ส่องวิวัฒนาการฟินเทคไทยและเอเชีย ผ่านเวทีสยามพารากอน The Global Tech Talk @SCBX NEXT TECH

ส่องวิวัฒนาการฟินเทคไทยและเอเชีย ผ่านเวทีสยามพารากอน The Global Tech Talk @SCBX NEXT TECH

โลกการเงินดิจิทัล (Fintech) ทั่วโลกไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เริ่มจากการพัฒนาโมบาย เปย์เม้นท์ การสร้างคิวอาร์โค้ดเพื่อการชำระเงิน และบริการทางการเงินดิจิทัลอื่น ๆ อีกมากมายภายใต้กระเป๋าเงินดิจิทัลที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ล้วนมีส่วนช่วยทำให้ชีวิตได้จับจ่ายอย่างสะดวกง่ายดาย และสังคมไทยกำลังก้าวสู่โลกไร้เงินสด (Cashless) ซึ่งจากเวที The Global Tech Talk @SCBX NEXT TECH ที่ สยามพารากอน สร้างปรากฏการณ์รวบรวมบุคคลสำคัญระดับโลกของวงการดิจิทัลจากนานาประเทศ มาร่วม แบ่งปันองค์ความรู้ไว้ในงานเดียวได้มากที่สุดอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ในงานเปิด SIAM PARAGON NEXT TECH x SCBX เทคคอมมูนิตี้เพื่อการเรียนรู้แห่งโลกอนาคต หวังจุดประกายขับเคลื่อนผู้คนเพื่อให้ Smarter, Better และ Richer ณ ชั้น 4 สยามพารากอน เป็นงานครั้งสำคัญผู้สนใจในเทคโนโลยีทุกแขนงมาตักตวงความรู้และพัฒนาตนเอง รวมทั้งในเรื่อง เทคโนโลยีการเงิน

ETDA เปิดวิธีการแจ้งข้อมูลกฎหมาย DPS ไม่ยากอย่างที่คิด รีบลงทะเบียนก่อนสาย!

ปัจจุบันประเทศไทย การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดเริ่มเป็นที่รู้จักและใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ติด 1 ใน 3 ประเทศที่มีการชำระเงินผ่านมือถือมากที่สุดในโลก ทั้งร้านค้าสะดวกซื้อ และระบบขนส่งมวลชนหลักของประเทศ และในทุก ๆ ที่ แต่ก็ยังมีส่วนของพื้นที่ ที่บริการยังเข้าไปไม่ถึง อาทิ เช่น กลุ่มเอสเอ็มอี หรือกลุ่มเกษตรกร เป็นต้น

สร้างธนาคารเสมือนจริงให้ทั่วถึงมากขึ้น

ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า เราทุกคนล้วนมีบัญชีอยู่ในระบบสถาบันการเงิน แต่ผู้คนกว่า 80% ในประเทศไทย ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการการเงินมากนัก แม้ว่าจะมีการใช้จ่ายเงินดิจิทัลแพร่หลาย จะเห็นได้จากบริการของกลุ่มเจมาร์ทเอง ซึ่งอยู่ในธุรกิจค้าปลีก ภายใต้แบรนด์เจมาร์ท และซิงเกอร์ โดยมีทีมบริการขายตรงจากตัวแทนขายกว่า 4,000 ตัวแทน แต่กระนั้นการซื้อสินค้าของผู้คนก็ยังต้องการบริการการผ่อนชำระ แต่เมื่อไม่มีบัตรเครดิต ก็ไม่สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้ ดังนั้น ธนาคารเสมือนจริงของ J Ventures จึงพยายามที่จะเข้ามาตอบโจทย์ในส่วนนี้

ข้อมูลทำให้เห็นรูปแบบพฤติกรรมผู้ใช้ในประเทศไทยมีประชากรกว่า 70 ล้านคน ซื้อสินค้าแบบออฟไลน์ก็จะเห็นพฤติกรรมที่มีความต้องการทางด้านการเงินระดับหนึ่ง แต่เมื่อเป็นการซื้อขายออนไลน์จะสามารถเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าได้ทั้งหมดจากข้อมูลดิจิทัลที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น ทำให้สามารถนำเสนอรูปแบบบริการทางการเงินได้ตรงความต้องการของแต่ละคน การผูกบริการทางการเงินร่วมกับสินค้าที่ต้องการ บริการเช่นนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากธุรกิจที่เป็นธนาคารอย่างเดียว แต่สำหรับธุรกิจการค้าปลีกที่มีธนาคารดิจิทัลด้วยจะสามารถทำได้ ไม่ว่าผู้บริโภคจะจ่ายอะไรหรือซื้อสินค้าอะไร ข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บและนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมได้หมด ซึ่งเราหวังว่าบริการนี้จะเปิดตัวให้สาธารณชนได้ภายในปีนี้

