กล้องวงจรปิดเป็นอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย สามารถพบเห็นได้ตามท้องถนน อาคารบ้านเรือน หรือแม้แต่รถยนต์ส่วนบุคคล ถือเป็นระบบรักษาความปลอดภัยที่ขาดไม่ได้ในปัจจุบัน เมื่อใดที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบหรืออาชญากรรม “กล้องวงจรปิด” ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะช่วยภาครัฐระบุตัวตนผู้ต้องสงสัยและช่วยตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อโลกหมุนเปลี่ยนเข้าสู่ยุคที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมเริ่มเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนประเทศ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ ที่หลายคนเคยอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว
แต่แท้จริงแล้วเอไอได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาด้านต่างๆ มากมาย อาทิ ด้านการแพทย์ การเกษตร ด้านการศึกษา ภาคธุรกิจ รวมไปถึงด้านความมั่นคงของประเทศ หลายภาคส่วนเริ่มมองเห็นแนวทางใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ เช่นเดียวกับนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียที่มีแนวคิดนำเอไอมาปรับใช้ และพัฒนากล้องวงจรปิดให้อัจฉริยะมากขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับภัยความไม่สงบและปัญหาอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยวันนี้ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. ที่ให้การสนับสนุนนวัตกรรมดังกล่าวจะพาไปชมความล้ำที่รับรองว่าทุกคนจะต้องรู้สึกทึ่งและภาคภูมิใจไปกับเทคโนโลยีนี้
· เปิดแนวคิดการสร้างระบบแพลตฟอร์มติดตามบุคคลจากกล้องหลายตัวด้วยเอไอ
รศ.ดร.มงคล เอกปัญญาพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญญาประดิษฐ์ จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และเจ้าของโครงการระบบแพลตฟอร์มสำหรับการติดตามบุคคลจากกล้องหลายตัว เล่าว่า แรงผลักดันที่ทำให้เกิดแนวคิดที่จะทำ “โครงการระบบแพลตฟอร์มสำหรับการติดตามบุคคลจากกล้องหลายตัว” มาจากความสนใจที่จะนำ “เอไอ” มาทำงานค้นหาและติดตามผู้ต้องสงสัยแทนคน โดยได้เอาเหตุระเบิดบริเวณแยกราชประสงค์ เมื่อปี 2558 ที่กล้องวงจรปิดบริเวณโดยรอบศาลพระพรหมสามารถบันทึกเหตุการณ์ก่อนและหลังเกิดเหตุระเบิด รวมถึงจับภาพชายเสื้อเหลือง ผู้ต้องสงสัยก่อเหตุวางระเบิดได้ แต่กว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถแกะรอยหาเส้นทางหลบหนี จนนำไปสู่การจับกุมชายผู้ต้องสงสัยได้สำเร็จ ต้องไล่กล้องวงจรปิดทั้งของส่วนราชการและภาคเอกชน ซึ่งใช้เวลานานหลายสัปดาห์ มาเป็นโจทย์ในการสร้างนวัตกรรมที่จะมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับงานด้านความปลอดภัยและความมั่นคงของประเทศ
· สอน เอไอ ทำงานแทนคน ค้นหารูปพรรณผู้ต้องสงสัยจากกล้องวงจรปิดด้วยเทคนิค “ดีพ เลิร์นนิง”
ระบบแพลตฟอร์มสำหรับการติดตามบุคคลจากกล้องหลายตัว ที่วิจัยและพัฒนาขึ้น เป็นการนำเทคนิค “ดีพ เลิร์นนิง” ที่ถูกสร้างขึ้นจากปัญญาประดิษฐ์โดยใช้โครงข่ายประสาทเทียมมาใช้ในการเทรนระบบซอฟต์แวร์ multi-camera tracking ที่พัฒนาขึ้นเพื่อหาบุคคลรูปพรรณสัณฐาน ให้เกิดการจดจำลักษณะทางกายภาพของบุคคล ประเภทของสี รูปแบบของเครื่องแต่งกาย ซึ่งชุดคำสั่งนี้จะทำให้คอมพิวเตอร์สามารถประมวลผลข้อมูลจำนวนมากได้ อีกทั้งยังมีความแม่นยำมากกว่าคนในด้านของการเรียนรู้และจดจำ ดังนั้น เวลาเกิดเหตุความไม่สงบ หรือปัญหาอาชญากรรมเพียงแค่ดึงภาพของผู้ต้องสงสัยที่บันทึกได้จากกล้องวงจรปิดป้อนเข้าไปยังระบบ เพียงเท่านี้ซอฟต์แวร์ก็จะทำหน้าที่วิเคราะห์ ประมวลผล ค้นหา และติดตามผู้ต้องสงสัย โดยการเชื่อมต่อกับกล้องวงจรปิดตัวอื่นๆ ที่ได้ติดตั้งไว้ตามจุดต่างๆ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถติดตามผู้ต้องสงสัยได้ทันท่วงที
