“อุ่นใจไซเบอร์ Young Creator Challenge 2024” เวทีสร้างสรรค์ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง “AIS – สพฐ. และ มจธ.” เปิดโอกาสให้นักเรียนไทยโชว์ศักยภาพ สร้างคอนเทนต์ต้านภัยไซเบอร์

"อุ่นใจไซเบอร์ Young Creator Challenge 2024" เวทีสร้างสรรค์ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง “AIS - สพฐ. และ มจธ.” เปิดโอกาสให้นักเรียนไทยโชว์ศักยภาพ สร้างคอนเทนต์ต้านภัยไซเบอร์

จบลงไปแล้วสำหรับกิจกรรม “อุ่นใจไซเบอร์ Young Creator Challenge 2024” ที่ AIS ได้ร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ให้เด็กนักเรียนในสังกัด สพฐ. จากทั่วประเทศ สร้างสรรค์ผลงานผ่านการเล่าเรื่องจากเนื้อหาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ “4P4ป” ในหัวข้อการใช้งานออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ออกมาในรูปแบบคลิปวิดีโอสั้น ซึ่งผู้เข้าร่วมนอกเหนือจากจะได้เรียนรู้ทักษะทางดิจิทัลเพิ่มเติมแล้ว ยังเป็นการเพิ่มทักษะด้านการสร้างสรรค์ผลงาน อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อยอดผลงานสู่การเรียนรู้ที่จะช่วยแก้ปัญหาภัยไซเบอร์ได้อย่างยั่งยืนได้อีกด้วย

สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า คนทั่วไปจะรู้จัก AIS ในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคม ที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล เทคโนโลยี แต่ในอีกหนึ่งบทบาทหนึ่งที่ AIS มุ่งมั่นมาเสมอ คือ การร่วมกับภาคประชาสังคม ภาครัฐ เพื่อหาโซลูชันเข้ามาสร้าง Wisdom หรือองค์ความรู้ด้านดิจิทัลกับคนไทย โดยใช้เครื่องมือที่ AIS มีส่งต่อองค์ความรู้ไปสู่กลุ่มเป้าหมาย

ที่ผ่านมา AIS เดินหน้าลงทุนกับการให้ความรู้กับเยาวชนอย่างยั่งยืน ผ่านการพูดคุยกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา เพื่อออกแบบองค์ความรู้ จนพัฒนาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ตามแนวคิด 4P4ป ประกอบไปด้วย 1) Practice: ปลูกฝังการใช้งานความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม 2) Personality: ปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ 3) Protection: ป้องกันภัยออนไลน์บนโลกออนไลน์ 4) Participation: ปฏิสัมพันธ์ที่ดีด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม

ซึ่งหลักสูตรนี้ได้เปิดตัวไปตั้งแต่ปี 2565 ก่อนจะขยายผลเข้าสู่โรงเรียนที่อยู่ในการดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อให้นักเรียนได้เรียนเสริมไปควบคู่กับการเรียนการสอนในภาคปกติ

โดยพาร์ทเนอร์ที่เข้ามาร่วมทำงานกับ AIS นั้นมี 2 รายหลักๆ คือ สพฐ. เป็นพาร์ทเนอร์จากหน่วนงานรัฐที่เข้ามาร่วมมือกับ AIS เมื่อ 3 ปีก่อน โดยทำหน้าที่เป็นแกนหลักในการเชื่อมต่อสถานศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศให้เข้าถึงหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ได้ ซึ่งปัจจุบันมีเด็กและครูกว่า 380,000 คนที่ผ่านการเรียนรู้แล้ว

ด้าน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นอีกหนึ่งพาร์ทเนอร์ที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญในด้านการออกแบบหลักสูตรเพื่อสร้างความเข้าใจด้านทักษะดิจิทัลให้กับนักเรียนและครู จากแนวคิดที่ต้องการสร้าง “Wisdom” ให้คนไทย สู่เวที “อุ่นใจไซเบอร์ Young Creator Challenge 2024″

"อุ่นใจไซเบอร์ Young Creator Challenge 2024" เวทีสร้างสรรค์ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง “AIS - สพฐ. และ มจธ.” เปิดโอกาสให้นักเรียนไทยโชว์ศักยภาพ สร้างคอนเทนต์ต้านภัยไซเบอร์

สายชล กล่าวว่า หลังจากเปิดให้นักเรียนและครูเข้ามาเรียนรู้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์จนมาถึงจุดหนึ่ง AIS ได้เล็งเห็นว่าควรจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อแปลงองค์ความรู้ออกมาในรูปแบบการสื่อสาร และสอดคล้องกับเด็กในยุคปัจจุบันนี้ที่มีความเป็นครีเอเตอร์สูง จึงร่วมมือกับ สพฐ. และ มจธ. ในการจัดกิจกรรม “อุ่นใจไซเบอร์ Young Creator Challenge 2024” และเปิดให้มีการแข่งขันในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยมีโจทย์หลัก คือ ให้เด็กตีความหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ตามแนวคิด 4P4ป และสร้างสรรค์ออกมาเป็นคลิปวิดีโอสั้นที่เป็นมุมมองเฉพาะของแต่ละทีม

