รางวัล James Dyson Award ที่มอบรางวัลให้กับวิศวกรและนักประดิษฐ์ทั่วโลก ได้ประกาศผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ โดยในปีนี้มีผู้ชนะทั้งหมด 3 สาขา ได้แก่ รางวัลชนะเลิศระดับนานาชาติ, รางวัลชนะเลิศสาขาความยั่งยืน, และรางวัลชนะเลิศสาขามนุษยธรรม โดยผู้ชนะเหล่านี้ได้รับเลือกจาก Sir James Dyson โดยตรงและจะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 1,200,000 บาทสำหรับการพัฒนาผลงานต่อไป
Sir James Dyson ผู้ก่อตั้ง James Dyson Foundation และผู้เลือกผลงานชนะเลิศกล่าวถึงผลงานในปีนี้ว่า “แทนที่จะนั่งดูปัญหาที่พวกเราพบในทุกวัน นักประดิษฐ์รุ่นใหม่ในปีนี้เป็นผู้ที่กล้าลงมือแก้ไขปัญหาด้วยเทคโนโลยีและการออกแบบ นอกจากนั้นสิ่งที่น่าประทับใจจากผู้เข้าแข่งขันปีนี้ก็คือความมุ่งมั่นและตั้งใจในการพัฒนาโลกของเรา ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารางวัลนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการพาคนรุ่นใหม่เหล่านี้ไปสู่ความสำเร็จ”
รางวัลชนะเลิศสาขามนุษยธรรม – The Life Chariot ผลงานโดย Piotr Tluszcz
จากเหตุการณ์ความขัดแย้งในยูเครน Piotr ได้เห็นความท้าทายในการเคลื่อนย้ายอพยพผู้บาดเจ็บในพื้นที่ที่เดินทางยาก ซึ่งส่งแรงบันดาลใจให้เขาคิดค้นและออกแบบ The Life Chariot รถพ่วงสำหรับกู้ภัยในพื้นที่กันดารที่สามารถพ่วงกับยานพาหนะได้แทบทุกชนิด โดยคุณสมบัติที่มีน้ำหนักเบาและระบบกันสั่นสะเทือนทำให้ดารเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยมีความปลอดภัยมากกว่า
ความสนใจในการประดิษฐ์รถพ่วงของ Piotr เกิดจากทริปกับครอบครัวที่เดินทางผ่านคาบสมุทรบอลข่านและเทือกเขาพิเรนีส หลังจากนั้นเป็นเวลา 10 ปีหลังจากที่ได้เขาเรียนจบในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท จึงได้เกิด The Life Chariot ขึ้น รถพ่วงกู้ภัยนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ทีมกู้ภัยโดยเพิ่มพื้นที่จำนวน 1 เตียงสำหรับผู้บาดเจ็บและ 2 ที่นั่งสำหรับทีมแพทย์สนามหรือผู้บาดเจ็บเล็กน้อย โดยผลงานจริง 2 ชิ้นแรกถูกนำส่งให้แก่ หน่วยแพทย์สนามยูเครนและมูลนิธิแพทย์อาสา โดยได้ลองใช้ The Life Chariot จริงทั้งในพื้นที่ภูเขา ป่าทึบ และเหมือง
“รางวัล James Dyson Award ในปีนี้ได้มีสาขาพิเศษขึ้นมา นั่นก็คือสาขามนุษยธรรม โดยมอบให้กับ Piotr ผู้คิดคินวิธีการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บจากพื้นที่ที่ท้าทาย โดยรถพ่วง The Life Chariot สามารถพ่วงกับรถได้ทุกชนิด ทำให้แพทย์สนามสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในสถานการณ์ที่มีทรัพยากรจำกัด นอกจากนั้นการได้เห็นขั้นตอนการปรับปรุงและพัฒนาตามผลตอบรับจากผู้ที่นำ The Life Chariot ไปใช้จริงเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก” Sir James Dyson กล่าว
Piotr ยังคงพัฒนา The Life Chariot จากผลตอบรับที่ได้จากผู้ใช้งานจริง ซึ่งก็คือทีมแพทย์สนามในแนวหน้าสมรภูมิ นอกจากนั้นเขายังพัฒนาให้ The Life Chariot สามารถปฏิบัติการในพื้นที่ภูเขาได้ด้วย
Piotr Tluszcz ได้กล่าวถึงการชนะรางวัลในสาขามนุษยธรรมไว้ว่า “ผมหวังว่า The Life Chariot ที่ได้รับการสนับสนุนจาก James Dyson Award จะสามารถช่วยชีวิตผู้ประสบภัยได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการอพยพจากพื้นที่สงครามหรือการกู้ภัยจากอุบัติเหตุในพื้นที่ที่ยากจะเข้าถึง”
รางวัลชนะเลิศระดับนานาชาติ – The Golden Capsule ผลงานโดย Chae Yujin, Kim Daeyeon, Shin Yeonghwan and Yuan Bai
สืบเนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวบริเวณตุรกี – ซีเรีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 55,000 คนและบาดเจ็บกว่า 100,000 ราย ปัญหาที่พบคือทีมแพทย์สนามต้องถือถุง IV ไม่ว่าจะเป็นเลือดหรือน้ำเกลือ ในขณะที่ยังต้องเดินทางในพื้นที่ที่ยากลำบาก
