นางสาวทิวาพร ผาสุข รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ปัจจุบันพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ได้มีการปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยปกติและอัตราดอกเบี้ยผิดนัดให้มีความสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ เพื่อให้ลูกหนี้ไม่ต้องได้รับความเดือดร้อนจากภาระดอกเบี้ยที่เกินสมควร ประกอบกับพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 38 วรรคสอง กำหนดให้ ข้าราชการซึ่งออกจากราชการและได้รับบำเหน็จไปแล้ว หากกลับเข้ารับราชการใหม่ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2540 จะนับเวลาราชการต่อเนื่องได้ ต้องคืนบำเหน็จที่ได้รับพร้อมดอกเบี้ยตามอัตราเงินฝากประจำของธนาคารออมสิน ส่วนระยะเวลาในการคืนบำเหน็จให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้มีการกำหนดการคิดดอกเบี้ยในกรณีข้าราชการกลับเข้ารับราชการแล้วคืนบำเหน็จเพื่อนับเวลาราชการต่อเนื่องล่าช้าเอาไว้ ดังนั้น เพื่อให้การคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดในการคืนบำเหน็จเพื่อนับเวลาราชการต่อเนื่องของข้าราชการที่กลับเข้ารับราชการใหม่ ไม่ต้องรับภาระดอกเบี้ยเกินสมควรและสอดคล้องกับกฎหมายที่ได้ปรับปรุงแก้ไข กรมบัญชีกลางจึงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับระยะเวลาในการคืนบำเหน็จเพื่อนับเวลาราชการต่อเนื่อง กรณีกลับเข้ารับราชการใหม่ เพื่อให้ส่วนราชการต่าง ๆ ถือปฏิบัติ
“หลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ปรับปรุงการคิดอัตราดอกเบี้ยในการคืนบำเหน็จล่าช้า จากเดิมในอัตรา 7.5% ต่อปี ปรับเป็นอัตรา 3% ต่อปี บวกด้วยอัตราเพิ่ม 2% ต่อปี ในต้นเงินบำเหน็จพร้อมดอกเบี้ย และมีผลใช้บังคับย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ใช้บังคับ สำหรับส่วนราชการที่ได้มีการคิดดอกเบี้ยในการคืนบำเหน็จล่าช้าในอัตรา 7.5% ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 และส่วนราชการได้นำเงินส่งคลังไปแล้ว ให้ส่วนราชการขอถอนคืนเงินรายได้แผ่นดินตามข้อบังคับกระทรวงการคลังและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อคืนให้แก่ผู้กลับเข้ารับราชการใหม่ต่อไป รายละเอียดเพิ่มเติมตามหนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0408.3/ว 109 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2566 ทั้งนี้ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Call Center กรมบัญชีกลาง 0 2270 6400 ในวัน เวลาราชการ” โฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวทิ้งท้า