· ต้นแบบซอฟต์แวร์ติดตามบุคคลของไทย ช่วยลดงบประมาณการนำเข้า เซฟเวลา ค้นหาแสดงผลแบบเรียลไทม์
สำหรับระบบแพลตฟอร์มติดตามบุคคลจากกล้องวงจรปิดหลายตัว เป็นซอฟต์แวร์อันดับต้น ๆ ที่นักวิจัยสามารถพัฒนาขึ้นสำเร็จในประเทศไทย นอกจากจะช่วยลดการนำเข้า ยังช่วยลดการเสียเงินตราออกนอกประเทศ เพราะซอฟต์แวร์ที่ไทยพัฒนาขึ้นมีความสามารถใกล้เคียงกับที่เคยสั่งซื้อจากต่างประเทศในราคา 1 ล้านบาท อีกทั้งระบบยังมีความโดดเด่นในเรื่องของสามารถที่จะปรับจูนให้เหมาะกับการใช้งานในประเทศ โดยการสอนให้ เอไอ เรียนรู้ที่จะจดจำและค้นหาวัตถุสิ่งของที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย อย่างเช่น เครื่องแต่งกายชุดไทย รถตุ๊กตุ๊ก หรืออัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ ซึ่งซอฟต์แวร์ต่างประเทศไม่สามารถค้นหาได้ มีความแม่นยำในการเปรียบเทียบอัตลักษณ์ใกล้เคียงกับรูปพรรณสัณฐานที่ต้องการอยู่ที่ 85% เพราะในบางกรณีที่ เอไอ ค้นหาบุคคลที่มีรูปพรรณสัณฐานใกล้เคียงกับผู้ต้องสงสัยมากกว่า 1 คน ระบบยังคงต้องใช้เจ้าหน้าที่ในการช่วยวินิจฉัยเพิ่มเติม แต่การใช้ เอไอ ช่วยค้นหาบุคคลต้องสงสัยจะสามารถช่วยร่นระยะเวลาการไล่กล้องของเจ้าหน้าที่จากเดิม 1 – 2 สัปดาห์ เหลือเพียงแค่หลักนาที ก็จะตามเกาะรอยผู้ต้องสงสัยได้ครบทุกจุด และสามารถแสดงผลการค้นหาได้แบบเรียลไทม์
· จากห้องแล็บสู่การสร้างประโยชน์สาธารณะร่วมกับ กทปส.
โครงการระบบแพลตฟอร์มสำหรับการติดตามบุคคลจากกล้องหลายตัว ปัจจุบันมีการใช้งานใน 2 พื้นที่ คือ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย จะเป็นการใช้ในส่วนของการวิจัยและพัฒนาระบบในระดับห้องปฏิบัติการ ส่วนการทดสอบและใช้งานจริงของระบบจะเป็นการเชื่อมต่อ เอไอ กับกล้อง 100 ตัว ที่ติดตั้งบริเวณสกายวอล์ก ย่านราชประสงค์ ซึ่งเป็นการทำวิจัยระหว่างสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการราชประสงค์ ภายใต้การสนับสนุนเงินทุน โดยกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. เพื่อเป็นการช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ในกรณีเกิดเหตุอาชญากรรม จะสามารถติดตามบุคคลต้องสงสัยได้ทันท่วงที เป็นการพัฒนาและยกระดับการรักษาความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วยนวัตกรรม
–Kingston Technology เปิดตัว Mini Dragon แฟลชไดร์ฟ USB รุ่นลิมิเต็ด ประจำปี 2567
“ปัจจุบันประเทศไทยมีองค์ความรู้ที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมขึ้นมาใช้ในประเทศได้ แต่ก็ต้องมีทุนวิจัยสนับสนุน ขอบคุณ กทปส. ที่เห็นความสำคัญและช่วยสนับสนุนโครงการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยในอนาคตวางเป้าหมายอยากจะพัฒนาระบบแพลตฟอร์มให้มีความแม่นยำเพิ่มขึ้น เนื่องจากตอนปิดโครงการเคยได้รับคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิ อยากเห็นความต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำไปขยายผลใช้งานจริงในพื้นที่ทางด้านความมั่นคงที่ดูแลโดยตำรวจ ทหาร ซึ่งทางกองทุน กทปส. ก็มีการให้ทุนกับโครงการต่อเนื่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ของการนำระบบแพลตฟอร์มสำหรับการติดตามบุคคลจากกล้องหลายตัวไปขยายผลใช้จริง ในพื้นที่ด้านความมั่นคงของประเทศ”