เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ที่ผ่านมา บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange ® 2030 เพื่อต่อยอดความสำเร็จของโครงการตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นด้าน การสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้คนและดูแลรักษาท้องทะเล การผลักดันอุตสาหกรรมอาหารทะเลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก การทำงานเพื่อตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนของ UN SDGs และ การดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงงานถูกกฎหมาย หรือจัดหาวัตถุดิบ ซึ่งการประกาศในครั้งนี้เป็นการ ก้าวกระโดด จากกลยุทธ์เดิมผ่านพันธกิจทั้งหมด 11 ข้อ ที่ครอบคลุมทั้ง 3 มิติ คือ การจัดหาวัตถุดิบ การผลิตและการกระจายสินค้า และผู้บริโภคและชุมชน
จากความตั้งใจแก้ปัญหาความยั่งยืนท้องทะเล จนเกิดเป็น SeaChange®
หากย้อนกลับไปถึงที่มาของจุดกำเนิดกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® ในปี 2016 จนมาถึงการประกาศกลยุทธ์ SeaChange® 2030 ในครั้งนี้ เพราะการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น จนทำให้ระบบนิเวศตกอยู่ในความเสี่ยง
จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ ไทยยูเนี่ยน ในฐานะผู้นำธุรกิจอาหารทะเลระดับโลกจึงได้รุกประกาศกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® เป็นครั้งแรกในปี 2016 เพื่อแสดงถึงบทบาทเชิงบวกต่อชุมชนและคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่า ประชากรโลกกว่า 600 ล้านคนพึ่งพามหาสมุทรเป็นแหล่งอาหารและใช้ในการประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา
หลังจากประกาศ กลยุทธ์ SeaChange® ในปี 2016 ไทยยูเนี่ยน ได้ประกาศพันธกิจการจัดหาปลาทูน่าอย่างยั่งยืนเป็นครั้งแรกอีกด้วย โดยมีเป้าหมายว่าภายในปี 2020 ปลาทูน่า 75% ของผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของบริษัท จะต้องมาจากการประมงที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการรับรองมาตรฐานสินค้าประมง (Marine Stewardship Council : MSC) หรือมาจาก Fishery Improvement Projects หรือ FIP (โครงการพัฒนาการประมง) ซึ่งเมื่อสิ้นปี 2020 ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าภายใต้ตราสินค้าของ ไทยยูเนี่ยน กว่า 88 เปอร์เซ็นต์ มาจากแหล่งประมงที่ได้รับการรับรองจาก MSC หรือจากแหล่งที่เป็น FIP ซึ่งทำได้ดีกว่าที่เป้าหมายกำหนด
จากความสำเร็จของการประกาศพันธกิจปลาทูน่ายั่งยืนทำให้ ไทยยูเนี่ยน เดินหน้าต่อโดยขยับตัวเลขเป็น 100% ของผลิตภัณฑ์ รวมถึง OEM จะต้องมาจากแหล่งประมงที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานภายในปี 2025
นอกจากนี้ยังประสบความสำเร็จในอีกหลากหลายภารกิจ ไม่ว่าจะเป็น
- การเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนของอาหารทะเลสากล (International Seafood Sustainability Foundation: ISSF)
- ได้รับเกียรติเป็นเป็นประธาน SeaBOS หรือ Seafood Business for Ocean Stewardship ในปี 2022
- ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) สำหรับตลาดเกิดใหม่ 9 ปีติดต่อกัน และได้อันดับ 1 ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งไทยยูเนี่ยนเคยได้ในปี 2018 และปี 2019
- ติดอันดับดัชนี FTSE4Good Emerging Index เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน
- นำหลักการ “นายจ้างคือผู้จ่ายเงิน” (Employer Pays Principle) มาใช้เพื่อมิให้พนักงานคนใดต้องจ่ายเงินสำหรับค่าใช้จ่ายในการสมัครงานและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง
- บริจาคอาหารเกือบ 1 ล้านมื้อพร้อมกับเวชภัณฑ์อื่น ๆ ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา ผ่านโครงการ Thai Union Cares
- ออกสินเชื่อส่งเสริมความยั่งยืน และหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loans and Sustainability-Linked Bonds) รวม 27,000 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยที่เชื่อมโยงกับตัวชี้วัดผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน และตั้งเป้าหมายให้ภายในปี 2025 เงินกู้ยืมระยะยาวของบริษัท 75% มาจากเงินทุนที่ส่งเสริมความยั่งยืน (Blue Finance)
พันธกิจ 11 ข้อ ความท้าทายใหม่ของ SeaChange ® 2030
จากความสำเร็จตั้งแต่เริ่มโครงการ SeaChange® ครั้งแรกในปี 2016 จนถึงปัจจุบัน ทำให้ ไทยยูเนี่ยน พร้อมยกระดับการทำงานด้านความยั่งยืนไปอีกขั้นถึงปี 2030 โดยมีเป้าหมายที่กว้างขึ้น และลึกขึ้น ดูแลครอบคลุมทั้งมิติผู้คนและสิ่งแวดล้อม และยังคงตอบโจทย์ UNSDGs ผ่านพันธกิจทั้ง 11 ข้อ ดังนี้
1.เส้นทางสู่ Net Zero: โดยจะเดินหน้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 42% จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงขององค์กร การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้ไฟฟ้า และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ ภายในปี 2030 ก่อนจะเดินหน้าบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050
2.การทำประมงอย่างรับผิดชอบ: อาหารทะเลที่จับจากธรรมชาติ จะผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ หรือมาจากโครงการปรับปรุงการประมงทั้ง 100% และขยายขอบเขตการทำงานมากกว่าวัตถุดิบปลาทูน่าไปยังสัตว์น้ำอื่นๆ นอกจากนี้ด้านแนวปฏิบัติด้านแรงงานจะต้องมีความปลอดภัย เท่าเทียม
3.การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างรับผิดชอบ: กุ้งเพาะเลี้ยงทั้ง 100% จะต้องผลิตขึ้นโดยส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน้อยที่สุด และสอดคล้องกับแนวปฏิบัติด้านสวัสดิการและสภาพการทำงานของอุตสาหกรรมอาหาร
4.การฟื้นฟูระบบนิเวศ: สนับสนุนงบจำนวน 250 ล้านบาท (มากกว่า 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศ เช่น ปกป้องและฟื้นฟูป่าชายเลน แนวปะการัง และป่าดิบชื้น
5.เกษตรกรรมที่มีความรับผิดชอบ: วัตถุดิบถั่วเหลืองและน้ำมันปาล์มทั้งหมด 100% ได้รับการรับรองว่าจะปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า ส่วนวัตถุดิบไก่จะได้รับการจัดหาอย่างมีความรับผิดชอบ
6.กระบวนการผลิตที่เป็นเลิศ: ปรับปรุงระบบภายในโรงงานเพื่อลดการปล่อยน้ำเสียเป็นศูนย์ ลดของเสียฝังกลบเป็นศูนย์ และลดการสูญเสียอาหารเป็นศูนย์ โดยจะนำร่องในโรงงานหลัก 5 แห่ง ทั้งในและต่างประเทศ
7.งานที่ปลอดภัย มีคุณค่า และเท่าเทียม: เดินหน้าสร้างสถานที่ทำงานที่ปลอดภัย มีคุณค่า ยอมรับความแตกต่างและหลากหลาย มีความเท่าเทียม ให้กับพนักงานทุกคนและยังขยายผลให้ครอบคลุม:
-50% ของผู้บริหารองค์กรเป็นผู้หญิง
-100% ของเรือประมงที่จัดหาวัตถุดิบให้บริษัทจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และไม่มีแรงงานทาสสมัยใหม่
-100% ของฟาร์มสัตว์น้ำที่จัดหาวัตถุดิบให้บริษัทจะต้องดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านแรงงาน
8.การลดขยะพลาสติกในทะเล: จัดการขยะพลาสติก 1,500 ตัน ไม่ให้มีสารเคมีลงไปปนเปื้อนสู่แม่น้ำลำคลองและทะเล
