กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เกาะติดนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ของกัมพูชา พบตั้งเป้าดันเศรษฐกิจโต 6-7% ใน 2 ปี พร้อมปรับปรุงกฎหมายลงทุน-การร่วมทุนรัฐและเอกชน-การแข่งขันทางการค้า พร้อมเร่งทำ FTA กับคู่ค้าใหม่ๆ ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ชี้! ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้โอกาสจากกฎหมายลงทุนฉบับใหม่ เข้าไปขยายลงทุนทำธุรกิจในกัมพูชาและเชื่อมโยงไปตลาดอื่นๆ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจการค้าของกัมพูชา พบว่า กัมพูชามีแผนจะเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา (นายปาน สรศักดิ์) ได้เปิดเผยภายในงานสัมมนาทิศทางการค้าและโอกาสการลงทุนในกัมพูชา ปี 2566 ว่า ในปี 2566-2567 กัมพูชาตั้งเป้าให้เศรษฐกิจขยายตัว 6-7% ผ่านการปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับ อาทิ กฎหมายการลงทุน กฎหมายการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน และกฎหมายการแข่งขันทางการค้า เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและอำนวยความสะดวกการค้าการลงทุน พร้อมทั้งมีแผนจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับคู่ค้าใหม่ๆ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้าไปลงทุนในกัมพูชามากขึ้น โดยเฉพาะสาขาใหม่ๆ อาทิ เศรษฐกิจหมุนเวียน และพลังงานสีเขียว
นางอรมน กล่าวว่า ปัจจุบันกัมพูชามี FTA กับอาเซียน 8 ฉบับ อาทิ อาเซียน-จีน อาเซียน-อินเดีย อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลีใต้ และอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และมีความตกลงระดับทวิภาคี 2 ฉบับ คือ กัมพูชา-จีน และกัมพูชา-เกาหลีใต้ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2565 โดยล่าสุด กัมพูชาสามารถสรุปผลการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (CEPA) กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ได้แล้ว นอกจากนี้ กัมพูชายังแสดงความสนใจจะเปิดการเจรจา FTA กับอีกหลายประเทศ อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ อินเดีย ญี่ปุ่น และสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย
นางอรมน เพิ่มเติมว่า กัมพูชามีกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ที่ประกาศใช้เมื่อปี 2564 เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติ สามารถถือหุ้นได้ถึง 100% ซึ่งมีเงื่อนไขเช่นเดียวกับชาวกัมพูชา ยกเว้นเพียงการถือครองที่ดิน อีกทั้งกฎหมายใหม่ยังให้สิทธิประโยชน์กับนักลงทุนที่เป็น SMEs โดยกัมพูชายังมีมาตรการยกเว้นภาษีประเภทต่างๆ ให้กับนักลงทุน อาทิ สามารถเลือกการยกเว้นภาษีเงินได้เป็นเวลา 3 ถึง 9 ปี นับจากเวลาที่มีรายได้ครั้งแรก หรือเลือกการหักค่าเสื่อมราคาของรายจ่ายลงทุนที่เกิดขึ้นได้สูงสุด 200% เป็นเวลา 9 ปี และมีสิทธิ์ได้รับยกเว้นภาษีกำไร ภาษีส่งออก ภาษีนำเข้าวัสดุก่อสร้างและเครื่องจักรกลในการผลิต รวมถึงภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเพื่อส่งออก อีกทั้งยังได้ปรับปรุงระบบการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจให้สามารถดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ได้ สำหรับข้อมูลสิทธิประโยชน์การลงทุนและกฎระเบียบการประกอบธุรกิจสืบค้นได้ที่เว็บไซต์ www.cdc.gov.kh และ www.ccfdg.gov.kh
“การเร่งจัดทำ FTA กับคู่ค้าใหม่ๆ ตลอดจนการปรับปรุงกฎระเบียบและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในการประกอบธุรกิจ เพื่อเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ ทำให้กัมพูชาเป็นประเทศที่น่าจับตามองอีกครั้ง นับตั้งแต่ถูกสหภาพยุโรประงับสิทธิประโยชน์ทางภาษี (EBA) ในปี 2563 ประกอบกับมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 5-6% และตลาดแรงงานมีค่าจ้างยังไม่สูงนัก ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่และมีความนิยมในสินค้าไทย ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทยที่จะสามารถเข้าไปลงทุนและใช้กัมพูชาเป็นประตูเชื่อมโยงไปยังตลาดอื่นๆ ได้อีกด้วย” นางอรมน เสริม
ทั้งนี้ ปัจจุบันกัมพูชาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 17 ของไทยในโลก และเป็นอันดับที่ 6 ของไทยในกลุ่มอาเซียน ในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับกัมพูชา มีมูลค่า 9,800.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+22.93%) โดยไทยส่งออกไปกัมพูชา มูลค่า 8,675.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+22.58%) และไทยนำเข้าจากกัมพูชา มูลค่า 1,125 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+25.68%) สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องดื่ม และน้ำตาลทราย และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ ผักผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผักผลไม้ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ลวดและสายเคเบิล และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