สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เดินหน้าสร้างสตาร์ทอัพสายเกษตรให้เพิ่มขึ้น โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีเชิงลึก เพื่อเร่งการเติบโตและแก้ไขปัญหาซ้ำซ้อนในภาคเกษตร ที่ต้องการปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบเดิมไปสู่การพึ่งพาเทคโนโลยี ในปัจจุบันประเทศไทยมีสตาร์ทอัพเกษตรอยู่เพียง 81 ราย และเป็นกลุ่มเทคโนโลยีเชิงลึกไม่ถึง 15 ราย นอกจากนี้ ยังเผยถึงมูลค่าการลงทุนในตลาดสตาร์ทอัพเกษตรที่มีอยู่กว่า 5.1 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือราว 1.7 ล้านล้านบาท โดยปีนี้ NIA ยังคงผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพด้านการเกษตรในระบบนิเวศอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการ AGROWTH ซึ่งจะเปิดรับสมัครสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกด้านการเกษตรที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ ทดสอบการใช้งานจริง ตลอดจนปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเกษตรร่วมกับบริษัทชั้นนำในภาคธุรกิจการเกษตร ซึ่งเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ถึง 10 พฤษภาคม 2567
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ภาคเกษตรมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของไทยอย่างมาก แต่กลับมีอัตราการเติบโตช้ากว่าประเทศอื่น เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงทำการผลิตแบบเดิม ดังนั้น NIA จึงพยายามจะพัฒนาภาคเกษตรของไทยให้พร้อมรับกับการแข่งขันและความต้องการอาหารของทั่วโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 70 ในปี 2050 ด้วยการพลิกโฉมไปสู่การเกษตรที่ทันสมัยและยั่งยืน ซึ่งหนึ่งในแนวทางสำคัญคือ การเพิ่มจำนวนผู้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สอดคล้องกับธุรกิจเกษตร โอกาสสำคัญที่จะทำให้เกษตรไทยมีมูลค่าและพร้อมนำสินค้า – บริการแข่งขันในตลาดได้มากขึ้น จากปัจจุบันที่มีเพียง 81 ราย
นอกจากนี้ ยังเผยถึงมูลค่าการลงทุนในตลาดสตาร์ทอัพเกษตรที่มีอยู่กว่า 5.1 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือราว 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่ง NIA จะเร่งผลักดันให้สตาร์ทอัพไทยมีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนดังกล่าว โดยเฉพาะ 3 เทคโนโลยีที่มีศักยภาพและโอกาสในการเติบโตและรับการลงทุน ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร
“สตาร์ทอัพเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกเป็นเสมือนฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้ภาคเกษตรไทยเติบโต ถือเป็นตัวเปลี่ยนเกมทั้งช่วยทำให้ผลผลิตมีมูลค่าสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตต่ำลง กระบวนการที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็วตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ตลอดจนการสร้างสายพันธุ์หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ที่แตกต่างจากท้องตลาด ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ดังนั้น NIA จึงเร่งสร้างสตาร์ทอัพในโครงการ AGROWTH ให้เกิดการเติบโตอย่างรวดเร็ว สามารถแก้ไขโจทย์ปัญหาอันซ้ำซ้อนของภาคเกษตรด้วยเทคโนโลยีเชิงลึก สอดรับกับตลาดผู้ใช้งานและสอดคล้องกับภาคการลงทุน ด้วยการดึงเครือข่ายธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่เข้ามาช่วยปรับโมเดลธุรกิจ ให้คำปรึกษาอย่างตรงจุด สร้างโอกาสการลงมือทำพิสูจน์โซลูชั่นกับโจทย์ปัญหาที่ท้าทายของภาคเกษตร”
ดร.กริชผกา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการศึกษาข้อมูลในตลาดสตาร์ทอัพเกษตรของไทยพบว่าที่ผ่านมามีการระดมทุนอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันมูลค่ารวมประมาณ 2,500 ล้านบาทจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งถือว่ายังไม่มากนัก และเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมี 3 เทรนด์เทคโนโลยีเชิงลึกจากทั่วโลกที่น่าจับตาและเป็นแนวทางสำหรับสตาร์ทอัพไทยในอนาคต ดังนี้
- ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) จากการใช้ข้อมูลทางการเกษตรขนาดใหญ่คาดการณ์และทำนายเพื่อการทำเกษตรให้เกิดความแม่นยำ และสร้างมาตรฐานใหม่ที่มีผลทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรองรับ เช่น อัลกอริธึม AI ที่ช่วยให้นักปฐพีวิทยาใช้น้ำและปุ๋ยให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างชัดเจน เป็นเทคโนโลยีที่คาดว่าจะเติบโตเป็น 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.55 แสนล้านบาทในปี 2028 โดยในไทยมีสตาร์ทอัพเกษตรที่ได้รับการร่วมลงทุนในเทคโนโลยีนี้ ได้แก่ อีซี่ไรซ์ (Easy Rice) ระบบ AI มาช่วยตรวจสอบสายพันธุ์ข้าวเปลือกและคุณภาพข้าวสาร เป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะกับ NIA เมื่อปี 2020 และได้มีโอกาสทำงานกับกลุ่มบริษัทผู้ผลิตข้าว ทำให้เข้าใจปัญหาที่แท้จริงในการตรวจสอบคุณภาพข้าว นำสมองอัจฉริยะที่เที่ยงตรงไปใช้งาน ทำให้เกิดความมั่นใจในโรงสีผู้ใช้งานมากกว่า 250 แห่งทั่วประเทศ มีการใช้งาน AI เพื่อตรวจสอบมากกว่า 300,000 ครั้ง ครอบคลุมข้าวมากถึง 6 ล้านตัน และเริ่มขยายการใช้งานไปยังกลุ่มปลูกข้าวอาเซียนในประเทศกัมพูชาและเวียดนาม จึงได้รับระดมทุนรอบ Pre-Series A กว่า 2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 66 ล้านบาท จากบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) บริษัท ยิบอินซอยและแย็คส์ จำกัด และ บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด
- หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ การขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร ผลักดันให้เกิดความต้องการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาทำงานทางการเกษตรมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้สารเคมี ส่งผลต่อการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต เช่น การใช้โดรนช่วยพ่นยา พ่นปุ๋ย แทนแรงงานคน และมีการคาดการณ์ว่าตลาดนวัตกรรมนี้จะมีมูลค่าประมาณ 265.97 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวหลักสิบล้านล้านบาท ในช่วงปี 2566 – 2575 ซึ่งสตาร์ทอัพด้านหุ่นยนต์ทางการเกษตรที่ได้รับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยี และการสนับสนุนจากนักลงทุนและบริษัทใหญ่ ได้แก่ เอชจี โรโบติกส์ (HG Robotics) สตาร์ทอัพที่พัฒนาหุ่นยนต์และระบบบริหารจัดการอัตโนมัติ ซึ่งได้รับเงินลงทุนจากกลุ่มทรูดิจิทัลที่ขยายธุรกิจเปิดโรงงานผลิตโดรนการเกษตรและหุ่นยนต์ที่ได้รับมาตรฐานโลกแห่งแรกในประเทศไทย พร้อมผลิต “ไทเกอร์โดรน” หุ่นยนต์ระบบการบินอัตโนมัติซอฟท์แวร์ภาษาไทย ที่เก็บข้อมูลได้อย่างปลอดภัยและแม่นยำ เป็นผลงานที่สตาร์ทอัพไทยเริ่มทำตั้งแต่ออกแบบชิ้นส่วน การประกอบ จนส่งถึงมือผู้ใช้งาน โดยได้รับการร่วมลงทุนจากบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด
- เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร จากความต้องการปกป้องสิ่งแวดล้อม และผู้บริโภคต้องการอาหารปลอดภัย เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงจึงถือเป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มมูลค่าของภาคเกษตรกรรม และการจัดการกับความท้าทายต่างๆ เช่น ศัตรูพืช ความแห้งแล้ง การสร้างพันธุ์พืชใหม่ อีกทั้งยังมีการประเมินว่า มูลค่าการระดมทุนของสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพทั่วโลก มีมูลค่า 85.80 พันล้านบาท ถือเป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่มีมูลค่าการลงทุนสูงมากในด้านเกษตร ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพเกษตรไทยที่ได้รับการร่วมลงทุนจากการนำนวัตกรรมดังกล่าวมาใช้ ได้แก่ ยูนิฟาร์ส (UniFahs) จากผลิตภัณฑ์ SalmoGuard ที่มีฤทธิ์ทำลายเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลล่าในลำไส้และระบบทางเดินอาหารของสัตว์ปีก เพื่อทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมี จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเฟจ (Phage) มากกว่า 15 ปี ทำให้สามารถออกแบบเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาอุตสาหกรรมฟาร์มสัตว์ปีกได้เหมาะสมกับผู้ใช้งานทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว จนได้รับรางวัลชนะเลิศด้านนวัตกรรมไบโอเทคจากเวทีการแข่งขันสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก “Global Finalists 2022” รวมทั้งเป็นทีมชนะเลิศในการเข้าร่วมการบ่มเพาะกับ NIA เมื่อปี 2022 และมีโอกาสทำงานร่วมกับบริษัทด้านธุรกิจสัตว์น้ำ จึงได้ขยายเทคโนโลยีไปใช้กับสินค้าเกษตรกลุ่มอื่น เช่น เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งนี้ ได้รับการร่วมลงทุนจาก เอดีบีเวนเจอร์ส บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด และกองทุนอินโนเวชั่นวัน จำนวน 1.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 53 ล้านบาท
“สตาร์ทอัพเกษตรมีตลาดขนาดใหญ่มากรองรับอยู่ ดังนั้น การที่สตาร์ทอัพของไทยได้ความรับสนใจจากนักลงทุนและได้รับเงินระดมทุน นับเป็นความสำเร็จที่แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถแก้ไขปัญหาและตอบโจทย์ผู้ใช้งานจนเกิดการขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่การที่จะทำให้เกษตรกรเปิดใจรับเทคโนโลยีใหม่ๆ และพร้อมที่จะเปลี่ยนจากวิถีการทำเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่เกษตรอัจฉริยะ ถือเป็นความท้าทายของสตาร์ทอัพเกษตรที่จะพัฒนาเทคโนโลยีจนเกิดผู้ใช้งานจริงในประเทศไทย จะช่วยแสดงให้เห็นถึงความคุ้มค่าในการที่จะลงทุนนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจทางการเกษตร เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพสายเกษตรมีศักยภาพที่จะสร้างความแตกต่างและความยั่งยืนในตลาดได้” ดร.กริชผกา กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ AGROWTH 2024 จะเปิดรับสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกด้านการเกษตรที่มีพื้นฐานจากการวิจัยและพัฒนาเชิงลึก พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นเอง ในสาขาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีไอโอที และเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีเชิงลึกอื่นๆ ที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาของภาคการเกษตร เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้จนถึง 10 พฤษภาคม 2567 ติดต่อ 091-541 5542 (สิรพัฒน์) sirapat@nia.or.th