เตรียมพร้อมรับปีกระต่าย 2566 ในวันที่ ดิจิทัลไอดี (Digital ID) หรือ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เครื่องมือที่บอกและยืนยันว่า “เราเป็นใคร” ในโลกออนไลน์โดยไม่ถูกปลอมแปลง ไม่ใช่เรื่องใหม่ของคนไทยอีกต่อไป เพราะจะเห็นว่า วันนี้เราหลายคนต่างก็เริ่มมี Digital ID เป็นของตนเองแล้ว ผ่านบริการที่หลายคนคุ้นเคย อย่าง D.DOPA, Mobile ID และ ทางรัฐ เป็นต้น
ขณะที่ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเองต่างก็เริ่มทยอยนำกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยดิจิทัล หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “Digital ID (ดิจิทัล ไอดี)” เข้ามาประยุกต์ใช้งานรวมถึงการให้บริการ เพื่อให้การทำธุรกรรมหรือกิจกรรมผ่านทางออนไลน์มีความปลอดภัย น่าเชื่อถือมากขึ้น แต่จะทำอย่างไรให้คนไทยสามารถเข้าถึงทุกบริการดิจิทัลได้ด้วย Digital ID เดียว โดยไม่ต้องลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตนซ้ำซ้อน ถือเป็นอีกประเด็นท้าทายที่ทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างเร่งเดินหน้าให้เกิดขึ้นภายใต้ “กรอบการขับเคลื่อนการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลประเทศไทย ระยะที่ 1 พ.ศ. 2565 – พ.ศ. 2567” หรือ “Digital ID Framework” กรอบการทำงานฉบับใหม่ที่จะเข้ามาช่วยให้ทิศทางการเดินหน้า Digital ID ไทยของทุกภาคส่วนชัดเจนยิ่งขึ้น และเพื่อให้เกิดทิศทางการขับเคลื่อน Digital ID ของประเทศที่เป็นภาพเดียวกัน
–Whoscall ปล่อยฟีเจอร์ “Smart SMS Assistant” ยกระดับการป้องกันภัยจากมิจฉาชีพ
เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) ได้จัดงาน “Digital ID framework เปิดกลยุทธ์เดินหน้า…ดิจิทัลไอดีไทย” ชวน 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการปกครอง, กรมสรรพากร, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.), สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) และบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID) มาร่วมพูดคุยอัปเดตทิศทางอนาคต Digital ID ของประเทศภายใต้บทบาทของแต่ละหน่วยงานให้ทุกคนได้เห็นภาพไปพร้อมๆ กันด้วย
ทุกคนจะต้องมี Digital ID
สำหรับการทำธุรกรรมออนไลน์อย่างมั่นใจ – ไปกับบริการ D.DOPA คือหนึ่งเป้าหมายสำคัญที่ คุณสัญชัย เตชนิมิตวัช ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบข้อมูล กรมการปกครอง เน้นย้ำว่า กรมการปกครองจะต้องทำให้เกิดขึ้นภายในปี 2566 นี้ พร้อมๆ กับการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล หรือ FVS (Face Verification Service) ที่จะช่วยยกระดับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ที่สำคัญยังช่วยแก้ไขข้อจำกัดที่ผู้ใช้งานจะต้องเดินทางไปที่สำนักงานเขต เพื่อ dip chip บัตรประชาชนในครั้งแรกของการขอ Digital ID เพื่อการพิสูจน์ตัวตน สู่การทำให้เราสามารถพิสูจน์ตัวตนที่ไหนก็ได้ (self-enrolment) แทน