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทีมนักศึกษาและนักประดิษฐ์จากมหาวิทยาลัยฮงอิก (Hongik University) ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ได้ออกแบบผลงานในชื่อ The Golden Capsule อุปกรณ์สำหรับการให้สารทางเส้นเลือดโดยไม่ต้องถือและไม่ต้องใช้ไฟฟ้า โดยเพื่อให้เกิดแรงดันของเหลวเข้าสู่เส้นเลือดปกติการให้ IV จะอาศัยแรงโน้มถ่วง ทำมห้แพทย์สนามต้องถือถุงเหนือผู้ป่วย ทำให้อาจไม่สามารถทำอย่างอื่นไปพร้อมกันได้ The Golden Capsule จะใช้แรงจากความยืดหยุ่นและความต่างของแรงดันอากาศแทน ทำให้แพทย์สนามไม่จำเป็นต้องถือถุง IV อีกต่อไป
“ทีม The Golden Capsule สามารถระบุปัญหาและข้อจำกัดของการให้ IV แบบปัจจุบันได้ ซึ่งก็คือการต้องพึ่งพาแรงโน้มถ่วงหรือพลังงานไฟฟ้า ในพื้นที่ประสบภัย The Golden Capsule สามารถนำไปใช้ได้โดยสะดวกมากขึ้น โดยการใช้ถุงที่มีแรงดันที่สามารถวางในตำแหน่งไหนก็ได้ โดยเครื่องนี้จะสามารถดันสารเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ทีมแพทย์สนามสามารถทำอย่างอื่นได้โดยไม่จำเป็นต้องถือถุง IV เช่นเดิม” Sir James Dyson กล่าว
ทีม The Golden Capsule จะยังคงปรับปรุงและพัฒนาตัวต้นแบบร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์เพื่อให้เครื่องมือสามารถนำไปใช้ได้ในหลากหลานสถานการณ์รวมถึงในโรงพยาบาลด้วย โดยทีมนักศึกษามีแผนที่จะพัฒนาผลงานนี้ไปสู่การผลิตเพื่อการพาณิชย์ด้วย
ทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮงอิก ได้กล่าวว่า “เราได้เห็นความยากลำบากของทีมแพทย์สนามที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยกับการให้สารทางหลอดเลือด และหลังจากเราได้คิดค้นโซลูชันนี้ขึ้นมาเสียงตอบรับก็เป็นไปในทางที่ดีมาตลอด โดยเป้าหมายสูงสุดของพวกเราคือการสร้างมาตรฐานใหม่ของถุง IV ไม่เพียงแค่ในสถานการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น แต่รวมถึงในโรงพยาบาลด้วย”
รางวัลชนะเลิศระดับความยั่งยืน – E-COATING ผลงานโดย Hoi Fung, Ronaldo Chan, and Can Jovial Xiao
ในฮ่องกง เครื่องปรับอากาศเป็นเครื่องใช้ฟ้าที่ใช้พลังงานมากเกือบ 1 ใน 3 ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด นอกจากนั้นบนเกาะฮ่องกงมีขยะขวดแก้วจำนวนกว่า 470,000 ขวดต่อวัน[2]
E-COATING คือโซลูชันที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สามารถแก้ได้ถึง 2 ปัญหาบนเกาะฮ่องกง โดยสารเคลือบนี้ทำมาจากขยะเศษแก้วที่สามารถทาลงบนพื้นผิวของบ้าน โดยจะสามารถช่วยสะท้อนแสงอาทิตย์ได้ทำให้อาคารมีการดูดซับความร้อนน้อยลง และลดการใช้เครื่องปรับอากาศได้ในที่สุด
“Ronaldo และ Jovial ได้นำเสนอไอเดียที่ชาญฉลาดในการเปลี่ยนขยะให้เป็นสิ่งที่ล้ำค่า E-COATING ใช้ขยะเศษแก้วในการทำมาทำสารเคลือบอาคารที่สามารถสะท้อนแสงอาทิตย์ได้ ทำให้สามารถลดการใช้ไฟฟ้าในการปรับอากาศลงได้อย่างมาก โซลูชันที่สามาระแก้ไขได้ถึง 2 ปัญหานี้ทำได้ทั้งช่วยสิ่งแวดล้อมและประหยัดเงิน” Sir James Dyson กล่าว
เงินรางวัลจาก James Dyson Award จะช่วยในการพัฒนา E-COATING ในด้านของการติดทนนานและการทาให้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นทีมยังมีแผนที่จะพัฒนาสูตรให้สามารถใช้บนพื้นผิวด้านในอาคารได้ด้วย
“ทีมของเราคิดค้น E-COATING ขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เราทุกคนเผชิญอยู่ เงินรางวัลที่ได้รับมาจะทำให้เราสามารถค้นคว้าวิจัยและพัฒนาได้มากขึ้น รวมถึงช่วยให้เราสามารถก่อตั้งบริษัทในการพาสิ่งประดิษฐ์ของพวกเราไปอีกขั้น” Jovial หนึ่งในสมาชิกทีม E-COATING กล่าว