สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดเวทีเสวนา “การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ” ครั้งที่ 7 เพื่อสร้างโอกาสอุตสาหกรรมอาหารอนาคตไทยให้ยั่งยืนบนเวทีโลก พร้อมระดมความเห็นจากภาครัฐ เอกชน และภาควิชาการ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนและออกแบบการจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงขับเคลื่อนประเด็นด้านข้อมูลสถานการณ์ของอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนนำเสนอประเด็นโจทย์วิจัยสำคัญ และรับข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่าง ๆ ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตของประเทศ ซึ่งจะช่วยยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทศให้แข่งขันกับต่างประเทศได้
รองศาสตราจารย์ ดร. พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนนโยบาย จัดสรรงบประมาณ ไปยังหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพที่สามารถแข่งขันได้ โดยบทบาทของ สกสว. เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนด้าน ววน. การจัดสรรงบประมาณ การเสริมพลังและขับเคลื่อนระบบ การสร้างระบบการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ และการประเมินผลการดำเนินงานด้าน ววน. ของประเทศ
“สำหรับ แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) พ.ศ. 2566 – 2570 ได้มีแผนงานย่อย Flagship F3 (S1P2) ยกระดับการผลิตและการส่งออก Functional Ingredients, Functional Food, Novel Food ซึ่งใช้วัตถุดิบจากภาคเกษตรในประเทศ ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่าประเทศไทยจะต้องมีมูลค่าการส่งออกของผลิตภัณฑ์ Functional Ingredients, Functional Food และ Novel Food ซึ่งใช้วัตถุดิบจากภาคเกษตรในประเทศเพิ่มขึ้น โดยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพิ่มขึ้น 4,000 ล้านบาท ในช่วงปี พ.ศ. 2566 – 2570 จากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ซึ่งเวทีเสวนานี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการช่วยกันขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต มุ่งสู่การเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้อย่างยั่งยืน ด้วยการใช้ ววน.”
วิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้กล่าวถึง แนวทางการพัฒนาในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร ใน 4 หมุดหมาย คือ หมุดหมายที่ 1 เกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง หมุดหมายที่ 4 การแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง หมุดหมายที่ 6 อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและอุสาหกรรมดิจิทัล และหมุดหมาย 10 เศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ ที่มีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง ที่จะเป็นปัจจัยเร่งให้อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารมูลค่าสูงต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) สร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคผ่านการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและมีความปลอดภัย ซึ่งการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องต้องมีการใช้งานวิจัยและนวัตกรรม พร้อมทั้งขอบคุณ สกสว. และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารของไทยไปด้วยกัน
ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร. ณัฐดนัย หาญการสุจริต ประธานหน่วยบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนา ววน. ด้านอาหารอนาคต สกสว. และ รองคณบดี คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันผลผลิตทางการเกษตรมีมูลค่าค่อนข้างน้อย เพราะส่วนใหญ่ยังเป็นวัตถุดิบที่ไม่ผ่านการแปรรูปหรือแปรรูปเพียงขั้นต้นเท่านั้น เกษตรกรไทยจึงมีความเปราะบางสูงและมีรายได้น้อย อย่างไรก็ตามเกษตรกรกลับมีต้นทุนการผลิตที่สูง การผลิตยังต้องพึ่งพาปัจจัยทางธรรมชาติ (น้ำ ที่ดิน และสภาพดินฟ้าอากาศ) ที่มีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้นแนวโน้มเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมอาหารจะเน้นไปในเรื่องความยั่งยืน สุขภาพและโภชนาการ ความซื่อตรงและโปร่งใส รวมถึงการใช้ปีญญาประดิษฐ์ เข้ามาช่วยในการแก้ปัญหา นอกจากนี้เทรนด์ทางด้านอาหารจะเน้นไปที่อาหารสุขภาพ อาหารฟังก์ชัน อาหารโภชนาการจำเพาะบุคคล โปรตีนทางเลือก รวมถึงการใช้กระบวนการใหม่ ๆ ปัญญาประดิษฐ์ การหมักแบบแม่นยำ และบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ตลอดห่วงโซ่คุณค่า และเพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้กับอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรบุคคล การวิจัยและพัฒนา กฎระเบียบและมาตรฐาน และผู้บริโภคและการค้า อีกด้วย
โดยภายในเวทีเสวนา ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมเป็นวิทยากรพร้อมแลกเปลี่ยนในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1) การวิเคราะห์สถานการณ์การผลิตภาคเกษตรและความมั่นคงทางอาหารในบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมอาหารอนาคต โดย นางสาวหิรัญญา สระสม ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
2) ความท้าทายและการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของอุตสาหกรรมอาหารอนาคตไทย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ วงศ์สินศิริกุล เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า
3) แนวโน้มและโอกาสของอุตสาหกรรมอาหารอนาคตไทยในเศรษฐกิจโลก โดย คุณเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด
4) การขับเคลื่อนกฎระเบียบและมาตรฐานเพื่อคุณภาพ ความปลอดภัยและความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมอาหารอนาคต โดย เภสัชกรหญิง สุภาวดี ธีระวัฒน์สกุล ผู้อำนวยการกองอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข
5) ประเด็นที่น่าจับตามองและการรับมือสถานการณ์โลกที่กระทบต่อธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร โดย ดร.พิเชฐ อิฐกอ เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
6) นโยบายการพัฒนาและแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารอนาคตของไทย โดย นางสาวสิรินยา ลิม ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจนวัตกรรม สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
7) ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ในอุตสาหกรรมอาหารอนาคต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ณัฐดนัย หาญการสุจริต
นอกจากนี้ สกสว. ยังได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ในการที่จะเพิ่มมูลค่าการส่งออกอาหารแห่งอนาคตให้กับประเทศผ่านการจัดทำแผนและจัดสรรงบประมาณด้าน ววน. ไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการดำเนินร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชนในครั้งนี้ สอดคล้องตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นางสาวศุภมาส อิศรภักดีที่ว่า “เอกชนนำ รัฐสนับสนุน” โดยที่งานวิจัยเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์การเพาะปลูก การใช้เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวให้คงความสดใหม่ และคงคุณค่าทางโภชนาการไว้ได้นานที่สุดในช่วงต้นน้ำ ส่วนในช่วงกลางน้ำจะให้ความสำคัญกับการสกัดสารสำคัญจากผลผลิตทางการเกษตร การทำให้สารเหล่านั้นมีความบริสุทธิ์ การทำให้สารนั้น ๆ มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น รวมถึงการขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ส่วนในช่วงปลายน้ำจะเน้นระบบการขนส่งและการรับรองคุณภาพมาตรฐานต่าง ๆ จนกระทั่งถึงมือผู้บริโภคซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการสร้างความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง