“ค่าเงินบาท-ดอกเบี้ย ฉุดส่งออก 66”

ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แถลงข่าวร่วมกับ นายสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน สรท. และนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร ระบุว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนธันวาคม 2565 กับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 21,718.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 14.6% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 776,324 ล้านบาท หดตัวตัว 6.1% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนธันวาคมหดตัว 12.5%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 22,752.7 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 12.0% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 823,082 ล้านบาท หดตัว 3.3% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนธันวาคม 2565 ขาดดุลเท่ากับ 1,033.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 46,758 ล้านบาท

ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม – ธันวาคมของปี 2565 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า มูลค่าส่งออกรวมเท่ากับ 287,067.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5.5% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 9,944,317 ล้านบาท ขยายตัว 16.1% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม – ธันวาคมขยายตัว 4.7%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 303,190.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 13.6% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 10,646,953 ล้านบาท ขยายตัว 24.9% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม – ธันวาคมของปี 2565 ขาดดุลเท่ากับ 16,122.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 702,636 ล้านบาท

อนึ่ง สรท. คาดการณ์การส่งออกรวมทั้งปี 2566 เติบโตระหว่าง 1-2% (ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2566) โดยมีปัจจัยปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2565 ได้แก่
1. ปริมาณสินค้าคงคลังของคู่ค้ายังคงทรงตัวในระดับสูง ส่งผลให้คู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อสินค้า
2. ต้นทุนการผลิตยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการ และจำเป็นต้องส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้บริโภค (Consumer)
3. สถานการณ์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ส่งออกสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาต่อประเทศคู่ค้าและคู่แข่งที่มีค่าเงินอ่อนกว่าไทย
4. ราคาพลังงานในตลาดโลกยังคงมีความผันผวนตามสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญประกอบด้วย
1. ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ขอให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้มีความผันผวนเร็วเกินกว่าประเทศคู่ค้าสำคัญ
2. ด้านต้นทุน
2.1) ขอให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ทบทวนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และเพิ่มมาตรการช่วยเหลือ SMEs ในซัพพลายเชนการส่งออกที่อาจได้รับผลกระทบดังกล่าวควบคู่กัน
2.2) ขอให้ภาครัฐควบคุมหรือปรับขึ้นค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (FT) ในภาคการผลิตแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงพิจารณามาตรการสนับสนุน เพื่ออุดหนุนการใช้พลังงานทางเลือก เช่น มาตรการทางภาษี ลดหย่อนภาษี ในการเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกอื่นทดแทนอาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar), พลังงานหมุนเวียน (Renewable) และพลังงานชีวมวล (Biomass) เป็นต้น
2.3) ขอให้คณะกรรมการไตรภาคีพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างรอบคอบ สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจที่แท้จริง และ 3) ด้านการค้าระหว่างประเทศ เร่งผลักดันกระบวนการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ให้บรรลุผลโดยเร็ว

Scroll to Top