ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รับเชิญเป็นผู้บรรยายในหัวข้อ “The Great Remake: Always Ahead of the Curve” ในฐานะผู้นำขององค์กรที่ดำเนินธุรกิจ โดยคำนึงถึงความยั่งยืนทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลหรือ ESG มาตลอดระยะเวลาการดำเนินงานเกือบ 40 ปี โดยให้ความสำคัญกับการนำ ESG มาอยู่ในธุรกิจหรือการทำให้ ESG กลายเป็นธุรกิจเพื่อสร้างความยั่งยืน ในงานสัมมนา “ESG Game Changer #เปลี่ยนให้ทันโลก” จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ณ สามย่านมิตรทาวน์
ชัยวัฒน์ ได้กล่าวถึงการนำ ESG มาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ เปรียบเสมือนเป็น DNA ของบางจากฯ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน โดยยกตัวอย่างการดำเนินการต่าง ๆ ที่เป็น “รายแรก” ในประเทศไทย เช่น โครงการ “น้ำมันแลกข้าว” เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผ่านสหกรณ์การเกษตรในช่วงราคาข้าวตกต่ำและน้ำมันแพง ซึ่งได้มีการพัฒนาเป็นปั๊มสหกรณ์หรือปั๊มชุมชนแห่งแรกในปี 2533 จนปัจจุบันมีปั๊มชุมชนกว่า 600 แห่งทั่วประเทศ เป็น Social Enterprise ที่สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง หรือ การนำผลิตภัณฑ์ชุมชนมาเป็นของสมนาคุณลูกค้าสถานีบริการเพื่อช่วยสร้างความยั่งยืนของเศรษฐกิจชุมชน เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และการเป็นผู้นำพลังงานทดแทน ผลิตไบโอดีเซล เอทานอลจำหน่ายในสถานีบริการในปี 2548
เมื่อเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน บางจากฯ ก็เป็นบริษัทไทยรายแรกที่ไปลงทุนเหมืองแร่ลิเทียมในทวีปอเมริกาใต้ผ่านบริษัทในสหรัฐอเมริกา และขยายธุรกิจพลังงานสะอาดผ่านบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) รวมถึงตั้งสถานีบริการน้ำมัน GEMS ต้นแบบด้านนวัตกรรมและสิ่งแวดล้อม มีระบบกักเก็บพลังงานและซื้อขายไฟฟ้าผ่านบล็อคเชน และเป็นหนึ่งในบริษัทแรก ๆ ของประเทศที่ประกาศเป้าหมาย Net Zero GHG Emissions ในค.ศ. 2050 ผ่านแผน BCP316 NET เมื่อปี 2563 นอกจากนี้ ยังได้สร้างระบบนิเวศต่าง ๆ สำหรับสังคมคาร์บอนต่ำ อาทิ บุกเบิกแพลตฟอร์มให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าพร้อมเครือข่ายสถานีบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ Winnonie จัดตั้ง Carbon Markets Club เพื่อส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ส่งเสริมองค์ความรู้เรื่อง Synthetic Biology ฯลฯ และล่าสุด ได้ก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) จากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วรายแรกในประเทศไทย
โดย ชัยวัฒน์ ได้ชี้ให้เห็นว่า SAF เป็นคำตอบสำคัญทั้งในด้านโอกาสทางธุรกิจและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากแนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันในภาคขนส่งทางถนนทั่วโลกที่กำลังลดลง ในขณะที่ความต้องการในภาคการขนส่งทางน้ำและทางอากาศยังเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งมีคาดการณ์ว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมการบินจะเพิ่มสูงขึ้นมาก ดังนั้น SAF จึงเป็นแนวทางสำคัญในการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคธุรกิจการบิน โดยนอกจากบางจากฯ จะเป็นผู้ผลิต SAF รายแรกของประเทศในระยะ 1-2 ปีข้างหน้าแล้ว ยังจะพัฒนาระบบลงทะเบียน Book and Claim หรือ ระบบจองและรับสิทธิ์โดยใช้บล็อคเชนผ่าน Carbon Markets Club เพื่อให้ผู้โดยสารสายการบินสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเดินทางทางอากาศผ่านการใช้ SAF ด้วย
“สำหรับการลงทุนเพื่อโลกและสังคม สิ่งสำคัญคือการหาธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์ ผสาน ESG เข้าไปในธุรกิจและสร้างผลตอบแทนในระยะยาว ESG จึงจะอยู่ได้อย่างยั่งยืน” ชัยวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย