ZORT ฉลองครบรอบ 9 ปี มุ่งพัฒนาระบบจัดการหลังบ้าน E-commerce ชาวไทยให้ยอดขายปัง พร้อมดันผู้ประกอบการไทยเติบโตยั่งยืนบนสังเวียนอีคอมเมิร์ซต่างประเทศ ปี 67 ตั้งเป้ารายได้ 100 ล้านบาท พร้อมโตต่อเนื่องอีก 3 ปีแตะ 200 ล้านบาท มุ่งสร้างความเชื่อมั่นให้ธุรกิจไทย คาดปีนี้ผู้ใช้งานระบบเพิ่มขึ้น 55% และอีก 3 ปีตั้งเป้าผู้ใช้งานทะลุ 10,000 ราย เปิดกลยุทธ์ก้าวสู่ปีที่ 10 นำ AI ติดปีกเพิ่มศักยภาพลูกค้าในการตัดสินใจและลดงานซ้ำซ้อน พร้อมเดินหน้าขยายตลาดฟิลิปปินส์และประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเชื่อมโยงผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดต่างประเทศ พร้อมเปิดเทรนด์ E-commerce ปีหน้า การแข่งขันด้วยโค้ดลดราคาใน Marketplace จะลดลง ผู้ขายต้องรับภาระจัดโปรโมชันเอง AI มาแรงถูกนำมาใช้มากขึ้นใน Marketplace เช่น AI Automation และ AI Live และ Cross Border E-commerce จะมีบทบาทมากขึ้น
สวภพ ท้วมแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของบริษัท ซอร์ทเอาท์ จำกัด (ZORT) เปิดเผยว่า ใน 2567 ถือเป็นปีที่สำคัญสำหรับ ZORT แพลตฟอร์มจัดการร้านค้าออนไลน์ครบวงจร ที่เปิดให้บริการครบรอบ 9 ปี ถือเป็นความสำเร็จในการเป็นผู้นำด้านระบบจัดการหลังบ้านที่ตอบโจทย์ธุรกิจ E-commerce ในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจแบรนด์ชั้นนำและแบรนด์ขนาดเล็กให้เติบโตอย่างมั่นคง ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในตลาดออนไลน์ ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 2558 ZORT มุ่งมั่นพัฒนาระบบจัดการร้านค้าออนไลน์ที่ใช้งานง่าย ครอบคลุมทั้งการจัดการสต๊อก การประมวลผลคำสั่งซื้อ การออกเอกสารบัญชี และการรายงานผลการดำเนินงานอย่างครบวงจร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจออนไลน์ บริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่องควบคู่กับการสร้างการเติบโตให้กับลูกค้า ลูกค้าของ ZORTมีมูลค่าการเติบโต 30% ในปี 2567 โดยในปีนี้บริษัทคาดว่าจะมีรายได้ถึง 100 ล้านบาท และมีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นถึง 55% เมื่อเทียบกับปี 2566
“เราเห็นการเติบโตของธุรกิจออนไลน์ในประเทศไทยอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงที่การค้าขายผ่านช่องทาง E-commerce ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สิ่งที่ทำให้ ZORT โดดเด่นคือการเป็นระบบหลังบ้านที่สามารถเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม E-commerce และ Social Commerce ชั้นนำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ธุรกิจสามารถบริหารจัดการได้ง่ายขึ้นและมีความคล่องตัวมากขึ้น ปัจจัยความสำเร็จของ ZORT คือวิสัยทัศน์ “Fast-Tracking Business Success with Ultimate Services and Intelligent Solutions” ด้วยจุดเด่นของระบบครบวงจรที่ธุรกิจต้องการ ร่วมมือกับพันธมิตรที่เชี่ยวชาญ ด้วยบริการหลังการขายที่ตอบโจทย์ลูกค้าและสร้างการเติบโตให้ลูกค้าในระยะยาว ตัวอย่างเช่น ลูกค้าในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางขยายไปยังช่องทางออนไลน์ใหม่และออฟไลน์ ยอดขายเติบโต 4 เท่า และลูกค้าในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มขยายจากออฟไลน์ไปออนไลน์ ยอดขายเติบโตเท่าตัว” สวภพ กล่าว
