เซ็นทรัลพัฒนา ออกตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน สนับสนุนโครงการพลังงานสะอาด มุ่งสู่การเป็นองค์กรปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050

เซ็นทรัลพัฒนา ออกตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน สนับสนุนโครงการพลังงานสะอาด มุ่งสู่การเป็นองค์กรปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050

เซ็นทรัลพัฒนา รายแรกในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีกไทยที่เสนอขายตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond) มูลค่ารวม 8,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) การจัดการน้ำและน้ำเสียอย่างยั่งยืน (Sustainable water & wastewater management) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy Efficiency) และโครงการที่เกี่ยวกับความยั่งยืนอื่น ๆ สำหรับกิจการหรือบริษัทในเครือ ซึ่งประกอบด้วยโครงการมิกซ์ยูสรูปแบบต่างๆ ทั้งโครงการศูนย์การค้าเซ็นทรัล ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน และ โรงแรมทั่วประเทศ รวมถึงโครงการอื่นๆ ในอนาคตทั้งในและต่างประเทศตามแผนงานที่วางไว้

นภารัตน์ ศรีวรรณวิทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน บัญชี และบริหารความเสี่ยง บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เซ็นทรัลพัฒนามุ่งมั่นพัฒนา ‘พื้นที่’ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ด้วยวิสัยทัศน์ Imagining better futures for all ภายใต้บทบาท Place Maker เชื่อมโยงทั้ง Place-People-Planet การเงินเพื่อความยั่งยืน นับเป็นหนึ่งในแผนงานตามเจตนารมณ์ของ บริษัทฯ ที่ให้ความสำคัญเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อม หรือ Better Planet อย่างจริงจังตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ และแผนงาน Journey to Net Zero ภายในปีค.ศ. 2050 ความสำเร็จในการออกหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน และการร่วมมือกับ  UOB, ADB และ IFC ในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจ เป็นก้าวสำคัญสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของเราในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน และสนับสนุนการเติบโตของตลาดตราสารหนี้ ESG ในประเทศไทย”

เจน หยวน ซู ผู้จัดการประจำประเทศไทยและเมียนมา ของ IFC กล่าวว่า “ความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญของงานของเราในประเทศไทย และเราภูมิใจที่ได้ร่วมมือกับเซ็นทรัลพัฒนา ในการเร่งการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศ ผ่านการลงทุนที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืน เราสามารถมีส่วนร่วมในการสนับสนุนเป้าหมายด้านสภาพอากาศโดยรวมของประเทศและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับประเทศไทย”

วีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล กรรมการผู้จัดการ Deputy CEO และ Wholesale Banking ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “ในฐานะผู้จัดการการจำหน่ายหุ้นกู้เพียงรายเดียว ธนาคารยูโอบี ประเทศไทยมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของความสำเร็จในการออกหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืนในครั้งนี้ ซึ่งเราเชื่อว่าจะเป็นการปูทางให้เกิดการออกหุ้นกู้ลักษณะเดียวกันเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย ความสำเร็จในครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของยูโอบีต่อการให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ด้านความยั่งยืนของธนาคาร ที่จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างมีความรับผิดชอบ ส่งเสริมการลงทุนในเรื่องความยั่งยืน รวมถึงการมีส่วนร่วมทางสังคมและการดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน”

ซาโตรุ ยามาเดระ ที่ปรึกษาของฝ่ายวิจัยทางเศรษฐกิจและผลกระทบทางด้านการพัฒนา ของ ADB กล่าวว่า “การออกหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืนในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ ADB ที่จะทำให้เกิดการเติบโตของตลาดตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนในประเทศไทย โดยความสำเร็จของการออกหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืนของเซ็นทรัลพัฒนาเป็นตัวอย่างชั้นเลิศของการที่ภาคเอกชนสามารถเป็นผู้นำในการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นตัวอย่างที่ดีต่อองค์กรอื่นๆ ในภูมิภาค

ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond) ของเซ็นทรัลพัฒนา เพื่อสนับสนุน โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งโครงการหรือสินทรัพย์ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน การจัดการน้ำและน้ำเสียอย่างยั่งยืน โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และช่วยให้ เซ็นทรัลพัฒนาบรรลุเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นองค์กรปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปีค.ศ. 2050 อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.86% ต่อปี ครบกำหนด 5 ปี ในปีค.ศ. 2029 และอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.14% ต่อปี ครบกำหนด 7 ปี ในปีค.ศ. 2031 ชำระดอกเบี้ยทุก 6 เดือน ตลอดอายุตราสารหนี้ จำนวน 8 ล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่า 8,000 ล้านบาท  ออกภายใต้กรอบหลักเกณฑ์การระดมทุนเพื่อโครงการส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Finance Framework) ของเซ็นทรัลพัฒนา ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond Principles หรือ “SLBP”) ที่ออกโดย International Capital Market Association

ทั้งนี้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) เป็นที่ปรึกษาในการจัดทำกรอบการระดมทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Framework)  และธนาคารยูโอบี ประเทศไทยเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายตราสารหนี้ และเสนอขายให้กับนักลงทุนสถาบันทั้งไทยและต่างชาติ โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุน โดยมียอดจองสูงกว่าวงเงินที่เสนอขายกว่า 3 เท่า และได้รับการยอมรับว่าเป็นตราสารหนี้ที่ตรงตามมาตรฐานระดับโลก โดยมี International Finance Corporation (IFC) สมาชิกของกลุ่มธนาคารโลก เป็นนักลงทุนหลัก (Anchor Investor)

เซ็นทรัลพัฒนาเดินหน้าพัฒนาความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ตามแผนงาน Journey to NET Zero 2050 อาทิ

  • Green Building การออกแบบและพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ตามแนวทางมาตรฐานอาคารเขียว เช่น LEED, TREEs และ EDGE เป็นต้น
  • Clean Energy การใช้พลังงานสะอาดด้วยการติดตั้ง Solar Rooftop บนหลังคาศูนย์การค้าฯและลานจอดรถ สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้รวม 26,011 เมกะวัตต์-ชั่วโมง
  • Water Recycle มาตรการลดการใช้น้ำ การใช้น้ำซ้ำ การกักเก็บน้ำฝน และนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ด้วยการติดตั้งระบบผลิตน้ำรีไซเคิล ทำให้สามารถลดปริมาณการใช้น้ำไปได้ 1.4 ล้านลูกบาศก์เมตร
  • Waste Diversion แปลงขยะเพื่อลดปริมาณขยะฝังกลบได้ปริมาณกว่า 31,425 ตัน ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
  • Air Quality ดูแลคุณภาพอากาศให้ได้มาตรฐาน และยกระดับมาตรการ PM 2.5 รวมถึงการริเริ่มโครงการความร่วมมือกับพันธมิตร และแคมเปญรักษ์โลกอย่างต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าจับมือกับภาคีทุกภาคส่วนเพื่อสร้างพันธมิตรสีเขียวที่แข็งแกร่งและยั่งยืน

ทั้งนี้ จากการดำเนินการตามกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืน เซ็นทรัลพัฒนาได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนระดับโลก DJSI ในกลุ่ม DJSI World ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 และในกลุ่ม DJSI Emerging Markets ต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 และได้รับคะแนนสูงสุดอันดับ 1 ระดับโลก ตามการจัดอันดับความยั่งยืนของ S&P Global ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์

กทม.จับมือ LINE MAN Wongnai ออกแคมเปญ ‘ร้านนี้ ไม่เทรวม’ ชวนร้านแยกขยะก่อนทิ้ง ชูต้นแบบการกำจัดขยะอย่างยั่งยืน

Scroll to Top