PETA Innovation นำผลงานวิจัย ไพลนาโนอิมัลชัน (Plai Nanoemulsion) จากนักวิจัยคณะวิทย์จุฬาฯ ต่อยอดเชิงพาณิชย์พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพความงามในระดับอุตสาหกรรมออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ พร้อมเปิดตัว สินค้ากลุ่มแรก PETA Gold Serum ด้านหัวหน้าภาควิชาย้ำงานวิจัยยุคใหม่นอกจากเพื่อสร้างองค์ความรู้แล้ว ยังต้องสามารถตอบโจทย์ความต้องการของสังคม
ศ.ดร.วรวีร์ โฮเว่น หัวหน้าภาควิชาเคมี คณะวิทยาศสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การทำวิจัยนอกจากจะทำเพื่อตอบโจทย์เรื่องของการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่แล้ว ต้องสามารถสร้างมูลค่าให้กับประเทศได้ด้วยไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ หรือสังคม ที่ผ่านมาคณะวิทย์จุฬาฯ สนับสนุนการทำวิจัยทั้งในด้านสถานที่ (แล็บวิจัย) การนำงานวิจัยไปประกวด ช่วยออกไปคุยกับเอกชน ดูความต้องการ และดึงโจทย์เข้ามา
“เราสนับสนุนเต็มที่เพื่อเปลี่ยนงานวิจัยให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายได้จริง” ศ.ดร.วรวีร์ กล่าว
คณะวิทย์ฯ ต้องการผลักดันงานวิจัยผ่านนิสิต หรืออดีตนิสิต นำงานวิจัยของอาจารย์ ไปต่อยอด มีโครงการ Entrepreneur ที่ผลักดันนิสิตให้เติบโตเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งที่ผ่านมาศิษย์เก่านำงานวิจัยไปต่อยอด โดยมีอาจารย์ช่วยเป็นที่ปรึกษา หรือเป็น Chief Technology Officer (CTO) เพราะตัวอาจารย์มีหน้าที่ด้านการเรียนการสอนค่อนข้างมากอยู่แล้ว แต่หากอาจารย์ในภาควิชาจะขอเวลาไปทำงานวิจัยเป็นผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยก็สนับสนุน
–รพ.วิมุต กางแผนปี 66 เดินหน้ากลยุทธ์ HOLISTIC HOSPITAL เต็มรูปแบบ
นวัตกรรมที่จุฬาฯ หลากหลาย ส่วนจะถูกนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับนักวิจัยแต่ละคน เพราะการจะทำออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกขายได้จริงต้องอาศัยแพชชั่น ต้องรับมือกับอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นเมื่อทำธุรกิจจริง ต้องมีมายเซ็ททำงานร่วมกับเอกชนได้ ด้านสิทธิบัตรนั้นจะมีการแบ่งผลประโยชน์มาทางภาควิชาแค่ไหน ขึ้นอยู่กับผู้นำงานวิจัยไปต่อยอด
“ทั้งนี้ งานวิจัยต้องสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตและศักยภาพทางการแข่งขันของคนไทยได้ งานวิจัยจะต้องไม่อยู่บนหิ้งอีกต่อไป” ศ.ดร.วรวีร์ กล่าว
ขณะที่ ศ.ดร.นงนุช เหมืองสิน อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงผลงานวิจัยที่ให้สิทธิ์กับ PETA Innovation นำไปต่อยอดว่า งานวิจัย “ไพลนาโนอิมัลชัน” เกิดจากทุนของ RNN สวทช. และภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ที่ผ่านมาได้นำผลิตออกมาและทดลองตลาด ปรากฎว่าได้ผลตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค
“จุดเด่นของงานวิจัยนี้คือการมีเทคโนโลยีในการสกัดสารได้ดี มีประสิทธิภาพ กลิ่นที่ได้ออกมาเป็นกลิ่นที่ชาวต่างชาติชื่นชอบ” ศ.ดร.นงนุช กล่าว
ศ.ดร.นงนุช กล่าวต่อว่า สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้พร้อมจะนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ได้ทันที ขณะนี้บริษัทได้นำไปพัฒนาเป็นสินค้าที่พร้อมจำหน่ายคือ PETA Whitening Gold Serum เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลเหรียญทอง (Gold Prize) จากงานประกวดนวัตกรรมนานาชาติที่ประเทศเกาหลี SIIF 2022
คุณสมบัติพิเศษของ PETA Whitening Gold Serum คือจะช่วยลดปัญหาบนผิวหน้าที่ก่อให้เกิดฝ้า รอยด่างดำบนผิวหน้า โดยการเข้าไปยับยั้งการเกิดเม็ดสี ลดผิวหนังอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งที่กระตุ้นให้ผิวสร้างเม็ดสี ตลอดจนยับยั้งการออกซิเดชั่นซึ่งเป็นต้นเหตุหนึ่งของการเกิดริ้วรอย และรอยด่างดำ
นอกจากนี้ PETA Innovation ยังได้นำผลงานวิจัย “ไพลนาโนอิมัลชัน” ไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีก ซึ่งทางแล็บวิจัยก็จะเข้าไปช่วยให้คำปรึกษาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย
ด้าน ปิติสุขค์ ดำมณี กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีต้า อินโนเวชั่น จำกัด กล่าวถึงการนำงานวิจัยไปต่อยอดเป็นสินค้าออกสู่ตลาดว่า PETA Innovation เป็นบริษัทที่ตั้งมาเพื่อดำเนินธุรกิจ ด้านการบริหารจัดการ การผลิตและทำตลาดสินค้า นวัตกรรรม โดยมีการศึกษาวิจัยขึ้นเอง การจ้างหรือร่วมทุนทำวิจัยกับภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนการเข้าไปซื้อสิทธิ์หรือต่อยอดงานงานวิจัย จากนักวิจัยในมหาวิทยาลัยไทยทั่วประเทศ
ในแต่ละปีมีงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์และได้รับรางวัลระดับโลกมากมาย และมีงานวิจัยจำนวนไม่น้อยที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ แต่ยังไม่ถูกนำมาขยายผลในธุรกิจหรือนำมาใช้ประโยชน์และสร้างให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและทางการตลาดเท่าที่ควร ซึ่งมีสาเหตุมาจากข้อจำกัดในหลายๆ ประการ
สำหรับการร่วมมือกับคณะวิทย์จุฬาฯ จะเน้นผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ ปัจจุบันทดสอบตลาดอยู่ 4 ตัว ได้แก่ PETA Whitening Gold Serum, Ruby Coco Smoothie Cream, Plaicoco Face and Body Scrubb และ ไพลโลเพน
ด้านกลยุทธ์การทำตลาดหลังจากนี้ ปิติสุขค์ กล่าวว่า นอกจากการผลิตเป็นแบรนด์ของตนเองเพื่อขายในประเทศไทยแล้ว ยังมีแผนจะต่อยอดไปสู่ตลาดต่างประเทศ เพราะบางประเทศไม่มีสารสกัดจากธรรมชาติแบบประเทศไทย
บริษัทมีแผนจะทำ Original Design Manufactuere (ODM) คือรับจ้างออกแบบและผลิตสินค้าให้กับบริษัทเพื่อนำไปขายในแบรนด์ตัวเอง โดยมองตลาดอินเดีย ส่วน CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) กำลังเจรจาเพื่อดูว่าจะเอาผลิตภัณฑ์ตัวไหนไปขาย รวมถึง โรงพยาบาลในไทยที่ต้องการให้ช่วยผลิตเป็น Local Brand
ทั้งนี้ แผนเปิดตัว Grand Opening คาดว่าจะเกิดขึ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้านี้ เพราะจะต้องรอปิดดีลกับนักลงทุน รวมถึงปรับดีไซน์แพ็กเกจให้พร้อมออกสู่ตลาด
ส่วน ยศพงศ์ เตชะพรสิน ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการและการตลาด บริษัทพีต้าอินโนเวชั่น จำกัด กล่าวเสริมถึงด้านการทำตลาดว่า จุดแข็งของบริษัทนอกจากจะมีการสร้างนวัตกรรมของตนเองแล้ว ยังเป็นบริษัทที่เกิดจากการรวมตัวกับของกลุ่มนักธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการตลาดและมีเครือข่ายความร่วมมือกับธุรกิจในภาคส่วนต่างๆทั้งในและต่างประเทศ ที่มองเห็นเทรนด์การเติบโตของธุรกิจสินค้านวัตกรรมร่วมกัน
บริษัทนำผลงานวิจัยดังกล่าว มาขยายผลต่อยอดและผลิตเป็นสินค้าในกลุ่ม สุขภาพ ความงาม และการชะลอวัยใน ได้แก่ PETA Whitening Gold Serum ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวหน้า ผลิตภัณฑ์ Plaicoco มาร์กสูตรไพล ผสมโกโก้ ช่วยลดอาการอักเสบของผิว ต่อต้านริ้วรอยคงความชุ่มชื้นให้กับผิว และ ไพรโลเพน ครีมสารสกัดไพลเข้มข้นนาโนอิมัลชัน ที่ช่วยบรรเทาอาการปวด อักเสบ ของกล้ามเนื้อ
ในอนาคตอันใกล้ บริษัทยังมีแผนที่จะนำผลงานวิจัยเกี่ยวกับการสกัดและรักษาสารออกฤทธิ์ที่อยู่ในพืชผลทางการเกษตรหรือสมุนไพรของไทยไปพัฒนาเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าในรูปแบบต่างๆ อีกหลายผลิตภัณฑ์ โดยสินค้าที่ผลิตและจัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ PETA Innovation ทุกชิ้นจะต้องมีผลงานวิจัยเข้ามารองรับ