The drive to decide : ไขข้อสงสัย…จะซื้อรถใหม่ คันไหนยิ่งขับ ยิ่งคุ้ม?

พฤติกรรมการตัดสินใจซื้อรถของคนไทยเปลี่ยนไป โดยมีความสลับซับซ้อน ใช้เวลาตัดสินใจนาน และต้องการข้อมูลที่รอบด้านมากยิ่งขึ้น

พฤติกรรมการซื้อรถของคนไทยมีพัฒนาการที่แตกต่างไปจากอดีตใน 3 ประเด็น คือ 1) อายุการใช้งานรถยนต์ยาวนานขึ้นเป็น 10 ปี จากเดิมที่มักเปลี่ยนรถกันทุก ๆ 7 ปี 2) ข้อมูลค่าใช้จ่ายจากการใช้งานรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นการประหยัดพลังงาน ค่าซ่อม ค่าเสื่อม และเบี้ยประกัน มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อใกล้เคียงกับการลดราคาขาย และ 3) รถยนต์ไฟฟ้าทั้ง BEV และ Hybrid กลายเป็นตัวเลือกหลักของตลาดรถยนต์นั่งนับตั้งปี 2023 เป็นต้นมา และคาดว่าจะครองส่วนแบ่งยอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

สงครามราคาในตลาดรถยนต์ไทยจะยังทวีความรุนแรง แต่ประสิทธิผลของกลยุทธ์ดังกล่าวมีแนวโน้มลดลง เพราะผู้บริโภคเกิดความเคยชินและหันมา Wait & See กันมากขึ้น

SCB EIC ประเมินว่า การปรับลดราคาขายรถยนต์จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและขยายวงกว้าง โดย Segment ที่คาดว่าจะมีความรุนแรงสูงสุด คือ 1) รถเก๋งขนาดเล็ก หรือ Eco car 2) รถยนต์ไฟฟ้านำเข้าจากประเทศจีนที่เปิดตัวไปแล้วในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา และ 3) กลุ่มรถยนต์ราคาระหว่าง 5 แสน 1 ล้านบาท จะมีตัวเลือกในตลาดเพิ่มขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม ผลพวงจากการจัดโปรโมชันที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งจะทำให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อรถใหม่ออกไป เพื่อรอให้ราคาปรับลดลงอีกในอนาคต

มูลค่าคงเหลือของรถยนต์ไฟฟ้า ทั้ง BEV และ Hybrid มีแนวโน้มลดลงมากถึงเกือบ 50% จากราคาขาย เมื่อใช้งานไปเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น

มูลค่าซากของรถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อใช้งานไปเพียง 1 ปี จะเสื่อมค่าลงมากถึง 50% ขณะที่รถสันดาปสามารถรักษามูลค่าในปีแรกไว้ได้ถึง 67% ของราคารถใหม่ โดยปัจจัยที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเสื่อมค่าลงมากนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาขายที่ถูกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความกังวลของภาคธุรกิจต่ออุปสงค์ของ EV ในตลาดรถยนต์มือ 2

ค่าใช้จ่ายผันแปรจากการใช้งานรถ BEV ต่ำกว่ารถสันดาป และ Hybrid ค่อนข้างมาก แต่ต้องจับตาต้นทุนแฝงจากปัญหาความไม่เพียงพอของสถานีชาร์จสาธารณะ

การใช้งานรถ BEV ก่อให้เกิดรายจ่ายจากการชาร์จไฟฟ้าเพียง 62 บาท/วัน ต่ำกว่าต้นทุนค่าเชื้อเพลิงของรถสันดาปกว่าเท่าตัว เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายการเช็กระยะซึ่งก็ถูกกว่ารถประเภทอื่น ๆ ถึง 3 เท่า อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาต้นทุนแฝงอื่น ๆ เช่น ค่าเสียโอกาสจากการรอชาร์จไฟเนื่องจากสถานีชาร์จสาธารณะมีไม่เพียงพอ รวมถึงค่าเดินทางและระยะเวลาซ่อมที่ยาวนาน เพราะอุปทานอะไหล่ยนต์ในประเทศมีจำกัด รวมถึงศูนย์ซ่อมบำรุงและอู่ซ่อมรายย่อยก็มีน้อยและกระจายตัวไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่

เบี้ยประกันรถ BEV แพงกว่ารถสันดาป และ Hybrid กว่าเท่าตัว เนื่องจากราคาขายที่ถูกปรับลดลงต่อเนื่อง รวมถึงระบบนิเวศน์ EV ในประเทศไทยยังพัฒนาได้ไม่เท่าทันกับความต้องการของตลาด

ปัจจัยสำคัญที่กดดันให้เบี้ยประกันรถ BEV ผันผวนและยังอยู่ในระดับสูง คือ การคำนวณทุนประกันทำได้ยาก เพราะ 1) เหล่าผู้ผลิตมีการปรับลดราคาขายลงอย่างต่อเนื่อง 2) ราคาอะไหล่ต่อชิ้นค่อนข้างแพง 3) อู่ซ่อมรายย่อยมีน้อย และ 4) บริษัทรับทำประกันภัย EV ก็มีจำกัด ด้วยเหตุนี้ SCB EIC ประเมินว่า เบี้ยประกันรถ EV จะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง แม้จะทยอยปรับลดลงบ้างตามทิศทางการพัฒนาระบบนิเวศน์ EV ของไทยที่กำลังมีความพร้อมยิ่งขึ้น ทั้งจากการลงทุนขยายอุปทานอะไหล่ยนต์ในประเทศ รวมถึงการเร่งพัฒนาธุรกิจอู่ซ่อมและฝีมือแรงงานให้ตอบโจทย์

SCB EIC มองว่า รถ BEV เป็นตัวเลือกการขับขี่ที่ตอบโจทย์ความประหยัดในระยะยาวได้ดีที่สุด แม้ว่าการใช้งานช่วง 2 – 3 ปีแรกจะมีต้นทุนการถือครองที่สูงกว่ารถประเภทอื่น ๆ เนื่องจากภาระเบี้ยประกันและค่าเสื่อมที่อยู่ในระดับสูง

การเปรียบเทียบความคุ้มค่าของการถือครองรถยนต์นั่งตลอดอายุการใช้งาน 10 ปี ชี้ว่า ภาระรายจ่ายของรถสันดาปนั้นสูงที่สุด ขณะที่รถไฮบริดจะมีต้นทุนการใช้งานต่ำมากในระยะสั้น จากนั้นจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามภาระค่าเชื้อเพลิง สำหรับรถ BEV ถือเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์ความคุ้มค่าในระยะยาว เพราะค่าใช้จ่ายการชาร์จไฟฟ้าและค่าซ่อมบำรุงที่อยู่ในระดับต่ำสามารถชดเชยภาระเบี้ยประกันที่โดยรวมยังแพงกว่ารถยนต์ประเภทอื่น ๆ

Scroll to Top