9.โภชนาการและสุขภาพ: ผลิตภัณฑ์ 100% ที่เก็บได้ในอุณหภูมิห้อง (เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง) ภายใต้แบรนด์ของบริษัทจะต้องยึดตามแนวทางด้านโภชนาการ และ 100% ของผลิตภัณฑ์ที่เก็บได้ในอุณหภูมิห้องที่ออกใหม่ทั้งหมดภายใต้แบรนด์ของบริษัท จะต้องส่งเสริมโภชนาการเชิงบวกเพื่อสุขภาพที่ดี
10.บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน: ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์สินค้าของบริษัท 100% จะต้องใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนภายในปี 2025 และจะสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่ผลิตให้กับคู่ค้าอย่างน้อย 60% ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน
11.การเป็นพลเมืองดีของสังคม: สนับสนุนงบประมาณจำนวน 250 ล้านบาท (มากกว่า 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อช่วยเหลือและตอบแทนชุมชนในพื้นที่ที่บริษัทดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีงานบรรเทาสาธารณภัยในช่วงเวลาวิกฤติอีกด้วย
ทั้งนี้ การบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ เหล่านี้ จะช่วยลดปริมาณคาร์บอน จำกัดปริมาณของเสียให้น้อยที่สุด รวมถึงป้องกันและฟื้นฟูระบบนิเวศ ให้เกิดขึ้นจริงตลอดห่วงโซ่มูลค่า
ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ณ วันนี้ไทยยูเนี่ยนมองว่าความยั่งยืนคือหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจ และ SeaChange® เปรียบเสมือนใบอนุญาตที่จะทำให้องค์กรดำเนินธุรกิจได้ในโลกปัจจุบัน การดูแลทรัพยากรด้วยความรับผิดชอบเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อเป็นแหล่งอาหารและอาชีพให้กับประชากรโลกในรุ่นต่อไป
ไทยยูเนี่ยนตระหนักถึงสถานการณ์และความเร่งด่วนที่จะต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ครั้งนี้เราจึงตั้งงบประมาณ 7,200 ล้านบาท หรือกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเท่ากับกำไรสุทธิที่บริษัทได้รับในปี 2022 ทุ่มให้กับการทำกลยุทธ์ความยั่งยืนยาวไปถึงปี 2030 พร้อมตั้งเป้าหมายที่ท้าทายเพื่อมุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับห่วงโซ่มูลค่าธุรกิจอาหารทะเล
“SeaChange® 2030 จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้องค์กรของเราบรรลุวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืน เราเชื่อมั่นว่าความเปลี่ยนแปลงที่ช่วยกันผลักดัน จะเกิดประโยชน์ไม่เพียงแต่กับบริษัทเท่านั้น แต่คือความยั่งยืนเพื่อพวกเราทุกคน” ธีรพงศ์ จันศิริ กล่าวเสริม
ขณะที่ อดัม เบรนนัน ผู้อำนวยการกลุ่มด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “วันนี้ อุตสาหกรรมอาหารทะเลต้องลุกขึ้นมาเดินหน้าดูแลผู้คน ดูแลโลก และมหาสมุทร เราต้องลงมือทำตั้งแต่วันนี้ และด้วยกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® เรามุ่งมั่นผลักดันให้อุตสาหกรรมอาหารทะเลของโลกดีขึ้น ความท้าทายเหล่านี้ต้องอาศัยพลังและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล องค์กร รวมไปถึงภาคประชาชน ที่จะช่วยกันทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นจริง วันนี้บริษัทกับพันธมิตรพร้อมแล้วที่จะขอให้ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมอาหารทะเลทั่วโลกหันมาร่วมกันทำให้โลกของเรายั่งยืน”
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.seachangesustainability.org/