รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เดินทางมอบนโยบายการปฏิบัติงาน พร้อมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการท่องเที่ยวกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนพบผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและพบปะประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและจังหวัดหนองคาย เร่งส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวมุมมองใหม่เพิ่มมูลค่าด้วย Soft Power ไทยจากการท่องเที่ยวสายศรัทธาของวัฒนธรรมริมโขง และอาหารถิ่นเมืองอีสาน ควบคู่กับการชูอัตลักษณ์เมือง 3 ธรรม – ธรรมะ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม
สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว กล่าวว่า จังหวัดอุดรธานีและหนองคายเป็นพื้นที่ศักยภาพ โดยมีจุดแข็งของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน สปป. ลาว ด้วยสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 ทำให้เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงไปสู่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียน โดยอุดรธานีและหนองคายเป็น 2 จังหวัดที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติมากที่สุดในภาคอีสาน โดยการส่งเสริมการท่องเที่ยวจะเน้นเรื่องการใช้วิถีแห่งศรัทธาสองฝั่งโขง เรื่องราวของงานประเพณี ความเชื่อ วิถีวัฒนธรรม ในการดึงดูดนักท่องเที่ยว อาทิ ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค วัดพระเกจิสายอริยะสงฆ์อีสาน ตำนานคำชะโนด รวมไปถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนใคร พร้อมกับการนำเสนออาหารรางวัลมิชลินถิ่นอีสาน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางการท่องเที่ยว มุ่งเน้นนักท่องเที่ยวคุณภาพ สร้างรายได้และส่งเสริมให้เกิดการขยายวันพัก
สมฤดี จิตรจง รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท. เร่งทำการส่งเสริมตลาดผ่าน 4 โครงการหลักให้นักท่องเที่ยวสุขทันที ที่เที่ยวไทย ในมุมมองที่หลากหลาย ได้แก่ 1. โครงการกินแล้วได้…ไหว้แล้วปัง เที่ยวทั้งที กินดี อยู่ดี รับพลังดี มุ่งกลุ่มเป้าหมาย Active Senior และ Gen Y 2. โครงการเที่ยวเมืองรอง…ต้องลอง เสนอประสบการณ์ท่องเที่ยวที่ออกแบบผ่านอัตลักษณ์อันโดดเด่นของพื้นที่ “3 ธรรม” สะท้อนทั้งธรรมะ – ศรัทธานำทาง ธรรมชาติ – มหัศจรรย์ริมโขง และวัฒนธรรม – อู่อารยธรรมมรดกโลกและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง จาก 3 จังหวัดอีสานตอนบนที่เป็นเมืองพหุวัฒนธรรมแห่งอีสาน ดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งความเชื่อความศรัทธา และความมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติที่ไม่มีใครเหมือน มุ่งเน้นกลุ่ม Gen Z และ Silver Age 3. โครงการเที่ยววันธรรมดา สุขทันทีที่เที่ยว…วันธรรมดา เปิดประสบการณ์ความพิเศษของการเดินทางวันธรรมดาที่แตกต่าง มุมมองใหม่ พร้อมทั้งยังต่อยอด เพิ่มมูลค่าด้วยการท่องเที่ยวเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อเน้นกลุ่ม MICE และ Corporate และโครงการ 365 วัน มาเที่ยวกัน ชวนเปิดประสบการณ์ใหม่ในการร่วมกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ ในพื้นที่ ทั้งกิจกรรมเทศกาล งานประเพณี และอีเวนต์ต่าง ๆ ที่ตรงตามความสนใจและความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้เดินทางเยี่ยมชมป่าคำชะโนด สักการะบูชาพญานาคราชปู่ศรีสุทโธ และองค์แม่ศรีปทุมมานาคราชเทวี ณ ป่าคำชะโนด มอบนโยบายการปฏิบัติงานและให้กำลังใจแก่คณะผู้บริหารฯ และเจ้าหน้าที่ ตลอดจนพบปะทักทายประชาชนและนักท่องเที่ยว และเดินทางไปเยี่ยมชมหาดท่ามะเฟือง เทศบาลตำบลโพนสา รวมถึงร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการท่องเที่ยวกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนด่านศุลกากรจังหวัดหนองคาย พร้อมเข้าร่วมเป็นประธานเปิดกิจกรรมมหกรรมดนตรีริมฝั่งโขง 30 ปี สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) จังหวัดหนองคาย
สถานการณ์การท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี หนองคาย และ บึงกาฬ ในปี 2566 มีจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวเติบโตสูงกว่าในปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด – 19 โดยในปี 2566 จังหวัดอุดรธานีมีจำนวนนักท่องเที่ยวจำนวน 4,333,790 คน (+7.8%) และรายได้จากการท่องเที่ยว 11,994.76 ล้านบาท (+4.9%) ส่วนจังหวัดหนองคายมีจำนวนนักท่องเที่ยว 3,157,890 คน (+13.2%) รายได้จากการท่องเที่ยว 7,233.2 ล้านบาท (+27.4%) และจังหวัดบึงกาฬ มีจำนวนนักท่องเที่ยว 853,426 คน (+40.7%) รายได้จากการท่องเที่ยว 1,594.98 ล้านบาท (+49%)
–Beer Collection Hua Hin จุดแฮงก์เอาต์ใหม่สไตล์ทรอปิคอลริมทะเลใจกลางหัวหิน