Fujifilm Business Innovation ตั้งเป้ารายได้โตกว่าจีดีพี ดันไทยติดท็อป 3 ของ APAC เตรียมควักงบครั้งใหญ่สร้างการรับรู้ภาพลักษณ์ใหม่ เดินหน้า Business Solution รับเทรนด์เทคโนโลยีมาแรง
ธีรยา สุขมาก ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาด บริษัท ฟูจิฟิล์ม บิสซิเนส อินโนเวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันฟูจิฟิล์มทำธุรกิจมานานกว่า 62 ปีแล้ว ผู้คนยังจดจำว่าเราคือกล้องและเครื่องพิมพ์ ตั้งแต่ปี 2564 เราเข้าซื้อหุ้นหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์จาก Xerox Corporation และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “Fujifilm Business Innovation” เพื่อตอกย้ำในเรื่องของการให้บริการเรื่องโซลูชันสำหรับธุรกิจเพื่อช่วยแก้ปัญหาการทำงานภายในองค์กรของลูกค้าให้เป็นเรื่องง่ายขึ้น
บริษัทได้เดินหน้าผลักดันให้ธุรกิจใหม่เป็นที่รู้จักในกลุ่มลูกค้าด้วยการปรับทิศทางใหม่ให้พนักงานเข้าไปคุยกับพาร์ทเนอร์ คู่ค้าและลูกค้าทั้งรายเก่าและใหม่ เพื่อไปเรียนรู้ปัญหา เก็บข้อมูลและตอบสนองความต้องการด้านโซลูชันการทำงานภายในองค์กรเพื่อให้ลูกค้าได้รับรู้ว่าฟูจิฟิล์มมีโซลูชันและเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเหลือการทำงานภายในองค์กรให้เป็นเรื่องง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม บริษัทจะเดินหน้ากลยุทธ์ผ่าน 3 แนวทางหลัก คือ Business Solution Office & Document Solutions และ Graphic Communication โดยทั้งสามกลยุทธ์นี้ มาจากการวิเคราะห์ตลาดเทรนด์ไอทีของไทยปี 2024 พบว่า มี
- การใช้จ่ายในกลุ่มเทคโนโลยีมากขึ้น 5.8% หรือ 1 ล้านล้านบาท
- มีการซื้อซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในองค์กรธุรกิจมากขึ้น 15.9% หรือ 2,420 ล้านบาท
- ในปี 2023 มีการซื้อซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวกับ AI เพื่อใช้งานมูลค่ากว่า 1,180 ล้านบาทและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 43.1% ในปี 2027
- ตลาด Public Cloud เป็นที่ยอมรับและใช้งานมากขึ้นทำให้มีมูลค่าการเติบโตในปี 2023 มากถึง 65,520 ล้านบาท และคาดว่าจะมีการซื้อเพื่อให้พนักงานในองค์กรใช้งานเพิ่มขึ้น 19.6% หรือซื้อให้พนักงานใช้เพื่อการทำงานคนละ 1,628 บาท
ด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ทำให้บริษัทตั้งเป้าการเติบโตเพิ่มขึ้น จากภาพรวมกลุ่ม Business Innovation ซึ่งรวมทั้งฮาร์ดแวร์ โซลูชัน และเซอร์วิส ที่ทำสัดส่วนมากที่สุดกว่า 40% และปีนี้หวังว่าจะเติบโตได้มากกว่า 3.2% หรือมากกว่าการเติบโตของจีดีพี
ทิพย์อาภา ลชิตาวงศ์ ผู้จัดการการตลาดด้านผลิตภัณฑ์โซลูชั่น บริษัท ฟูจิฟิล์ม บิสซิเนส อินโนเวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจโดยรวมจะถือว่าไม่ค่อยดีนักแต่การลงทุนด้านไอทีขององค์กรในไทยยังมีอยู่ต่อเนื่อง แต่เป็นรูปแบบของการจ่ายตามการใช้งานมากกว่าลงทุนไอทีใหญ่ๆ เอง เพราะมองว่าไม่คุ้มค่า อย่างเช่น Private cloud ที่ต้องลงทุนพัฒนาเองอย่างต่อเนื่องทั้งข้อมูลและเงินทุน องค์กรใหญ่ๆ ก็ปรับไปใช้ Public Cloud มากขึ้น เพราะเลือกใช้งานได้ตามใจชอบ ปรับเปลี่ยนโซลูชันก็สะดวกกว่าด้วย
ทั้งนี้ ธุรกิจไทยก็มองว่าการลงทุนพัฒนา AI ด้วยตนเองอาจไม่ใช่เรื่องที่ดีเสมอไปเพราะต้องใช้การลงทุนคน เทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ใหม่ๆ หนักมาก จึงมองเรื่องการนำ AI หรือ Robot ที่มาปรับใช้ทำงานดีกว่า เช่น แผนกบัญชี ที่ต้องการซอฟต์แวร์สำหรับช่วยอ่านเอกสาร พิมพ์งาน สรุปรายงาน ซึ่งเป็นงานรูทีนของแผนกก็จะมีการซื้อซอฟต์แวร์ลักษณะนี้ไปใช้งานมากกว่าและกำลังเป็นที่นิยมมากในองค์กรขนาดกลางและขนาดใหญ่ เช่น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ค้าปลีก อุตสาหกรรมการผลิต หรือคู่ค้าที่มีออเดอร์เข้ามาเยอะๆ เป็นต้น
ฟูจิฟิล์มจึงได้เดินหน้าส่งระบบคลาวด์โซลูชันที่ชื่อว่า FUJIFILM IWpro เข้ามาเติมเต็มการใช้งานองค์กรแบบครบวงจร ซึ่งในไทยมีผู้ใช้งานระบบนี้กว่า 428 รายจากทั้งหมด 1,000 รายใน APAC ถือว่าเป็นซอฟต์แวร์ที่เหมาะกับองค์กรธุรกิจในไทยอย่างมาก และธุรกิจ SME ยุคใหม่ก็เปิดใจใช้โซลูชันในการทำงานมากขึ้นเพราะเป็นการลงทุนแบบใช้เท่าไหร่จ่ายเท่านั้น ช่วยคุมต้นทุนในการทำงานได้ดีกว่าการลงทุนซื้อซอฟต์แวร์หลายตัวมาใช้งานพร้อมกัน
–ภาคอุตสาหกรรมนำ AI มาช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันได้หรือไม่