ทั้งยังยกระดับการบริการให้อยู่ในรูปแบบที่ผู้ใช้งานสามารถขอข้อมูลหรือแก้ไขข้อมูลที่อยู่ในฐานข้อมูลของกรมการปกครองได้เอง หรือที่เรียกว่า “self-service” ผ่านแอปฯ D.DOPA ซึ่งวันนี้คนไทยสามารถใช้บริการการทะเบียนราษฎรด้วยระบบดิจิทัลต่างๆ เช่น ย้ายทะเบียนบ้าน คัดสำเนาและออกใบรับรองข้อมูลปลูกสร้างบ้านใหม่ได้ผ่านแอปฯ นี้แล้ว และเตรียมเดินหน้าขยายไปยัง use case บริการอื่นๆ เพิ่มเติมอีกกว่า 31 หน่วยงาน รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการภาคเอกชน ได้เข้ามาเชื่อมโยงระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนกับ D.DOPA ในฐานะ RP (Relying Party) และเมื่อการดำเนินงานข้างต้นเริ่มคงที่ มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นตามที่ตั้งเป้าไว้ อนาคตเฟสต่อไปเราจะเริ่มขยายการใช้งาน Digital ID ไปยังกลุ่มคนต่างชาติ ที่มีการลงทะเบียนข้อมูลพื้นฐานกับระบบทะเบียนราษฎรของกรมการปกครองด้วย
เอาใจผู้เสียภาษี
เปิดบริการใหม่ ยื่นภาษีออนไลน์ ผ่านแอป ‘เป๋าตัง’ – อีกหนึ่งบริการดีๆ จากกรมสรรพากร ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่ง คุณจันทร์เจริญ เทพสุธา ผู้อำนวยการกองบริหารการเสียภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมสรรพากร บอกว่า การจัดเก็บภาษีได้มุ่งเน้นการให้บริการที่ง่ายต่อการใช้งาน ผ่านบริการที่ผู้เสียภาษีที่สามารถเข้าถึงง่าย ได้ถือเป็นภารกิจหลักที่กรมฯ ให้ความสำคัญ ที่ผ่านมาจึงพัฒนาบริการที่เอื้อต่อการเสียภาษีออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยด้วยการนำ Digital ID มาช่วยในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนหลากหลายบริการที่เหล่าผู้เสียภาษีต่างคุ้นชิน เช่น บริการ E-FILING (อีไฟล์ลิ่ง) ยื่นแบบและชำระภาษีออนไลน์ บริการผ่านระบบ My Tax Account ผู้เสียภาษีรายได้ธรรมดาสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลรายการลดหย่อนของตนเอง
รวมถึงประวัติการยื่นแบบ ภ.ง.ด. ก่อนที่จะยื่นแบบแสดงรายการภาษีได้ มีบริการ e-Withholding Tax การนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ถ้าผู้ใช้บริการซื้อของหรือโอนเงินให้บุคคลอื่นผ่านระบบธนาคาร ธนาคารจะส่งข้อมูลหรือภาษีให้กรมสรรพากรแทน นอกจากนี้ ยังเตรียมขยายบริการการยื่นภาษีออนไลน์ให้ง่ายยิ่งขึ้น ผ่านผ่านแอปฯ เป๋าตัง ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 40 ล้านคน ภายในปีนี้ พร้อมๆ กับบริการใหม่ “การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทางออนไลน์” สำหรับผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซเพื่อให้สามารถจด Vat ทางออนไลน์ได้ โดยผ่านบริการของ NDID สิ่งเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นว่า กรมสรรพากร มีบริการที่ผนวกกับระบบ Digital ID ให้ผู้เสียภาษีสามารถใช้บริการได้อย่างหลากหลาย ด้วยความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนพาร์ทเนอร์ภาคเอกชน รวมถึงธนาคารพาณิชย์อีกกว่า 11 แห่ง
นักลงทุน มั่นใจ
ติดต่อธุรกิจ ทำธุรกรรมออนไลน์ปลอดภัยด้วย Digital ID – ที่ทำให้รู้ว่าคนทำธุรกรรมออนไลน์เป็นเจ้าของธุรกรรมนั้นจริงๆ โดยเฉพาะด้านการเงินในอุตสาหกรรมตลาดทุน ที่เหล่านักลงทุนต้องการความมั่นใจและปลอดภัย Digital ID จึงเข้ามาตอบโจทย์ในส่วนนี้ โดย คุณวิบูลย์ ภัทรพิบูล ผู้ช่วยเลขาธิการสายเทคโนโลยีดิจิทัล สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เปิดเผยว่า ในอุตสาหกรรมตลาดทุนวันนี้ การทำธุรกรรมทั้งหมดมีผลผูกพันทางกฎหมาย เมื่อเราจะเปลี่ยนผ่านมาเป็นดิจิทัลแล้ว Digital ID จึงเป็นกลไกสำคัญที่เข้ามาช่วยทำให้การทำธุรกรรมของนักลงทุนสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ที่สำคัญน่าเชื่อถือ และปลอดภัย