ที่ผ่านมา ZORT ได้จับมือกับ 2 พันธมิตรสำคัญ ได้แก่ Microsoft Azure และ BUZZEBEES โดยร่วมมือกับ Microsoft ผ่านการนำแพลตฟอร์มคลาวด์ Microsoft Azure ที่มีความเสถียรมาใช้ ทำให้ข้อมูลธุรกิจในระบบมีความปลอดภัยสูง ด้วยการรักษาความปลอดภัยจากทีมงาน Microsoft Security ทำให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลถูกป้องกันไว้อย่างดี และความร่วมมือกับ BUZZEBEES แพลตฟอร์มช่วยบริหารจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า (Customer Relationship Management) ของไทย เพื่อนำเสนอ CRM PLUS ระบบสมาชิกและสะสมแต้ม ที่จะช่วยให้เจ้าของธุรกิจดูแลลูกค้าของตัวเองได้อย่างง่ายดายและเพิ่มยอดขายได้จริง จัดการทุกงาน E-commerce ครบจบที่เดียว
สำหรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจในปีที่ 10 นั้น ZORT ประกอบด้วย
- นำเทคโนโลยี AI เข้ามาเสริมทัพระบบจัดการร้านค้า เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถทำงานได้รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า การปรับปรุงกระบวนการทำงาน หรือการพัฒนาบริการใหม่ ๆ ให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด
- ขยายตลาดต่างประเทศเพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ และเพิ่มฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น ปัจจุบันเริ่มเข้าไปทำการตลาดในประเทศฟิลิปปินส์ และมีแผนจะขยายไปยังประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- เชื่อมโยงผู้ประกอบการไทยออกตีตลาดต่างประเทศ เมื่อฐานการให้บริการในต่างประเทศของ ZORT แข็งแรงในประเทศนั้น ๆ ZORT จะดำเนินตามเจตนารมณ์ที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ด้วยการสนับสนุนเสมือนประตูเชื่อมโอกาสการขยายธุรกิจให้ผู้ประกอบการไทยไปต่อยอดในต่างประเทศได้
- ยึดมั่นความถูกต้องและโปร่งใส ผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยเติบโตอย่างเป็นระบบ ตรวจสอบได้นำมาซึ่งการขยายธุรกิจที่สะดวกและไร้กังวลในทุก ๆ ด้าน
- วิเคราะห์ด้านการตลาดที่แม่นยำขึ้น ด้วยการเก็บข้อมูลลูกค้า สินค้า ยอดขาย ช่วยให้มีข้อมูลมากพอที่จะวางแผนการตลาดได้ง่ายขึ้น เมื่อข้อมูลในระบบ ZORT มีมากขึ้น ข้อมูลที่ถูกประมวลผลหรือแสดงออกมาจะทำให้เห็นภาพกว้างของธุรกิจได้มากขึ้น
“ตลาด E-commerce ยังมีโอกาสโตอีกมาก ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในจุดหมายการเข้ามาทำตลาดของต่างชาติ เช่น ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเข้ามาของ Temu แพลตฟอร์ม E-commerce จากจีน มองว่าในส่วนนี้นอกจากการช่วยเหลือระดับนโยบายของภาครัฐแล้ว สิ่งที่ภาคธุรกิจทำได้คือ การสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งและการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า จะช่วยให้ธุรกิจไทยสามารถก้าวข้ามอุปสรรคและเติบโตได้ในระยะยาว ด้านเทรนด์ E-commerce ปีหน้า การแข่งขันด้วยโค้ดลดราคาใน Marketplace จะลดลง โดยภาระจะตกที่ผู้ขายที่ต้องจัดโปรโมชันเพื่อแข่งขัน และ AI จะถูกนำมาใช้มากขึ้นไม่ว่าจะเป็น AI Automation และ AI Live ส่งผลให้การเติบโตของเทคโนโลยี AI จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนตลาด E-commerce ในปีหน้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของธุรกิจออนไลน์ ตั้งแต่การจัดการคำสั่งซื้อไปจนถึงการให้บริการลูกค้าอย่างครบวงจร และ Cross Border E-commerce การทำธุรกิจซื้อขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ระหว่างประเทศ หรือการขนส่งสินค้าจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง จะมีผลกระทบกับตลาด E-commerce ของไทยมากขึ้น จนผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง” สวภพ กล่าว