NIA เดินหน้าดันไทยสู่ท็อป 30 ประเทศแห่งนวัตกรรมพร้อมเดินหน้าเพิ่มความสามารถการแข่งขันสตาร์ทอัพไทย

NIA เดินหน้าดันไทยสู่ท็อป 30 ประเทศแห่งนวัตกรรมพร้อมเดินหน้าเพิ่มความสามารถการแข่งขันสตาร์ทอัพไทย

NIA เดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น “ประเทศแห่งนวัตกรรม” และติดอันดับ 1 ใน 30 ของประเทศที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมของโลก ภายในปี 2573 ด้วยการเร่งปั้นสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการด้านนวัตกรรม พร้อมส่งเสริมการสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติที่เข้มแข็งภายใต้ 4 กลยุทธ์ ได้แก่ พัฒนาระบบนวัตกรรมไทยเป็นระบบที่เปิดกว้าง พลิกโฉมระบบการเงินนวัตกรรมไทยสร้างระบบข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรม และองค์กรสมรรถนะสูงที่พร้อมต่อความเปลี่ยนแปลง

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า NIA กล่าวว่า ภาพรวมนวัตกรรมไทย ปี 65 ที่ผ่านมามีสัญญาณที่ค่อนข้างแรง หากดูจากดัชนีนวัตกรรมของประเทศไทย พบว่า ปี 2018 ดีมาก ประเทศไทยขยับมาที่อันดับ 44 ของโลก จากนั้นมาอยู่ที่ 43 และไม่ขยับอีกเลย ส่วนหนึ่งเพราะติดกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งการที่ยืนอยู่ได้เป็นเพราะภาคเอกชนลงทุนกับงานวิจัยและนวัตกรรมมากกว่าภาครัฐ ซึ่งมากกว่า 80% เป็นภาคเอกชนลงทุน ทำให้เห็นว่าสตาร์ทอัพไทยมีเอกชนเข้าไปลงทุนมาก สำหรับแผนของประเทศไทยนั้นมีเป้าจะเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม และติดอันดับ 30 ภายในปี 2573

7 เทรนด์นวัตกรรม ปี 66 สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน

“ในปีที่ผ่านมา เราได้อันดับ 1 ด้านการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ แต่เราไม่ได้เป็นผู้ออกแบบหมายความว่าประเทศไทยเป็นเพียงผู้รับจ้างการผลิต”

รัฐ-เอกชน ต้องแชร์ข้อมูลกัน

สำหรับภาคเอกชนของไทยนั้นอยู่ในระดับ Wrold class มีการเงินที่ให้กับสตาร์ทอัพในการเติบโตอยู่ในอันดับที่ 14 ของโลก ทั้งนี้จากอันดับที่เกิดขึ้นนั้นไม่สอดคล้องกับการเติบโตของจำนวนสตาร์ทอัพไทย จึงเป็นไปได้ว่ามีการไปลงทุนกับสตาร์ทอัพนอกประเทศ

แต่หากมาดูกฎระเบียบมีส่งเสริมภาคเอกชนนั้น ยังต้องปรับอีกมาก เพราะกฎระเบียบนั้นไม่เอื้อต่อการทำงานของภาคเอกชน จะต้องปรับให้ส่งเสริมสตาร์ทอัพไทยเติบโตได้ดีมากขึ้น ให้สเกลอัพได้ง่ายขึ้น

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวว่า หลังจากนี้เอกชนกับภาครัฐจำเป็นต้องมาแชร์ข้อมูลกัน โดยภาครัฐจะต้องค่อยๆ แก้กฎหมาย ขณะที่ภาคเอกชนช่วยกันผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพหน้าใหม่มากขึ้น และเข้าถึงเงินทุนได้มากขึ้น

อีกประเด็นที่จะส่งผลกระทบไปถึงปีหน้า คือ ประเทศไทยไม่ดึงดูดให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนด้านวิจัยและนวัตกรรม ประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนภาพลักษณ์ที่ให้คนเห็นมากกว่าด้านอาหารและการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบัน กทม. มีความพร้อมรองรับชาวต่างชาติ เพราะอยู่ในช่วงสร้างพื้นที่นวัตกรรมใจกลางเมือง

ขณะที่ Startup City จาก 1,000 เมืองทั่วโลก ประเทศไทยติดอันดับถึง 4 เมือง โดยมี กทม. ติดอันดับที่ 99 นอกจากนั้นมี ภูเก็ต เชียงใหม่ และ พัทยา ซึ่งติดอยู่ใน Top 300 ซึ่งประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมที่ดึงดูด เมืองน่าอยู่ ไลฟ์สไตล์เหมาะสม แต่จะทำอย่างไรให้คนอยากเข้ามาลงทุนมากขึ้น ทั้งด้าน Visa หรือ BOI นอกจากนี้ยังต้องมีข้อมูลเข้าถึงคนต่างชาติมากขึ้น

ปัจจุบัน NIA เริ่มทำย่านโยธีเป็นด้านนวัตกรรม Medical ซึ่งคนที่เข้ามาก็จะได้สิทธิพิเศษด้าน BOI มากขึ้น

เดินหน้าร่วมมือต่างชาติมากขึ้น

แผนในปีหน้า NIA มีแผนจะร่วมมือด้านนวัตกรรมกับต่างประเทศมากขึ้น ประเทศแรกที่กำลังจะมีความร่วมมือคือ ฝรั่งเศส หลังจากที่ ปธน.มาครง มาไทยในช่วง APEC ที่ผ่านมา ได้ความมือกันในเรื่อง Food, Space และ Art ซึ่งจะมีงานใหญ่เกิดขึ้นที่ปารีสในปีหน้า

นอกจากนี้ยังมีงานครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ ญี่ปุ่น กับ อาเซียน จะมีการทำข้อตกลงกันในด้านเทคโนโลยี มีการร่วมทุนกันระหว่างบริษัทญี่ปุ่นกับไทย

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวว่า “ปีหน้าจะร่วมมือกับฝรั่งเศสและญี่ปุ่นเป็นหลัก แต่ก็เปิดรับประเทศที่สนใจจะเข้ามาทำธุรกิจกับไทยด้วย เพราะประเทศไทยมีการเติบโตในด้านอาหารดี มีบริษัทไทยที่โตระดับโลก เราคาดหวังว่า ใน 5 ปี จะเกิดการลงทุนด้านนวัตกรรมกับไทยมากถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ เราจึงต้องเดินทางไปดีลกับหลายประเทศทั่วโลก ให้เขาอยากเข้ามาร่วมลงทุน”

“NIA จะเปลี่ยนบทบาท “สะพานเชื่อม (System Integrator)” สู่ “ผู้อำนวยความสะดวกทางนวัตกรรม (Focal Facilitator)” เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มความเข้มแข็งของพื้นที่และการพัฒนาศักยภาพและการเติบโตของสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการไทยให้ก้าวสู่เวทีโลกอย่างยั่งยืน รวมถึงเร่งผลักดันประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็น “ประเทศแห่งนวัตกรรม” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยให้มีความเข้มแข็ง พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์โลก” ดร.พันธุ์อาจ กล่าวทิ้งท้าย

Scroll to Top