โดยที่ผ่านมา สำนักงานฯ ได้มีการพัฒนาการบริการไปสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบแล้ว โดยเฉพาะในมุมของการขอใบอนุญาต ที่เป็นออนไลน์แบบ 100 เปอร์เซ็นแล้ว ซึ่ง Digital ID เข้ามาช่วยให้การขอใบอนุญาตกับสำนักงานง่ายและเร็วขึ้น ขณะที่ในฝั่งผู้ประกอบธุรกิจในภาคตลาดทุนเอง ก็ได้พยายามสนับสนุนให้ภาคธุรกิจมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปประยุกต์ใช้มากขึ้น
‘Digital ID’ เดียว
เข้าถึงทุกบริการออนไลน์ภาครัฐ อย่างไร้รอยต่อ – เพื่อให้คนไทยได้รับความสะดวก สบายในการทำธุรกรรมที่หลากหลายและเข้าถึงง่ายมากขึ้น อีกหนึ่งปลายทางของเป้าหมายที่ ดร.อาศิส อัญญะโพธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) แชร์ในงานนี้ ควบคู่กับการผลักดัน ส่งเสริม ให้หน่วยงานรัฐเปลี่ยนผ่านบริการมาอยู่ในรูปแบบออนไลน์และสามารถใช้ Digital ID ในการเข้าถึงบริการเหล่านั้นได้ด้วย
ซึ่งในช่วงแรกของการปรับรูปแบบบริการต้องยอมรับว่า หน่วยงานรัฐส่วนใหญ่มีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น การแบ่งประเภทบริการว่าแต่ละบริการต้องใช้การพิสูจน์และยืนยันตัวตนในระดับใด เป็นต้น ดังนั้นสำนักงานฯ จึงได้มีการเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจแก่บุคลากรภาครัฐ นอกจากนั้นได้นำมาตรฐานของ ETDA มาพัฒนาเป็นมาตรฐานที่เหมาะสมกับบริบทของภาครัฐมากขึ้น เพื่อให้ชัดเจนว่าถ้าหน่วยงานรัฐจะใช้ Digital ID มีเกณฑ์อย่างไรในการพิจารณาว่าบริการของตัวเองเหมาะสมกับ Digital ID ในระดับไหน ต้องสแกนหน้าร่วมด้วยหรือไม่ เป็นต้น
พอเริ่มมีความเข้าใจก็ได้ส่งผลต่อความสนใจที่จะอยากจะใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อจะไปเชื่อมต่อระบบ Digital ID กับ IdP ที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น D.DOPA, Mobile ID, NDID ก็ค่อนข้างซับซ้อน สำนักงานฯ จึงนำร่องให้บริการในฐานะ IdP ผ่านบริการแอปฯ ทางรัฐ ด้วยการพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่ไม่ซับซ้อนมาก เช่น ยืนยันตัวตนด้วยเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เลข Laser code หลังบัตรประชาชน เป็นต้น ซึ่งหลังเริ่มให้บริการมีหลายหน่วยงานรัฐสนใจเชื่อมต่อบริการจำนวนมาก ทำให้คนไทยได้เข้าถึงบริการรัฐในหลายบริการผ่านแอปฯ ทางรัฐ ด้วย Digital ID เดียว
แค่มีหมายเลขโทรศัพท์
มี Digital ID ง่ายๆ กับ Mobile ID – อีกหนึ่งบริการทางเลือกที่ทำให้คนไทยได้มี Digital ID ในการเข้าถึงบริการดิจิทัล ซึ่งคุณศุภกาญจน์ บุญจันทร์ ผู้อำนวยการส่วนพัฒนางานดิจิทัลและการระบุตัวตนทางดิจิทัล สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวว่า วันนี้คนไทยที่มีการลงทะเบียนพิสูจน์ตัวตนเพื่อเปิดใช้หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่กับผู้ให้บริการ สามารถมี Digital ID ได้ง่ายด้วยบริการ Mobile ID ผ่านผู้ให้บริการเครือข่ายตามหมายเลขที่เปิดใช้งาน