เทคโนโลยีบล็อกเชน จิ๊กซอว์ดันฟินเทคโต

ด้าน ไมเคิล ซุง (Michael Sung) Chairman, Horizen Digital, and Director, Instituted of Digital Finance Innovation, Zhejiang University International Business School กล่าวว่า เทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัลมีส่วนสำคัญและต้องตอบโจทย์ สามารถเชื่อมให้เกิดการประสานกันของบริการดิจิทัลจากทุกภาคส่วนได้อย่างสมบูรณ์แบบ “เทคโนโลยีบล็อกเชน” จะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่สำคัญ โดยสามารถมองมันเป็นอินเทอร์เน็ตแห่งความไว้วางใจรูปแบบใหม่ เพื่อให้สามารถกระจายอำนาจการควบคุมสิ่งเหล่านี้ได้ เทคโนโลยีนี้จะสามารถนำข้อมูลจากส่วนต่างๆ ของโลกมารวมกันได้

บล็อกเชนกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลที่แตกต่างกันทั้งหมดบนระบบนิเวศบล็อกเชนอื่น ๆ แต่ตัวเปลี่ยนเกมจริงๆ ก็คือเทคโนโลยีการควบคุม (Regtech) เพราะปัจจุบันสกุลเงินคริปโต มีมูลค่าอุตสาหกรรมมากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยเมื่อแปลงข้อมูลสินทรัพย์เป็นดิจิทัล ก็จะทำให้สินทรัพย์นั้นเป็นอิสระ ซึ่งจะเป็นการลบขอบเขตของพรมแดนและภูมิศาสตร์หรือระบบนิเวศทางกายภาพ ซึ่งทำให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ขึ้น โดยปัจจุบันเศรษฐกิจดิจิทัลคิดเป็นประมาณ 40% ของเศรษฐกิจโลก ซึ่งรวมทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน

ขณะที่ตลาดทั่วเอเชีย ทั้งสิงคโปร์ ฮ่องกง และไทยถือเป็นสถานที่แห่งเดียวที่มีกรอบการกำกับดูแลที่ชัดเจน และเมื่อรับทราบถึงการดำเนินการทางด้านกฎระเบียบทางกฎหมายที่ชัดเจนแล้ว ก็จะสามารถปลดล็อกสินทรัพย์มูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ เช่น มูลค่าหุ้น พันธบัตร สินค้าโภคภัณฑ์ ต่างๆ ฯลฯ และนั่นคือสิ่งที่จีนกำลังทำอยู่ตอนนี้ โดยคณะกรรมการปฏิรูปหลักทรัพย์ของจีน หรือ สำนักงาน ก.ล.ต. ของจีน กำลังแปลงหุ้นและพันธบัตรทั้งหมดเป็นดิจิทัลและวางไว้บนบล็อกเชน เพื่อเขียนเส้นทางสายไหมใหม่สู่การเป็นผู้นำการเงินดิจิทัลของโลก และเชื่อมโยงเครือข่ายไปกว่า 230 ประเทศทั่วโลก พร้อมวางโครงสร้างพื้นฐานใหม่คือ Silk Road แบบดิจิทัล ซึ่งเป็นบล็อกเชนอินเทอร์เน็ตแห่งความไว้วางใจ

ด้าน รูเบน ลิม (Reuben Lim) COO, Singapore Fintech Association ให้ความเห็นว่า ปัจจุบัน ฟินเทค สามารถครองตลาดได้ทั้งหมด เนื่องจากเทคโนโลยีในภาคการเงิน ถ้าย้อนกลับไปในอดีตมีเพียง MasterCard, Visa และผู้คนที่มีความต้องการที่ยืดหยุ่น ทำให้แทบไม่มีโอกาสของการครอบงำตลาดได้เลย ซึ่งบริษัททางการเงินเหล่านี้มียอดการทำธุรกรรมหลายล้านล้านดอลลาร์ทุกวัน ดังนั้นในบางแง่มุมก็นับว่าเป็นความสะดวกที่เพิ่มเข้ามาของเทคโนโลยีเช่นกัน และความสะดวกดังกล่าวนี้ก็ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับตลาดการเงินที่เพิ่มขึ้นด้วย นั่นก็เพราะความสามารถของเทคโนโลยี