ด้าน สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กิจกรรมนี้นับเป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ และเอกชน เพื่อใช้ขีดความสามารถให้นักเรียนและเยาวชนได้ตระหนักถึงการใช้งานออนไลน์อย่างปลอดภัย ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวไม่เพียงแต่จะช่วยให้กลุ่มนักเรียนได้เข้าใจถึงความเสี่ยงจากการใช้งานบนโลกออกไลน์ แต่ยังเป็นการช่วยสร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบเพื่อส่งต่อไปยังเพื่อนๆ ผู้ปกครอง และชุมชนได้อีกด้วย

ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวเสริมว่า การแข่งขันคลิปวิดีโอสั้น ทำให้เราเห็นถึงศักยภาพของนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ในการผลิตผลงานที่เรียกว่าเป็นสื่อการสอนเพื่อเสริมสร้างทักษะดิจิทัล ซึ่งการให้เด็กได้เรียนรู้การผลิตคอนเทนต์ไม่ว่าจะเป็นด้าน Storytelling หรือเทคนิคการถ่ายภาพ จะช่วยสร้างกระบวนการขยายผล เพราะองค์ความรู้เหล่านี้จะวนกลับไปที่สถานศึกษาและช่วยให้เกิดการพัฒนากับเด็กรุ่นต่อๆ ไป

สายชล กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมในครั้งนี้จะช่วยสร้างผลกระทบในเชิงบวกอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการทำให้เด็กและครูได้เรียนรู้เนื้อหาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์อย่างถ่องแท้ การช่วยสร้างทีมเวิร์คในสถานศึกษา นอกจากนี้ยังได้สร้าง ครูแม่ไก่ ไปคอยสอนเพื่อนๆ และบอกต่อความรู้กับคนในครอบครัว และสุดท้ายจะส่งต่อไปที่การวัดผลที่จะทำให้คนไทยมีดัชนีสุขภาวะดิจิทัลที่ดีขึ้นต่อไป

"อุ่นใจไซเบอร์ Young Creator Challenge 2024" เวทีสร้างสรรค์ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง “AIS - สพฐ. และ มจธ.” เปิดโอกาสให้นักเรียนไทยโชว์ศักยภาพ สร้างคอนเทนต์ต้านภัยไซเบอร์

เปิดแนวคิดนักเรียนไทย ผู้สร้างสรรค์ผลงานจนได้รับรางวัล

ด้านผู้เข้าแข่งขันในระดับประถมศึกษา อย่าง ด.ญ.กฤตยา ศิริสมบัติ จากโรงเรียนสังข์อ่ำวิทยา ตัวแทนนักเรียนในระดับประถมศึกษา เล่าถึงการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ว่า “การได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้มีทั้งความสนุกและความน่าตื่นเต้น พวกเราได้เรียนรู้เรื่องความปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ต และได้ลองทำคลิปวิดีโอที่พวกเราภูมิใจมาก โดยหัวข้อที่เราเลือกเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ อย่างการตั้งรหัสอย่างไรให้ปลอดภัย เพราะเราเห็นว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ง่ายและใกล้ตัวมากๆ และหวังว่าคลิปของเราจะช่วยให้คนอื่นๆ ระมัดระวังตัวมากขึ้นเมื่อใช้งานอินเทอร์เน็ต”

ส่วน นายกฤษฎากร เสียงเลิศ จากโรงเรียนชลบุรี “สุขบท” ตัวแทนนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา เล่าว่า “การประกวดครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้เราได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และความสามารถในการผลิตสื่อ ในขณะเดียวกันก็ได้ทำให้พวกเราเห็นความสำคัญของการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย พวกเราได้เข้าไปเรียนหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ และได้เลือกหัวข้อเกี่ยวกับปลูกฝังการใช้งานความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม และนำมาเล่าผ่านในรูปแบบละครสั้น เพื่อให้คนดูเข้าใจได้ง่าย และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง  ซึ่งการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ทำให้พวกเราได้ทำงานเป็นทีมกับเพื่อนๆ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามากสำหรับพวกเรามากๆ”

สำหรับกิจกรรมประกวดคลิปวิดีโอสุขภาวะดิจิทัล “อุ่นใจไซเบอร์ Young Creator Challenge 2024” แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา มีทั้งหมด 4 หัวข้อ ตามแนวคิด 4P4ป และแต่ละระดับจะแบ่งออกเป็น 3 รางวัล และ Popular Vote จำนวน 1 รางวัล รวมทั้งสิ้น 25 รางวัล

“การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ มากมาย โดยเราจะนำคอนเทนต์ทั้งหมดทั้งที่ได้รางวัลและไม่ได้รางวัล มาคัดกรองและนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนต่อไป” สายชล กล่าว

