เป็นการขยายความร่วมมืออีกครั้งของ AIS กับ “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” โดยในครั้งนี้ร่วมมือกับ กรุงเทพมหานคร ส่งต่อความรู้และสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์แก่บุคลากรทางการศึกษา ทั้งครู และนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้ง 437 แห่ง ที่มีบุคลากรและนักเรียนรวมกันมากกว่า 250,000 คน มุ่งสู่การสร้างพลเมืองดิจิทัลพร้อมยกระดับดัชนีสุขภาวะดิจิทัล (Thailand Cyber Wellness Index) ของกลุ่มนักเรียนในพื้นที่ กทม. ให้อยู่ในระดับที่รู้เท่าทัน สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และเหมาะสม
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีนโยบายเรียนดี มีเป้าหมายมุ่งพัฒนาด้านการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัด กทม. ให้สอดรับกับยุคสมัยของโลกดิจิทัล เพราะวันนี้โลกเปลี่ยนไปมาก อาชีพการงานก็เปลี่ยนไปมากเช่นกัน เพราะฉะนั้นการศึกษาจะต้องเปลี่ยนแปลงไปให้ตอบโจทย์เด็กยุคใหม่ ที่ผ่านมา กทม. ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาของโรงเรียนในสังกัด นำเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มด้านการเรียนการสอนเข้ามาใช้มากขึ้น ขณะเดียวกันการมีคอนเทนต์ที่ดี จะเป็นตัวช่วยผลักดันให้เด็กเข้าถึงการศึกษาที่ดีได้
การร่วมมือกับ AIS ในครั้งนี้ กทม. จะนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ เข้ามาบูรณาการเป็นสื่อการสอนในวิชาวิทยาการคำนวณ สังคม และแนะแนว ให้กับนักเรียนในสังกัดรวม 437 แห่ง ทั้งบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียน ผู้ปกครอง รวมถึงประชาชนโดยรอบในชุมชนมากกว่า 250,000 คน ได้เข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ มีภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ และสามารถใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย
“กทม. ต้องปักธงเป็นที่แรกๆ ในการปฏิรูปการศึกษา เด็กยุคนี้จะต้องเข้าใจด้านดิจิทัลอย่างถูกต้อง ซึ่งการจะไปถึงเป้าหมายได้ เราจะต้องสร้างเครือข่าย นอกจากนี้ยังต้องสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่นอกเหนือจากหลักสูตร ให้แต่ละโรงเรียนนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ไปออกแบบการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับเด็กในแต่สถาบัน และแน่นอนว่าจะมีการวัดผล ซึ่ง กทม. จะทำงานร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข” ศานนท์ กล่าว
สายชล ทรัพย์มากอุดม รักษาการหัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า ที่ผ่านมา AIS ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ ทั้งกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พัฒนา “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” เพื่อยกระดับการศึกษายุคดิจิทัลในการสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ ล่าสุดได้ร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ส่ง “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” เข้าสถานศึกษากว่า 29,000 โรงเรียนในเครือทั่วประเทศ และยังขยายผลไปสู่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา หรือแม้แต่การส่งต่อไปยังภาคประชาชนผ่านสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) นอกจากนี้ยังได้ทำมาตรวัดทักษะดิจิทัลฉบับแรกของไทย ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล (Thailand Cyber Wellness Index) พบว่า สุขภาวะดิจิทัลโดยรวมคนไทยยังอยู่ในระดับที่ Improvement หรือกลุ่มที่ต้องการการพัฒนาเพิ่ม
ด้าน แพทย์หญิง วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวเสริมว่า วันนี้โลกออนไลน์เป็นโลกคู่ขนานกับโลกจริงไปแล้ว ปัญหาเด็กติดเกม ติดโซเชียล ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามมาด้วยไซเบอร์บูลลี่ และ ปัญหาที่น่าเป็นห่วงมากขึ้น คือ การนัดเจอคนรู้จักในโลกออนไลน์เพื่อหลอกลวง ซึ่งที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิต ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับ AIS พัฒนา “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” เพื่อให้คนไทยใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ได้อย่างมีความสุข ปลอดภัย และลดอัตราการเป็นโรคซึมเศร้าจากการถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์
“เด็กสมัยนี้อ่านหนังสือน้อยลงและเรียนรู้จากโลกออนไลน์เป็นหลัก แต่บางครั้งไม่รู้ว่าสิ่งที่เรียนรู้มาจริงหรือไม่ สิ่งสำคัญคือผู้ใหญ่จะต้องเรียนหลักสูตรนี้เพื่อไปสอนเด็กต่อได้ เพราะหากรอให้เด็กพบปัญหาด้วยตนเองก็จะแก้ไขได้ยาก” ดร.ณรงค์ มั่งคั่ง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มจธ. กล่าวเสริม
“เราเห็นความสำคัญของการที่ผู้คนมีสุขภาวะที่ดีจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Wellness) จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่วันนี้เราขยายความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร เพื่อขยายผลส่งต่อหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์สู่เยาวชน บุคลากรทางการศึกษาทั้ง 437 แห่ง มากกว่า 250,000 คน ให้มีภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ สามารถใช้สื่อดิจิทัลได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับดัชนีสุขภาวะดิจิทัลของเด็กไทยและคนไทยให้อยูในระดับที่เพิ่มสูงขึ้นต่อไป” สายชล กล่าวปิดท้าย
หมายเหตุ : “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” นำเสนอเป็น 4 Professional Skill Module หรือ 4P4ป ที่ครอบคลุมทักษะดิจิทัล ดังนี้
1. Practice: ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม
2.Personality: แนะนำการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์
3. Protection: เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์
4. Participation: รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://sustainability.ais.co.th/th/sustainability-projects/thailands-cyber-wellness-index