ซึ่งปัจจุบัน บริการที่เชื่อมระบบกับ Mobile ID สามารถทำธุรกรรมได้แล้ว เช่น การเปิดบัญชีออนไลน์ กับธนาคารกรุงเทพ และประมาณกลางปีหน้า จะร่วมกับอีกหลายหน่วยงานในการนำ Mobile ID ไปใช้ เช่น การยื่นเสียภาษีออนไลน์ (กรมสรรพากร) ใบขับขี่ดิจิทัล (กรมการปกครอง) สำนักงานประกันสังคม ตลาดหลักทรัพย์ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก รวมถึงเครดิตบูโร เป็นต้น ซึ่งทาง กสทช. พร้อมเป็นหน่วยงานที่จะช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนให้เกิดการใช้งาน Digital ID ที่หลากหลายพร้อมๆ กับส่งเสริมให้คนไทยเกิดความรู้ ความเข้าใจถึงประโยชน์ของการใช้งานด้วย
NDID
แพลตฟอร์มกลาง เชื่อมผู้ให้บริการดิจิทัลสู่ระบบ Digital ID – เพื่อให้สมาชิกไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการดิจิทัล (RP) และผู้ให้บริการในการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (IdP) ในฝั่งของธนาคาร สามารถเชื่อมโยงเข้าด้วยกันได้ โดยที่ RP ไม่ต้องเดินทางไปติดต่อ IdP ด้วยตัวเอง โดยไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนบุคคล ไม่มี Digital ID เก็บไว้แต่อย่างไร ซึ่งคุณบุญสันต์ ประสิทธิ์สัมฤทธิ์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบัน NDID มี IdP ซึ่งเป็นภาคธนาคารประมาณ 11 ธนาคาร มีการเชื่อมต่อไปยัง RP ผู้ให้บริการดิจิทัลแล้วกว่า 100 ราย สร้างให้เกิดการทำธุรกรรมออนไลน์ ในระบบเฉลี่ย 3 ล้านรายการต่อเดือน และมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งบริการที่ใช้งานได้จริงแล้ววันนี้ ไม่ได้มีแค่เฉพาะกลุ่มการเงิน แต่ยังมีการเชื่อมต่อไปยังบริการของกรมสรรพากรในการยื่นภาษีออนไลน์ การเปิดบัญชีข้ามธนาคารทางออนไลน์ บัญชีหลักทรัพย์สำหรับการจัดการกองทุนรวม การซื้อประกันชีวิต รวมไปถึงภาคการศึกษา ที่สามารถลงทะเบียนเรียนทางออนไลน์ได้แล้ว เป็นต้น
เร่งเครื่องคนไทยใช้ Digital ID
ด้วยสมดุลของการขับเคลื่อนร่วมกัน – นี่เป็นโจทย์สำคัญของ ETDA ในฐานะ Co-Creation Regulator ที่ คุณชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA เน้นย้ำว่า จะต้องทำให้เกิดขึ้น เพราะปัจจัยที่ทำให้คนไทยเกิดการใช้งาน Digital ID ในวงกว้างได้สำเร็จ ประกอบไปด้วย คนใช้งานที่ต้องมีความเชื่อมั่นว่า Digital ID ที่ตนเองมีมีความปลอดภัย ภายใต้ระดับความปลอดภัยของ ID ที่เหมาะสมกับการทำธุรกรรม เป็นไปตามมาตรฐาน แนวทางปฏิบัติที่เรากำหนด เกี่ยวกับความยากง่ายของการได้มาซึ่ง Digital ID เช่น กว่าจะลงทะเบียนได้มีขั้นตอนยุ่งยากแค่ไหน ซึ่งถ้ายากมากต้องไปพิสูจน์ตัวตนที่สำนักงานเขต นำบัตรประชาชนไป Dip chip คนก็อาจใช้งานน้อย ภาครัฐเองจึงต้องพัฒนาระบบ FVS ขึ้นมา เพื่อมาช่วยลดข้อจำกัดตรงนี้
ต่อมาก็เป็นเรื่องของความรวดเร็วในการใช้งาน และสุดท้ายที่สำคัญมากๆ คือ เรื่องของค่าใช้จ่าย ที่จะช่วยให้เกิดการใช้งานในวงกว้างมากขึ้นจากปัจจัยเหล่านี้ ที่ผ่านมา ETDA จึงชวน Stakeholder ที่เกี่ยวข้องมาหารือกัน ว่าอะไรคือจุดที่สมดุลที่ช่วยให้ทุกภาคส่วนไปต่อกันได้มากกว่านี้ มาแชร์ร่วมกันว่าโมเดลของแต่ละหน่วยงานคืออะไร เพราะ ETDA ไม่ได้เป็นหน่วยงานที่จะบังคับว่า หน่วยงานรัฐจะต้องใช้ของอะไร ผู้ประกอบการต้องมีกี่ราย เราอยากเปิดให้เป็นอิสระ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้งานมากที่สุด