ซีอีโอ เพย์ โซลูชั่น (ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ) เปิดข้อมูลไทยขาดดุลดิจิทัลปีละ 2 แสนล้านบาท เทียบเท่ากับการส่งออกข้าวไทยถึง 2 ปี ชี้สถานการณ์น่าห่วง เพราะพฤติกรรมผู้ใช้งานจ่ายเงินซื้อบริการดิจิทัลเพิ่มขึ้นทุกปี จี้ภาครัฐเร่งทำข้อมูลการขาดดุลบริการดิจิทัลที่ชัดเจน ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการขาดดุล
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์ โซลูชั่น จำกัด เปิดเผยถึงสถานการณ์ขาดดุลบริการดิจิทัลของประเทศไทย ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ผู้บริโภคชาวไทยหันมาใช้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ให้บริการจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 15-20% สาเหตุมาจากการปรับตัวของผู้ให้บริการ โดยเปลี่ยนจากที่เคยให้ผู้บริโภคซื้อสิทธิ์ในการใช้ซอฟท์แวร์ เป็นการสมัครสมาชิกจ่ายรายเดือนแทน ทำให้คนเข้าถึงการใช้งานได้มากขึ้น คาดว่าคนไทย จะมีค่าใช้จ่ายในการซื้อบริการดิจิทัลแบบสมัครสมาชิก เฉลี่ยคนละ 2-3 พันบาทต่อปี
โดยประเมินว่าคนไทยที่ใช้บริการออนไลน์ทั่วไป ซึ่งมีอยู่กว่า 50 ล้านคนทั่วประเทศ ในจำนวนนี้หากมีผู้จ่ายเงินสมัครสมาชิกซื้อบริการดิจิทัล ราว 10-20 ล้านคน จะเป็นเงินมหาศาล แต่ปัญหาคือเงินที่ผู้บริโภคจ่ายออกไปเพื่อซื้อบริการดิจิทัลเหล่านี้ จะถูกส่งตรงไปยังผู้ให้บริการในต่างประเทศ โดยที่ไทยไม่ได้รับประโยชน์ แม้กรมสรรพากรจะออกกฎหมายเรียกเก็บภาษีบริการดิจิทัล หรือ E-Service Tax สำหรับผู้ให้บริการที่มีรายได้ 1.8 ล้านบาทขึ้นไป ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ก็ตาม แต่เงินส่วนใหญ่ก็ยังถูกส่งไปต่างประเทศ เพราะภาษีที่เรียกเก็บจะถูกผลักภาระให้ผู้บริโภคจ่ายผ่านราคาบริการที่เพิ่มขึ้น
ข้อมูลที่น่าสนใจพบว่า ในปี 2566 คนไทยจ่ายเงินซื้อบริการดิจิทัลจากผู้ให้บริการที่ขึ้นทะเบียน 177 ราย คิดเป็นมูลค่ากว่า 96,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บภาษี E-Service ได้ที่ 6,700 ล้านบาทเท่านั้น แต่ในสถานการณ์จริง ยังมีผู้ให้บริการดิจิทัลอีกเป็นพันรายที่ยังไม่มาขึ้นทะเบียน เมื่อประเมินแล้วมูลค่าการซื้อบริการดิจิทัลจากผู้ให้บริการทั้งที่ขึ้นทะเบียนและยังไม่ขึ้นทะเบียน รวมแล้วจะไม่ต่ำกว่าปีละ 2 แสนล้านบาท เทียบเท่ากับการส่งออกข้าวไทยถึง 2 ปี หรือใกล้เคียงกับเม็ดเงินที่ใช้ในการนำเข้าน้ำมันในแต่ละปี ที่น่าเป็นห่วงคือเม็ดเงินจำนวน 2 แสนล้านบาทนี้ ยังไม่ถูกนำไปคำนวณการขาดดุลของประเทศ เพราะไม่เคยมีการรวมบริการดิจิทัลเข้าไป ขณะที่หลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น มีการนำเรื่องบริการดิจิทัลเข้าไปคำนวณแล้ว
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับใช้เงินซื้อโฆษณาบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ของสมาคมสื่อโฆษณาดิจิทัล ที่เปิดเผยว่าในแต่ละปี มีการจ่ายเงินซื้อโฆษณาบนแพลตฟอร์มเกฟซบุ๊ก ปีละกว่า 8 พันล้านบาท แต่เฟซบุ๊ก (ประเทศไทย) รายงานตัวเลขรายได้เพียง 400 กว่าล้านบาทเท่านั้น ยังมีส่วนต่างอีก 7 พันกว่าล้านบาทที่ถูกส่งตรงไปยังผู้ให้บริการในต่างประเทศ , ส่วนการซื้อโฆษณาบนแพลตฟอร์ม กูเกิล เฉลี่ยปีละ 5-6 พันล้านบาท แต่กูเกิล(ประเทศไทย) มีรายได้ 1,366 ล้านเท่านั้น เช่นเดียวกับ ติ๊กตอก ที่มีการซื้อโฆษณาปีละ 2 พันล้านบาท แต่ติ๊กตอก (ประเทศไทย) รายงานรายได้เพียง 786 ล้านบาท เมื่อนำเม็ดเงินที่สมาคมสื่อโฆษณาดิจิทัล ซื้อโฆษณาบน 3 แพลตฟอร์มดังกล่าวมารวมกัน จะพบว่า มีเม็ดเงินซื้อโฆษณา ที่ถูกส่งตรงไปต่างประเทศมากถึงปีละ 14,371 ล้านบาท และหากไม่ทำอะไร ประเทศไทยจะต้องเจอกับภาวะขาดดุลดิจิทัลเพิ่มขึ้นอีก จากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล
ทั้งนี้ ภาวุธ ยังเสนอว่า รัฐบาลต้องเริ่มจัดทำข้อมูลการขาดดุลบริการดิจิทัลที่ชัดเจน ว่าแต่ละมีมีการขาดดุลจริง ๆ เท่าไหร่ และอยู่ที่บริการด้านใดบ้าง เพื่อที่จะวางแผนในการสนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการขาดดุล , เพิ่มการส่งออกสินค้าดิจิทัลของไทยไปยังต่างประเทศ หรือ ดึงบริษัทที่ให้บริการดิจิทัล มาตั้งโรงงานในไทย เพื่อลดการขาดดุลดังกล่าว