"อุ่นใจไซเบอร์ Young Creator Challenge 2024" เวทีสร้างสรรค์ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง “AIS - สพฐ. และ มจธ.” เปิดโอกาสให้นักเรียนไทยโชว์ศักยภาพ สร้างคอนเทนต์ต้านภัยไซเบอร์

ผลการตัดสินระดับประถมศึกษา

หัวข้อที่ 1 Practice : ปลูกฝังการใช้งาน

  • ชนะเลิศ โรงเรียน            โรงเรียนบ้านหนองเมืองกลาง      สพป.ยโสธร เขต 2
  • รองชนะเลิศอันดับ 1       โรงเรียนบ้านไม้ขาว                    สพป.ภูเก็ต
  • รองชนะเลิศอันดับ 2       โรงเรียนบ้านพร้าวเหนือ              สพป.หนองคาย เขต 1

หัวข้อที่ 2 Personality : ปกป้องความเป็นส่วนตัว

  • ชนะเลิศ                        โรงเรียนสังข์อ่ำวิทยา                  สพป.ปทุมธานี เขต 1
  • รองชนะเลิศอันดับ 1       โรงเรียนวัดน้ำรัก (ประชาน้ำรัก)   สพป.จันทบุรี เขต 2
  • รองชนะเลิศอันดับ 2       โรงเรียนบ้านโดมประดิษฐ์           สพป.อุบลราชธานี เขต 3

หัวข้อที่ 3 Protection : ป้องกันภัยออนไลน์

  • ชนะเลิศ                        โรงเรียนบ้านละหานทราย (คุรุราษฎร์บํารุงวิทยา)  สพป.บุรีรัมย์ เขต 3
  • รองชนะเลิศอันดับ 1       โรงเรียนอนุบาลภูเก็ต                 สพป.ภูเก็ต
  • รองชนะเลิศอันดับ 2       โรงเรียนวัดโพธิ์น้อย                    สพป.สุราษฎร์ธานีเขต 2

หัวข้อที่ 4 Participation : ปฏิสัมพันธ์ที่ดี

  • ชนะเลิศ                        โรงเรียนวัดปากน้ำ (ประสาทวิทยาคาร)    สพป.จันทบุรี เขต 2
  • รองชนะเลิศอันดับ 1       โรงเรียนเมืองเลย                                    สพป.เลย เขต 1
  • รองชนะเลิศอันดับ 2       โรงเรียนบ้านสามสบ                               สพป.เชียงใหม่ เขต 6

ผลการตัดสินระดับมัธยมศึกษา

หัวข้อที่ 1 Practice : ปลูกฝังการใช้งาน

  • ชนะเลิศ                        โรงเรียนนาสาร                                      สพป.สุราษฎร์ธานี เขต 3
  • รองชนะเลิศอันดับ 1       โรงเรียนพิณพลราษฎร์ ตั้งตรงจิตร 12       สพป.พิษณุโลก เขต 2
  • รองชนะเลิศอันดับ 2       โรงเรียนชลบุรี “สุขบท”                           สพม.ชลบุรี ระยอง

หัวข้อที่ 2 Personality : ปกป้องความเป็นส่วนตัว

  • ชนะเลิศ                        โรงเรียนระหานวิทยา                              สพม.กำแพงเพชร
  • รองชนะเลิศอันดับ 1       โรงเรียนเพ็ญพิทยาคม                            สพม.อุดรธานี
  • รองชนะเลิศอันดับ 2       โรงเรียนอนุบาลตับเต่า (ไคร้สามัคคีวิทยา) สพป.เชียงราย เขต 4

หัวข้อที่ 3 Protection : ป้องกันภัยออนไลน์

  • ชนะเลิศ                        โรงเรียนบ้านนา “นายกพิทยากร”             สพม.ปราจีนบุรี นครนายก
  • รองชนะเลิศอันดับ 1       โรงเรียนบ้านฟ้าเหลื่อม                           สพป.ขอนเเก่น เขต 5
  • รองชนะเลิศอันดับ 2       โรงเรียนพระธาตุบังพวนวิทยา                 สพม.หนองคาย

หัวข้อที่ 4 Participation : ปฏิสัมพันธ์ที่ดี

  • ชนะเลิศ                        โรงเรียนปางมะค่าวิทยาคม                     สพม.กำแพงเพชร
  • รองชนะเลิศอันดับ 1       โรงเรียนท่าช้างราษฎร์บำรุง                     สพม.นครราชสีมา
  • รองชนะเลิศอันดับ 2       โรงเรียนบ้านช่องเม็ก                              สพป.ยโสธร เขต 2

รางวัล Popular Vote

  • โรงเรียนหนองกุงวิทยาคม           สพป.กาฬสินธุ์ เขต 1

วิศวฯ จุฬาฯ ร่วมกับ กัลฟ์ เปิดโครงการ Green Mission by Chula x GULF ภารกิจรักษ์ยั่งยืน ชวนนักเรียนคิดค้นนวัตกรรมสร้างสรรค์ในโจทย์ “Beware Your Step ก้าวต่อไปไร้รอยเท้า”

Scroll to Top