ในอดีต การทำธุรกิจหากต้องการชำระเงินผ่านธนาคารหนึ่งต้องใช้เวลาถึง 3 วัน เพื่อรอรับเงินที่โอนจากธนาคารหนึ่งไปยังอีกธนาคารหนึ่ง แต่เมื่อปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนแล้ว จะสามารถลดเวลาลงเหลือเพียงไม่กี่นาที และยังสามารถเพิ่มประสิทธิผลของเงินขึ้นเป็นสามเท่าได้ เนื่องจากบล็อกเชนเข้าไปช่วยตัดกระบวนการบางอย่าง และเพิ่มความปลอดภัยในการบันทึกธุรกรรมแทน ทำหึความเร็วในการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้น เงินก็จะมีสภาพคล่องให้กับธุรกิจมากขึ้น

โลก“ฟินเทค” ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า

แนวโน้มของฟินเทคในอนาคตจะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก User centric มากขึ้น โดยมีสองเทรนด์ที่ตลาดต้องให้ความสำคัญดังนี้ อย่างแรกก็คือ “การเงินฝังตัว” (Embed Finance) แนวโน้มการลงทุนในการเงินแบบฝังตัวที่กำลังพุ่งสูงขึ้น ซึ่งการเงินแบบฝังตัวนั้นเป็นบริการทางการเงินโดยผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ยกตัวอย่างเช่นการบริการรถสารธารณะอย่าง Grab หรือ Uber มีการธุรกรรมทางการเงินมากมาย ภายในแอปเหล่านั้น ดังนั้นในอนาคต จะได้เห็นการเงินแบบฝังตัวอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น และในอนาคตมันจะเป็นสิ่งที่ค่อนข้างท้าทายสำหรับธนาคาร ในการสร้างความแตกต่างทางด้านบริการให้เกิดขึ้น

แน่นอนว่าในอนาคตผู้คนอาจจะไม่ไปธนาคารอีกต่อไป เนื่องจากมีผู้ให้บริการรายอื่น ๆ อีกมากมายที่พร้อมจะโต้ตอบกับผู้บริโภคและนำเสนอบริการทางการเงิน ที่หลอมรวมเข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้นผ่านทางแอปพลิเคชัน

เทรนด์ที่ 2 คือ การจัดการข้อมูลอัจฉริยะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาสร้างความได้เปรียบในการสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า ด้วยข้อมูลที่ในทุกวันนี้เป็นมากกว่าทองคำ ข้อมูลมีมูลค่าในตัวเอง ข้อมูลเหล่านี้นี้สามารถผลักดันให้เกิดศรษฐกิจดิจิทัลได้ ดังนั้น ประโยชน์ของการแบ่งปันข้อมูลโดยได้รับความยินยอมแลกกับการรับบริการที่ดีขึ้น เมื่อรวมข้อมูลเหล่านั้นจากภาคส่วนอื่นๆ เช่น ภาคสาธารณูปโภค ภาคโทรคมนาคม เข้าไว้ด้วยกันก็จะสามารถช่วยผู้คนในการวางแผนการเงินของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกเหนือจาก 2 เทรนด์ดังกล่าวแล้ว ด้านเศรษฐกิจในอนาคตจะยากขึ้น การเข้าถึงการเงินจะเข้มงวดมากขึ้น ก่อให้เกิดแนวคิด “ความยั่งยืน” ก็มีความสำคัญ เพราะโลกของเรากำลังจะตาย ทุกคนจึงต้องมีส่วนร่วมในการช่วยกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นเรื่อยๆ และอีกแนวโน้มที่สำคัญคือ การขยายการธนาคาร ธนาคารไหนก็ตามที่สามารถจัดหาโซลูชันหรือฟังก์ชันของการให้บริการได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นก็จะเป็นข้อได้เปรียบ และนั่นคือสาเหตุที่ธนาคารต่างๆ พยายามผลักดันขอบเขตของการให้บริการ ให้ขยายบริการออกไปให้ได้มากที่สุด รวมถึงเพิ่มในส่วนของการให้บริการลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจง ที่แต่เดิมจะต้องใช้ต้นทุนมากในการให้บริการ โดยธนาคารเหล่านี้จะหาวิธีลดต้นทุน แต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อขยับไปสู่การเป็นธนาคารแถวหน้าของโลกต่อไปในอนาคต

Scroll to Top