายโครงการ ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ถือเป็นปัจจัยหลักที่จะสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ และหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร อย่างเครือข่าย 5G ถือเป็นเทคโนโลยีกระแสหลัก ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น

ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวว่า จากการศึกษาของ สดช. พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสัญญาณ 5G ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด เข้าถึงประชากรไม่น้อยกว่าร้อยละ 76 แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการพัฒนาศักยภาพที่จะต่อยอดการใช้ประโยชน์ ทั้งในเรื่องการสร้างสินค้า/บริการ การพัฒนานวัตกรรม หรือการใช้ประโยชน์ในมิติอื่นๆ เพิ่มแรงส่งให้ประเทศไทยสามารถขยับขีดความสามารถการแข่งขันในเวทีโลกได้

ร้านกาชาด กฟผ.จัดกิจกรรมสอยดาวลุ้นทอง และประมูลเครื่องใช้ไฟฟ้า เบอร์ 5 ตั้งแต่วันนี้ ถึง 18 ธันวาคม

จากตัวเลขการเติบโตของ Digital GDP ล่าสุดประจำปี 2564 ที่ภาพรวมอยู่ที่ 12.97% ขยายตัว 14.07% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยบวกจากการผลิตและบริการดิจิทัล สะท้อนถึงโอกาสการเติบโตใหม่ๆ ว่ายังมีอีกมากสำหรับระบบเศรษฐกิจไทย ที่สามารถปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับแผนงานในปี 2566 สดช. เตรียมขยายผลและต่อยอดรากฐานที่วางไว้ เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้ประโยชน์ได้เท่าทันเทคโนโลยีที่มีความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ อย่างไม่หยุดนิ่ง เพิ่มการมองหาโอกาสจากเทคโนโลยีใหม่ การรู้เท่าทันความเสี่ยงและความมั่นคงปลอดภัยด้านดิจิทัล ตลอดจนการเพิ่มความรู้ ทักษะ และยกระดับศักยภาพบุคคล ทั้งในกลุ่มประชากรทั่วไป ประชากรในพื้นที่ห่างไกล และบุคลากรของรัฐ เพื่อให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างได้ประโยชน์สูงสุด

ก้าวเข้าสู่ระยะที่ 4 : Global Digital Leadership

ภุชพงค์ กล่าวว่า ปี 2566 มี 8 โครงการสำคัญที่ สดช. ตั้งเป้าหมายดำเนินการ เพื่อให้สอดคล้องกับพลวัตทางเทคโนโลยี และสถานการณ์เศรษฐกิจ และสังคมของโลก และของประเทศไทย รวมทั้งแนวโน้มทิศทางการพัฒนาในอนาคต เพื่อเตรียมนำประเทศไทยก้าวเข้าสู่ภูมิทัศน์การพัฒนาดิจิทัลระยะที่ 3 : Full Digital Transformation ในปี พ.ศ. 2570 และก้าวเข้าสู่ระยะที่ 4 : Global Digital Leadership ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาศักยภาพบุคลากร และการพัฒนาทักษะความรู้ที่เกี่ยวข้องการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลได้แก่

1. โครงการบริหารจัดการและติดตามผลการรับรองหลักสูตรของหน่วยงานภาครัฐ ตั้งเป้าปีงบประมาณ 2566 จะพิจารณารับรองหลักสูตรหรือเทียบเคียง ให้ได้อีก 70 หลักสูตร จากที่มีอยู่แล้วกว่า 60 หลักสูตรเพื่อให้หน่วยงานของรัฐจัดฝึกอบรมในหลักสูตรที่ได้รับการรับรอง และมีมาตรการส่งเสริมและพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลของประเทศไทย ผลที่ได้คือ ประชาชน จะได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อันเนื่องมากจากข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ ได้รับการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลในหลักสูตร ที่จะส่งมอบผลลัพธ์การเรียนให้แก่ผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. โครงการศึกษา Thailand Digital Outlook ประจำปี 2566 เป็นการสนับสนุนข้อมูลเพื่อใช้ในการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย

ซึ่งสดช. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้แนวทางในการจัดเก็บตัวชี้วัด Measuring the Digital Transformation ตามองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organization for Economic Co-operation and Development : OECD) และตามบริบทของการพัฒนาประเทศ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในมิติที่สำคัญ ในการนำไปสู่การเสนอแนวทางในการพัฒนานโยบายด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย

3. โครงการพัฒนาประสิทธิภาพการวัดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Contribute to GDP) ประจำปี 2566 เพื่อปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพการวัดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลและผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศอันเป็นผลจากเศรษฐกิจดิจิทัล ที่สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ

4. โครงการพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) เป็นการขยายผลจากความพร้อมด้านการเข้าถึงดิจิทัล จากการมีอินเทอร์เน็ตสาธารณะชุมชน/ศูนย์ดิจิทัลชุมชน สู่การปั้นคนดิจิทัลในระดับพื้นที่ เพื่อเป็นผู้ช่วยขยายการเข้าถึงการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และช่วยส่งเสริมเพิ่มโอกาสสร้างรายได้สู่พื้นที่ระดับชุมชน ไปจนถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับเก็บเกี่ยวประโยชน์จากเทรนด์เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้

5. โครงการกระตุ้นระบบนิเวศ 5G ให้เกิดประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G เชิงพาณิชย์ โดยอยู่ระหว่างจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ระยะที่ 2 และ (ร่าง) แนวทางการบริหารจัดการการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ในแต่ละภาคอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย (พ.ศ.2566-2570) และจัดทําแนวทางการบริหารจัดการการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ในแต่ละภาคอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย รวมถึงการประเมินผลกระทบของเทคโนโลยี 5G ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและเชิงสังคม และสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเทคโนโลยี 5G

6. โครงการพัฒนาบริการโครงสร้างพื้นฐานและความมั่นคงปลอดภัยด้านดิจิทัล (Infrastructure and Security) กิจกรรมบริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Service : GDCC) โดยในปี 2566 มีเป้าหมายที่จะยกระดับการให้บริการ GDCC จากบริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure as a Service : IaaS) ที่บริการเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายเสมือน (Virtual Machine) ไปสู่การแบบบริการด้านแพลตฟอร์ม (Platform as a Service : PaaS) และบริการด้านซอฟต์แวร์ (Software as a Service : SaaS) ที่มีความหลากหลายของบริการยิ่งขึ้น ผ่าน GDCC Marketplace หน่วยงานสามารถบูรณาการข้อมูลร่วมกันระหว่างแพลตฟอร์มได้สะดวกและง่ายขึ้น มุ่งไปสู่การให้บริการของภาครัฐแบบเปิด ก่อให้เกิดบริการสาธารณะอย่างก้าวหน้าต่อไป

7. โครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล (Digital Cultural Heritage) ระยะที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดทรัพยากรวัฒนธรรมของชาติให้อยู่ในรูปแบบ Digital Content เพื่อส่งเสริม กระตุ้น และต่อยอดให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมุ่งเน้นให้เกิดการสร้าง Soft Power ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยเป็นการทำงานที่สร้างความมีส่วนร่วมกับหลากหลายภาคส่วน ได้แก่ เยาวชน สถาบันการศึกษา ระดับชุมชน และภาคการปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

8. กองทุนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งบทบาทสําคัญ ในการส่งเสริม สนับสนุน ให้ความช่วยเหลือ และการให้ทุนอุดหนุนการวิจัย เพื่อสร้างนวัตกรรมและความเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลต่อไปในอนาคต

โดยที่ผ่านมาในปีงบประมาณ 2565 ได้มีโครงการที่ยื่นเข้ามา 600 กว่าโครงการ และผ่านการพิจารณาสนับสนุน จํานวน 41 โครงการ ในกรอบวงเงินทั้งสิ้น 2,500 ล้านบาท

“สดช. มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ พร้อมผสานพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมขับเคลื่อนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อให้ดิจิทัลไทยก้าวไกล และชีวิตคนไทยก้าวหน้า สร้างความยั่งยืนผ่านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยียกระดับคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และพัฒนาศักยภาพด้านการแข่งขันให้กับประเทศไทย” ภุชพงค์ กล่าว

Scroll to Top